แถลงข่าวหลังฟังคำพิพากษาของคดี Abbott ที่ฟ้องเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

แถลงข่าวหลังฟังคำพิพากษาของคดี Abbott ที่ฟ้องเมื่อ 9 ปีที่แล้ว 25 สิงหาคม 2551

โพสต์โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บน 12 ตุลาคม 2017

โพสต์โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บน 12 ตุลาคม 2017


แถลงข่าวหลังฟังคำพิพากษาของคดี Abbott ที่ฟ้องเมื่อ 9 ปีที่แล้ว (25 สิงหาคม 2551)

กรณีบริษัทยาข้ามชาติต่อต้านนโยบายรัฐในการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิ (ซีแอล) เพื่อรักษาชีวิตผู้ติดเชื้อ HIV

 

ความเป็นมาของคดี (ที่มา: Facebook สารี อ๋องสมหวัง)

วันที่ 26 สิงหาคม 2551 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย ยื่นฟ้อง กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของกรมการค้าภายในที่วินิจฉัยว่าบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (ประเทศไทย) ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และสั่งให้กรมการค้าภายในมีคำสั่งให้บริษัท แอ๊บบอตฯ มาขึ้นทะเบียนยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 9 รายการ และลงโทษปรับ บริษัท แอ๊บบอตฯ ในอัตราสูงสุดที่กระทำละเมิด พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2550 กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือ ซีแอล กับยา จำนวน 3 รายการ โดยมียาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ของบริษัท แอ๊บบอตฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากมีการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุข บริษัท แอ๊บบอตฯ ผู้ขึ้นทะเบียนยาต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในยาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ ในรูปแบบชนิดใหม่เม็ดแข็งที่ทนความร้อนได้ ได้ตอบโต้มาตรการใช้สิทธิต่อรัฐบาล โดยมีเป้าหมายให้รัฐยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนตำหรับยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 10 รายการ รวมทั้งยาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์รูปแบบใหม่ โดยบริษัท แอ๊บบอตฯ อ้างว่า บริษัทแม่ในต่างประเทศได้ทบทวนเห็นสมควรยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนตำหรับยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมด ซึ่งบริษัท แอ๊บบอตฯ ถือเป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ มีอำนาจเหนือตลาด เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั่วโลก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ต้องการยาเป็นจำนวนมาก

ทำให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย ในฐานะองค์กรทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อขอให้ดำเนินการสั่งการตามมาตรา 31 พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2522 ให้บริษัท แอ๊บบอตฯ มาขึ้นทะเบียนยาจำนวน 10 รายการ เนื่องจากเห็นว่าการเพิกถอนคำขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เป็นการใช้อำนาจบริษัทแม่จากต่างประเทศ ถือว่าเป็นการผูกขาดตลอด มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน ต่อมา คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาถึงผู้ร้องเรียนว่า บริษัท แอ๊บบอตฯ ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนตามมาตรา 25 (3) ประกอบมาตรา 3 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2522 ผู้ร้องเรียนจึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2551 แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่มีการแจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งจนเกินระยะเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงเป็นเหตุให้ต้องฟ้องคดีนี้

ต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของบริษัท แอ๊บบอตฯ ที่ยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนยา 7 รายการ ซึ่ง 1 ใน 7 เป็นยาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 3 รายการ รวมเป็น 10 รายการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 25 (3) และ 28 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2522 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าวินิจฉัยว่า บริษัท แอ๊บบอตฯ ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25 (3) และ 28 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2522 จึงเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2560 เวลา 14.00 น.

(สรุปโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)