เภสัชฯ ซัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างห่วย ทำจัดซื้อยาวุ่นทั้งประเทศ คลังยา รพ.ป่วน มียาไม่พอให้ผู้ป่วยใช้

 

ซัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไร้ความชัดเจน-ระบบไม่รองรับ ต้นเหตุจัดซื้อยาทั้งระบบวุ่น เภสัชฯ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ เสนอ ปลดล็อกกฎหมาย ชงนายกฯ ใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหา ด้านกรุ๊ปไลน์เภสัชกร รพ.รัฐ เผยมีปัญหาจัดซื้อยา รพ.ป่วนมียาไม่พอให้ผู้ป่วยใช้

ภก.รังสรรค์ ศิริชัย โรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจัดซื้อยาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้เป็นเพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากแต่เกิดจากการเปลี่ยนกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด และถูกซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนระบบจัดซื้อยาจาก สปสช.ไปสู่ รพ.ราชวิถี

“เท่ากับว่าทั้งกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ และการเปลี่ยนระบบจัดซื้อยาที่ สปสช.ดำเนินการมา ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ไปอีก ถึงแม้ว่าจะเป็น สปสช.จัดซื้อเองต่อไป ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อใหม่หมดอยู่ดี คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับใหม่ ระบุว่า ใครก็ตามต้องดำเนินการจัดซื้อผ่านระบบของกรมบัญชีกลางทั้งสิ้น คำถามก็คือแล้วหน่วยงานจะทำอย่างไรกันต่อ เพราะหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน” ภก.รังสรรค์ กล่าว

ภก.รังสรรค์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลราชวิถีซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดซื้อยาจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายฉบับใหม่ได้หรือไม่ และส่วนตัวมีโอกาสได้ประชุมร่วมกับกรมบัญชีกลางซึ่งทำให้พบว่ามีหลายคำถามที่กรมบัญชีกลางเองก็ยังไม่สามารถตอบได้

“ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าโรงพยาบาลราชวิถีจะจัดซื้ออย่างไร เขาจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร คือกฎหมายเพิ่งเปลี่ยนมา และระบบก็ยังไม่มีการทดลอง ลำพังเขาจัดซื้อยาของตัวเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดซื้อยารวม” ภก.รังสรรค์ กล่าว

ภก.รังสรรค์ กล่าวต่อไปโดยยกตัวอย่างว่า ในส่วนของโรงพยาบาลอำนาจเจริญขณะนี้ หากต้องการจัดซื้อยา 1 รายการ ราคาไม่เกิน 1 แสนบาท ต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามระบบไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง และในบางวันระบบเสีย โดยช่วงเวลาที่ทำงานได้ดีที่สุดประมาณ 02.00-05.00 น. เมื่อถึง 06.00 น.ที่คนเริ่มตื่นขึ้นมาใช้ระบบ ระบบก็จะติดขัด
นอกจากนี้ กระบวนการจัดซื้อด้วยระบบอีบิทดิ้งสำหรับวงเงินเกิน 5 แสนบาทนั้น จะใช้ระยะเวลาจัดซื้อ 65 วันทำการ หรือประมาณ 3 เดือน นั่นหมายความว่าหากจัดซื้อยาในวันนี้ กว่าจะได้ยาก็ปีใหม่พอดี

ฉะนั้นส่วนตัวมีข้อเสนอว่าให้ รมว.สาธารณสุข (สธ.) นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยด่วนเพื่อปลดล็อคใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ชี้ชัดว่าใครดำเนินการ ด้วยระบบ ด้วยข้อมูลของใคร 2.ให้ยกเว้น และขอผ่อนผันระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หรือใช้อำนาจพิเศษเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งยาภายในเดือน พ.ย.นี้

ภก.รังสรรค์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากสำนักงานปลัด สธ. ปี 2560 พบว่าจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ามาใช้บริการอยู่ที่ 286 ล้านครั้งต่อปี ส่วนผู้ป่วยในอยู่ที่ 26.4 ล้านครั้งต่อปี โดยแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มูลค่าการจัดซื้อยารวมอยู่ที่ 6,516 ล้านบาท

ภก.รังสรรค์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นผู้จัดซื้อ แต่ในฐานะหน่วยบริการสนใจเพียงแค่จะมียาเพียงพอให้บริการผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบการจัดซื้อ ภายหลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อทักท้วง ทางโรงพยาบาลได้เตรียมแผนรองรับด้วยการเตรียมเงินสำรองของโรงพยาบาลไว้ 10% เพื่อจัดซื้อยาเอง รวมทั้งจัดเตรียมฐานข้อมูลเรื่องยาที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้พร้อมหากมีหน่วยงานใดเรียกข้อมูล

“ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่โรงพยาบาลมีเงินแล้วจะซื้อยาได้ทันที เพราะบริษัทยาจะดูทั้งเรื่องสถานะทางการเงิน เครดิต ประกอบด้วย ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ.มีการจ่ายเงินที่ไม่ดี เครดิตไม่ดี หากเราต้องการซื้อก็คงต้องไปรอคิว นอกจากนี้การแยกการจัดซื้อเป็นรายโรงพยาบาลจะทำให้ได้ราคาแพงขึ้น 2-3 เท่า เพราะเราไม่มีอำนาจใดๆ ต่อรอง” ภก.รังสรรค์ กล่าว

มีรายงานว่า เภสัชกร รพ.รัฐหลายแห่งแสดงความกังวลในกรุ๊ปไลน์เรื่องกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่มีผลกระทบการจัดซื้อยา โดยระบุว่า ขณะนี้ รพ.ต่างจังหวัดมีปัญหาจัดซื้อยา เพราะระบบโปรแกรมยังไม่รองรับ ซื้อยาได้วันละตัว และต้องใช้เภสัชกรประจำ 1 คน หากคีย์ข้อมูลผิด ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ซึ่งการคีย์ข้อมูลยาตามกฎหมายจัดซื้อฉบับใหม่นั้น เป็นปัญหาที่เภสัชกร รพ.รัฐกังวลกันมาก โดยระบุว่า ในส่วนของ รพ.ขนาด 250 เตียง จากเดิมที่เคยทำมาแล้ว 1 ปี สามารถคีย์ข้อมูลยาได้วันละ 20 รายการ ตอนนี้ต้องจ้างคนคีย์ข้อมูลยา 3 คน ให้สามารถคีย์ได้ 60 รายการ เพื่อให้ รพ.มียาพอใช้สำหรับผู้ป่วย แต่ก็ยังประสบปัญหาระบบของกรมบัญชีกลางล่มบ่อยมาก ซึ่งกระทบการคีย์ข้อมูลซื้อยาได้ไม่ทันต่อความต้องการใช้ยาของ รพ.มีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยขาดยาได้ ที่สำคัญการให้เภสัชกรต้องมาทำหน้าที่คีย์ข้อมูลยา ซึ่งไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องยา แทนที่เภสัชกรจะได้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย แต่กลับต้องแบ่งคนมาทำจัดซื้อจัดจ้างแทน เป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลที่ไม่คุ้มค่า และเสียงบประมาณจ้างคนซื้อคอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็น

ทั้งยัง ระบุว่าสถานการณ์คลังยาของ รพ.ในขณะนี้เหมือนอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม กล่าวคือ มียาอยู่ที่โรงงาน รพ.มีเงินซื้อยา แต่ยังไม่สามารถซื้อได้ หากยาขาดต้องใช้วิธีสั่งซื้อ 5 พันบาท ซึ่งก็จะโดนข้อหาแบ่งซื้อแบ่งจ้างอีก ในส่วนของ รพ.ชุมชนต้องลดยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยให้ผู้ป่วยมารับยาเร็วขึ้น และ รพ.ชุมชนต้องใช้วิธีการยืมยาจาก รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไปแทน