การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย เพื่อเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556)

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

 

การประชุมเพื่อเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) เป็นความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และองค์กรวิชาชีพต่างๆ ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการจัดประชุมเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100ปี (พ.ศ. 2556) : บทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมไทยและการศึกษาเภสัชศาสตร์ในศตวรรษหน้า ซึ่งได้มีการเตรียมการมาเป็นระยะๆ และมีแผนที่จะจัดการประชุมเตรียมการสมัชชาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อประมวลสถานการณ์ บทบาท กำลังคน แผนยุทธศาสตร์ ของสาขาต่างๆ ในวิชาชีพเภสัชกรรม ตลอดจนการกำหนดทิศทางของวิชาชีพเภสัชกรรมในอนาคต การประชุมนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี เนื่องจากจากถือว่าเป็นวันถือกำเนิดของวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย และจะมีการจัดงานครบรอบ 100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรม ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2556

 

การประชุมในแต่ละปี ระหว่างปี พ.ศ.2551 – 2555 มีสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับสภาเภสัชกรรมในการจัดประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย เพื่อเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) ดังนี้
(1)     พ.ศ.2551 การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 95 ปี สาขาเภสัชศาสตร์การศึกษาเป็นเจ้าภาพร่วม ในชื่องาน “เภสัชกรรมไทย 95 ปี มุ่งสู่ศตวรรษใหม่”
(2)     พ.ศ.2552 การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 96 ปี สาขาเภสัชอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพร่วม ในชื่องาน “บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม”
(3)     พ.ศ.2553 การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 97 ปี สาขาเภสัชกรรมชุมชนเป็นเจ้าภาพร่วม ในชื่องาน “ความรับผิดชอบของเภสัชกรไทยในการปฏิบัติงานในร้านยา”
(4)     พ.ศ.2554 การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 98 ปี สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพร่วม งดการจัดประชุมเนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่
(5)     พ.ศ.2555 การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 99 ปี สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลเป็นเจ้าภาพร่วม
ส่วนสาขาเภสัชกรการตลาดจะร่วมจัดงานในปีใดนั้น จะแจ้งให้ทราบต่อไป (รวมถึงสาขาการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะจัดประชุมด้วย)

 

สามารถดาวน์โหลดเอกสารการประชุมได้ที่
1. การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 95 ปี
2. การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 96 ปี เอกสารมี 3 ชิ้น คือ
(1) เอกสารในวันงานประชุม
(2) รายงานสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี “บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม”
RxSamatcha096_Report1 หรือ
http://www.slideshare.net/rparun/rx-samatcha096-report1
(3) รายงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การพัฒนาการผลิตยาภายในประเทศ” ในสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย
3. การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 97 ปี
 4. การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 99 ปี (รอบ 98 ปี งดการจัดประชุม)
5. การประชุมสมัชชาเภสัชกรรม 100 ปี
(รอไฟล์)

(ข่าว)-หมอเตือนถึงตายฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีเสริมจมูกเสี่ยงตาบอดเหยื่อมือฉีดสารโผล่อีก

หมอเตือนถึงตายฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีเสริมจมูกเสี่ยงตาบอดเหยื่อมือฉีดสารโผล่อีก
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 3, 13

สมาคมแพทย์ผิวหนังเตือนฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีถึงตาย ชี้ 2 ปีที่ผ่านมารักษามากขึ้น เผยฉีดเสริมจมูก เสี่ยงตาบอด ขณะนี้ ผู้รักความงามส่วนใหญ่แห่ฉีด “สารโพลิอะคริลามีด” ราคาถูกเสริมหน้าอก ถึงเสียชีวิต เหตุเป็นสารต้องห้าม ด้านเหยื่อมือถือฉีดสารโผล่แจ้งความอีก 3

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พล.ต.นพ.กฤษฏา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสมาชิกแพทย์ผิวหนังว่าปัจจุบัน มีประชาชนที่ไปรับบริการฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ แล้วเกิดอาการแทรกซ้อนมาขอรับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีทั้งอาการแทรกซ้อนที่ไม่ร้ายแรง เช่น เขียวช้ำ เป็นจ้ำเลือด บวม ใบหน้าไม่เท่ากัน เกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดง เกิดก้อนที่ผิวหนัง ถึงขั้นเกิดอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ผิวหนัง ตาย จมูกเน่า ตาบอด และเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าอาการแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่แพทย์มักเจอบ่อยครั้ง คือ จมูกเน่า ประมาณ 10-20 ราย ส่วนตาบอด ประมาณ 5-10 ราย

 

นพ.กฤษฏา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความสนใจหรือต้องการไปฉีดสารเติมเต็มเพื่อเสริมความงามควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีดก่อนตัดสินใจทำ เพราะถึงแม้ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นพบได้ไม่บ่อยนักแต่หากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอันตราย จึงต้องพิจารณาสถานที่ที่ไปฉีด ชนิดของสารที่ฉีดเข้าร่างกาย และความน่าเชื่อถือของแพทย์ผู้ทำการฉีด เพราะถ้าสารที่ฉีดได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีเครื่องมืออุปกรณ์การฉีดที่ได้มาตรฐาน แต่หากผู้ที่ทำการฉีดไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน ขนาดเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและฉีดถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าไปฉีดให้ผู้ที่เคยเสริมจมูกมาแล้วก็อาจเกิดผลข้างเคียงและเป็นอันตราย เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคของจมูกผิดแปลกไปจากเดิม

 

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ประเภทของฟิลเลอร์แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1.แบบชั่วคราว สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง แต่อายุการใช้งานสั้น 4-6 เดือน ราคาค่อนข้างแพง

2.แบบกึ่งถาวร มีความปลอดภัยปานกลาง อายุการใช้งานประมาณ 2 ปีและ

3.แบบถาวร ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ ส่วนมากเป็นซิลิโคน หรือพาราฟิน ซึ่งฟิลเลอร์ชนิดนี้มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวซึ่ง อย.ประเทศไทยรับรองเฉพาะฟิลเลอร์แบบชั่วคราวเท่านั้น ได้แก่ Juvederm Restylane Revenese และ ESthelis

 

นพ.จินดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันฟิลเลอร์ถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะการรักษาปัญหาด้านผิวพรรณ เช่น การแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย บริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม การแก้ปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋มจากการอักเสบและการฉีดเพื่อเสริมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนขึ้น เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ฉีดริมฝีปาก หรือฉีดเสริมรูปทรงของใบหน้าให้ดูอวบอิ่ม อย่างไรก็ตามแม้จะมีการใช้ฟิลเลอร์รักษาผิวพรรณอย่างแพร่หลาย แต่การเลือกใช้มีข้อจำกัดในแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเลือกชนิดและขนาดโมเลกุลของฟิลเลอร์ให้เหมาะกับสภาพผิวหนังและตำแหน่งในการฉีด

 

 

(ข่าว)-อย.ปฏิบัติการเชือดสินค้ายี่ห้อดังลักไก่โฆษณา-หมกเม็ดบัญชียา

ข่าวนี้ อย.จับปรับทั่วหน้า ทั้งเครื่องสำอาง ยา ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

คอลัมน์ ข่าวเจาะ: อย.ปฏิบัติการเชือดสินค้ายี่ห้อดังลักไก่โฆษณา-หมกเม็ดบัญชียา
สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 1, 12
_____



อย.ปฏิบัติการกวาดล้างเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ที่ลักลอบ โฆษณาผ่านทีวีดาวเทียม นิตยสาร และแผ่นพับ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงคิวแบรนด์ เนมยักษ์ใหญ่ถูกเชือดไม่ว่าจะเป็น เนเจอร์กิฟ ยันฮี วัตสัน มิสทิน แม้กระทั่ง “ไทยนครพัฒนา” ที่มีออฟฟิสอยู่ใกล้แค่ปลายจมูกอย.ก็ไม่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึง “เภสัชจุฬา-หมอนพพร”ก็โดนหางเลขด้วย เตือนดังๆ ถึงผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้ เครื่องสำอาง 34 รายการอันตราย !

การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ในลักษณะความผิดฐานโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอย.ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องทั้งทางทีวีดาวเทียม นิตรสาร และแผ่นพับ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพบการโฆษณาหลายรายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเจอร์กิฟ 711 ซึ่งเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มมอลต์สกัดรสช็อกโกแลต ปรุงสำเร็จชนิดผง ผสมแอล-คาร์นิทีนและวิตามินบี 12 (ตราเนเจอร์กิฟมอลต์วีต้า) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากอย.

เช่นเดียวกับแบนด์เนมชื่อดังอีกหลายรายก็มีการโฆษณาสินค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เมดโดซิน จำกัด ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชื่อดังแบรนด์”ยันฮี” ได้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยันฮี แอล คาร์นิทีน,เวจจี้ ไฟเบอร์ ไดเอ็ท และผลิตภัณฑ์กลูทาแคป

บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้กับอย. แต่ก็ไม่ได้ยื่นขออนุญาตโฆษณาให้ถูกต้องเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการโฆษณาขายยาทางแผ่นพับ ใบปลิวพิเศษ Friday รอบจำหน่ายที่ 8/2012 แสดงข้อความ เช่น “มหกรรมสินค้าราคาถูก…ปวดหัว เป็นไข้เลือกซาร่า..”ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากอย.

บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ปรเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชื่อดัง “มิสทีน” ทางเจ้าที่ของอย.ก็ได้ตรวจพบการโฆษณาขายยาทางแผ่นพับ แสดงข้อความ เช่น “มหกรรมสินค้าราคาถูก…ปวดหัว เป็นไข้เลือกซาร่า..”ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจาก อย.

มาที่บริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด อาคารสิรินรัตน์ ชั้น 8 ถนนพระราม 4 เจ้าหน้าที่อย.ได้ตรวจพบการโฆษณาขายยาทางแผ่นพับวางบนเคาน์เตอร์ในห้าง Watsons มีข้อความเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด แสดงข้อความ เช่น “Watsons you personal store สวยครบ…การจะสยบสิวได้เราต้องปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในภาวะสมดุล ด้วยการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย เพื่อสยบปัญหาสิวให้อยู่หมัด…” เป็นต้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาขายยาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาคุมกำเนิด โฆษณาสรรพคุณยาอันตราย และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอย.ด้วย

นอกจากนี้ อย.ยังพบผู้กระทำความผิดไม่จัดทำบัญชีรับจ่ายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทให้ถูกต้อง ประกอบด้วย ร้านเภสัชจุฬา ซอยวัดไผ่เงิน ถนนจันทน์ โดยคลินิกดังกล่าวไม่ได้จัดทำบัญชีรับจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯ รายงานประจำเดือนและรายงานประจำปี ของวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4 เสนอต่อเลขาธิการ อย.

ส่วน “หมอนพพร” ซอยลาดปลาเค้า พบความผิดฐานไม่ใช้ฉลากและเอกสารกำกับยาตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และไม่จัดทำบัญชียาที่ผลิตและขายตามที่กำหนดในกฏกระทรวง โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสถานที่ผลิตยาแผนโบราณ ขณะตรวจผู้รับอนุญาตแจ้งว่าเป็น ผู้ผลิตยาตราเกศเพชร เลขทะเบียน G 245/45 LOT 01 MFG 15/05/11 EXP 15/05/14 และยาแคปซูลสตรีเหอซาน เลขทะเบียน G 424/46 LOT 01 MFG 15/02/11 EXP 15/02/14 แสดงข้อความขนาดรับประทานและปริมาณสมุนไพรในสูตรส่วนประกอบไม่ตรงตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และไม่จัดทำบัญชีการผลิตยาและขายยาที่ผลิตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

และจากกรณีข่าวสาวขอนแก่น หวิดเสียโฉม เพราะใช้เครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง เกิดอาการแสบคัน และมีผื่นขึ้นเต็มหน้า ทางอย. ได้ประสานกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นพบว่า เป็นเครื่องสำอางยี่ห้อ “3 ทรีเดย์ ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน โลชั่นป้องกันแสงแดด” ซึ่งมีส่วนผสมของสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ได้แก่ สารไฮโดรควิโนน ซึ่งก่อให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ทำให้ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย

โดยนพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า เครื่องสำอางดังกล่าวเป็น 1 ในเครื่องสำอาง 34 รายการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย ได้แก่

(1) BEANNE บีแอน ครีมไข่มุกตราแตร
(2) แอนตี้-ฟาร์ ครีม
(3) แอนตี้-ฟาร์ โลชั่นกันฝ้า ปรับผิว
(4) ROSE ครีมขจัดฝ้า
(5) FAR-ACT ครีมรักษาฝ้า
(6) CN คลินิก 99
(7) ครีมฝ้าเมลาแคร์
(8) โลชั่นกันแดด กันฝ้า เมลาแคร์
(9) ครีมวินเซิร์ฟ
(10) โลชั่นวินเซิร์ฟ ลดฝ้ากันแดด
(11) MUI LEE HIANG PEARL CREAM (12) เอสจี โลชั่นปรับสภาพผิว
(13) เลนาว ครีมบำรุงผิวหน้ากลางคืน
(14) NEW CARE นิวแคร์ ครีมประทินผิว
(15) NEW CARE นิวแคร์ โลชั่นปรับสภาพผิว
(16) 3 ทรีเดย์ ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน ครีมลดริ้วรอยหมองคล้ำ
(17) 3 ทรีเดย์ ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน โลชั่นป้องกันแสงแดด
(18) 3 ทรีเดย์ เนเชอรัล ครีมทาสิว
(19) 3 ทรีเดย์ เนเชอรัล โลชั่นป้องกันแสงแดด
(20) พรีม ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน ครีมลดริ้วรอย
(21) พรีม ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน โลชั่นป้องกันแสงแดด
(22) มิสเดย์ ครีมแก้สิว
(23) มิสเดย์ ครีมแก้ฝ้า
(24) พอลล่า ครีมทาสิว
(25) พอลล่า ครีมทาฝ้า
(26) พอลล่า โลชั่นกันแดดรักษาฝ้า
(27) ครีมชาเขียว DR. JAPAN
(28) ครีมชาเขียว MISS JAPAN
(29) ชิชาเดะ ครีมหน้าขาว โสมผสมไข่มุกญี่ปุ่น
(30) ครีมบัวหิมะ หลิง หลิง
(31)ครีม QIAN MEI
(32) ครีม QIAN LI
(33) ครีม CAI NI YA
(34) ครีม JIAO LING

นับเป็นภัยใกล้ตัวที่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารเสริม อย่างระมัดระวัง เพราะหวังจะพึ่ง อย.ลงโทษให้เด็ดขาด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำผิดกฎหมายข้างต้น ถูกเปรียบเทียบปรับแค่หลักพันหลักหมื่นเท่านั้น

(ข่าว)-ทาโลชั่นจุดซ่อนเร้นหมอชี้ตั้งครรภ์ยากสื่อนอกอัดหญิงไทยเชื่อผิวขาวชีวิตดีขึ้น

ทาโลชั่นจุดซ่อนเร้นหมอชี้ตั้งครรภ์ยากสื่อนอกอัดหญิงไทยเชื่อผิวขาวชีวิตดีขึ้น
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 3, 13


แพทย์เตือนหญิงไทย ทาโลชั่นพื้นที่ซ่อนเร้นส่งผลต่อการตั้งครรภ์ยากขึ้น แนะ ควรใส่ใจเรื่องความดีความสามารถมากกว่า ขณะที่สื่อนอกตีคนไทยคลั่งไคล้ผิวกายสีขาวทำชีวิตประสบความสำเร็จ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียนรายงานเกี่ยวกับกระแสคลั่งไคล้อยากมีผิวขาวใสของผู้หญิงไทย ได้ลามไปถึงจุดซ้อนเร้น หลังมีผลิตภัณฑ์ใหม่โอ่สรรพคุณว่าช่วยให้พื้นที่ซ้อนเร้นของผู้หญิงขาวขึ้นในเวลาไม่นาน นักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นตัวอย่างสุดขั้ว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้เปลี่ยนนิยามและค่านิยมความงามในสังคมไทย จนมีการตั้งคำถามว่า เมื่ไหร่ที่การคลั่งผิวขาวจะยุติลงเสียที

การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ยังกำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันเรื่องสีผิวในประเทศ ซึ่งผิวขาวใสถูกนำมาเชื่อมโยงกับสถานภาพ โอกาส และความสำเร็จในชีวิต

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การมีผิวกระจ่างใสเท่ากับการอยู่ในชนชั้นสูงขึ้นไปอีกระดับ เนื่องจากเป็นสิ่งบ่งบอกว่าเจ้าของผิวพรรณเช่นนั้น ไม่ได้ตรอกตรำกลางแดดในทุ่งนา ภาษาไทยมีการเปรียบเทียบเชิงเหยียดๆ คนผิวคล้ำ อาทิ ดำเหมือนอีกา ขณะทุกวันนี้ชาวนาปลูกข้าว สวมเสื้อแขนยาว กางเกงแขนยาว หมวกปีกกว้างและถุงมือ

นิตยสารผู้หญิงในไทยใช้ดาราเกาหลี ญี่ปุ่น และชาวเอเชียผิวขาวใสโฆษณาผลิตภัณฑ์อวดอ้างความขาวกระจ่าง เช่นเดียวกับสื่อโฆษณาเกือบทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็ใช้รูปแบบเดียวกัน และคาดว่า ธุรกิจสินค้าเพิ่มนความขาวใสในภูมิภาคจะทะลุหลัก 2,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ โดยตลาดที่มีการเติบโตเร็วที่สุดคือ จีน กับอินเดีย

แต่กระแสคลั่งความขาวมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากสินค้าหลายชนิดมีส่วนผสมของไฮโดนควินิน และปรอท ที่อาจทำให้ผิวกระดำกระด่างถาวร หรือทำลายไต ผลิตภัณฑ์บางชนิดยังผิดกฎหมาย

กระนั้นในแวดวงโฆษณามองว่า กระแสคลั่งไคล้ผิวกระจ่างใสน่าจะดำเนินต่อไป และตลาดผู้ชายยังโตได้อีก ก่อนแสดงความเห็นว่า อนาคตของน้ำยาเพื่อจุดซ้อนเร้นที่กระจ่างใสอาจจะแตกย่อยออกมาอีกเป็นสูตรต่อต้านริ้วรอย เพื่อให้จุดซ่อนเร้นของคุณคงความอ่อนเยาว์ก็เป็นได้

ด้าน นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาวไทยนิยมการมีผิวขาวกระจ่างใสตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชาย หรือเพื่อให้เกิดการยอมรับสถานภาพทางสังคม ถือเป็นความเห่อหรือความนิยมตามกาลสมัย นอกจากนี้ภาพยนตร์ หรือซีรีส์เกาหลีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสนิยมผิวขาวใสด้วย

“เราควรเน้นในเรื่องของการเป็นคนดีในสังคมมากกว่าเรื่องสีผิว เพราะสมัยนี้คนที่ตัวเล็กๆ ผิวดำหรือคล้ำก็สามารถโด่งดัง  มีที่ยืนในสังคมได้ เพราะเขามีจุดขายคือความสามารถ” นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทาโลชั่นพวกนี้ภายนอกช่องคลอดจะให้ผลเหมือนทาโลชั่นบริเวณผิวหนังส่วนอื่นทั่วไปและอาจเกิดผื่นคันได้สำหรับคนที่แพ้ แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ การทาเข้าไปภายในช่องคลอด หากโลชั่นดังกล่าวมีสารหรือส่วนผสมที่ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเปลี่ยนไป จะทำให้อสุจไม่สามารถเดินทางไปถึงมดลูกได้โดยสะดวกส่งผลให้โอกาสการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ยาก

กรณีศึกษา น้ำยาล้างห้องน้ำวิกซอลเรด

โฆษณาของบริษัท ไอ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด เป็นโฆษณาที่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง ตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งถือ ว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีคำสั่ง ห้ามการโฆษณาดังกล่าวของบริษัทครั้งต่อไปในทุกสื่อโฆษณ

โฆษณาน้ำยาล้างห้องน้ำคลุมเครือ-ไม่ชัดเจน!! (ตอน1)
นิโรธ เจริญประกอบ. คอลัมน์ สิทธิผู้บริโภค สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 19-21 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 27

โฆษณาน้ำยาล้างห้องน้ำ คลุมเครือ-ไม่ชัดเจน! (ตอนจบ)
นิโรธ เจริญประกอบ. คอลัมน์ สิทธิผู้บริโภค: สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 22-25 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 27

 

ดูตัวอย่างโฆษณาที่มีปัญหานี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=qmccbKZ9wY0

กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์โควเมม

ข้อมูลประกอบสำหรับผู้ที่ท่องว่า bupropion ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ (ชื่อการค้า Quomem ในประเทศไทย)

ยาเวลบูทริน (Wellbutrin) เป็นชื่อการค้าในสหรัฐอเมริกา ชื่อสามัญคือ bupropion hydrochloride เข้ามาในไทยมี 2 ชื่อการค้า คือ Quomem และ Wellbutrin XL (150, 300 mg) แต่ข้อบ่งใช้ในชื่อการค้าของ Wellbutrin ไม่ได้รับรองในการเลิกบุหรี่ ทำให้มีข้อสังเกตได้ว่ายาชื่อสามัญเดียวกัน บริษัทเดียวกัน เอกสารกำกับยาในประเทศไทยสำหรับเลิกบุหรี่เท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกาไม่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ แต่ใช้สำหรับอาการซึมเศร้า

ดูเอกสารกำกับยาของสหรัฐอเมริกาได้ที่ http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/lookup.cfm?setid=9bfe1903-3313-44b7-a27c-fc0775426f94

ยาชื่อสามัญเดียวกัน บริษัท GSK เดียวกัน เอกสารกำกับยาในประเทศไทยสำหรับเลิกบุหรี่เท่านั้น สหรัฐอเมริกาไม่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ แต่ใช้สำหรับอาการซึมเศร้า แล้วใครเป็นผู้ใช้นอกเหนือสรรพคุณยาที่ได้รับอนุญาต???

ถ้าใช้ Bupropion hydrochloride (ชื่อการค้า Quomem) ในการรักษาอาการซึมเศร้าในประเทศไทย จะเป็นการใช้ยานอกเหนือสรรพคุณยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย หากมีการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพว่าใช้รักษาอาการซึมเศร้าก็จะเป็นการโฆษณาอันเป็นเท็จในทันที (เพราะเข้าตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 88(2))

แต่ถ้าใช้ Bupropion hydrochloride (เฉพาะชื่อการค้า Wellbutrin XL) ในการเลิกสูบบุหรี่ จะเป็นการใช้ยานอกเหนือสรรพคุณยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในทันที แม้ว่าชื่อการค้าอื่นจะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการเลิกบุหรี่ได้ก็ตาม

ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2555

กรณีศึกษา ยากาโน่ ป๊อก

โฆษณาดังต่อไปนี้เข้าข่ายโฆษณาขายยาอันตราย ใครที่อยู่ร้านขายยาแล้วมีคนมาถามหายายาปฏิชีวนะยี่ห้อนี้ (เตตร้าไซคลิน ไฮโดคลอไรด์ 500 มิลลิกรัม) สำหรับแก้ปวดท้องน้อย ปวดมดลูก ขอให้ทราบไว้เลยว่าเป็นผลมาจากการโฆษณาทางวิทยุ ซึ่งต้องมีการให้ความรู้อีกมาก นอกจากนี้ยังมีโฆษณาผลิตภัณฑ์ยากินแก้ปวด (ไพร็อกซิแคม: piroxicam) อีกด้วย โฆษณามีทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า (นอกจากนี้ยังมีการลดแลกแจกแถมชิงรางวัลเป็นระยะตามรายการวิทยุ)

การเข้าไปฟัง (ลอกให้หมดแล้วไปแปะในช่องที่ใส่ชื่อเว็บไซต์)

http://radio3.thaidhost.com:81/flora/3. สปอตวิทยุ บจก.เวชภัณฑ์ยากาโน่ ป๊อก ซอฟร์ตี้ (โหลดที่นี่)/

http://radio3.thaidhost.com:81/flora/

การโฆษณาขายยาแสดงสรรพคุณยาอันตรายโดยตรงต่อประชาชน (ไม่ได้กระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์) เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 88(6) ต้องระวางโทษตามมาตรา 124 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

หากมีการโฆษณาขายยาโดยการแจกของแถมหรือออกสลากรางวัล เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 ต้องระวางโทษตามมาตรา 124 เช่นกัน

ปล. เอกสารนี้จัดเป็นข้อมูลทางวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแต่อย่างใด

กรณีศึกษา เครื่องสำอางเบรสเซ้นส์ พิงค์

โฆษณาเครื่องสำอาง ห้ามแสดงว่าทำให้หัวนมเป็นนมสีชมพู

ที่มา: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/ผลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคและพระราชบัญญัติเครื่องสำอางฉบับที่_122_ประจำปี_2555.pdf (กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 11 กันยายน 2555)

กรณีศึกษา เครื่องดื่มเปปทีน

โฆษณาเครื่องดื่มเปปทีน ซึ่งโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ต้องระวางโทษตามมาตรา 71 คือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ในกรณีนี้ปรับ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบามถ้วน) ซึ่งเกินอัตราที่กำหนดโดยไม่แจ้งเหตุผลให้ชัดเจน ทำให้สามารถพิจารณาได้ดังนี

1. มีการโฆษณาหลายครั้งในหนึ่งเดือน ตรวจพบว่าทำผิดครั้งหนึ่งก็ปรับทบจำนวนเงินมาเรื่อย ๆ

2. ผู้โฆษณาอาจมีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ต้องระวางโทษตามมาตรา 70 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นว่าสามารถปรับได้ถึง 10,000 ได้ แต่ในเรื่องการบังคับคดีเหตุใดจึงไม่กล่าวถึงว่ามีการฝ่าฝืนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าโฆษณาในโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นโฆษณาแบบเดียวกับโฆษณาทางฟรีทีวีหรือไม่ เนื่องจากไม่มีแหล่งที่สามารถตรวจสอบได้ และจะทราบได้อย่างไรว่าเลขที่โฆษณาที่แสดงนั้นเป็นเลขที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ไม่มีข้อความอื่นสอดแทรกเพิ่มเข้ามา

ที่มาของภาพ: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/ผลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหารฉบับที่_111__ปีงบประมาณ_2555.pdf (กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 5 กันยายน 2555)