(ข่าว)-หมอเตือนถึงตายฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีเสริมจมูกเสี่ยงตาบอดเหยื่อมือฉีดสารโผล่อีก

หมอเตือนถึงตายฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีเสริมจมูกเสี่ยงตาบอดเหยื่อมือฉีดสารโผล่อีก
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 3, 13

สมาคมแพทย์ผิวหนังเตือนฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธีถึงตาย ชี้ 2 ปีที่ผ่านมารักษามากขึ้น เผยฉีดเสริมจมูก เสี่ยงตาบอด ขณะนี้ ผู้รักความงามส่วนใหญ่แห่ฉีด “สารโพลิอะคริลามีด” ราคาถูกเสริมหน้าอก ถึงเสียชีวิต เหตุเป็นสารต้องห้าม ด้านเหยื่อมือถือฉีดสารโผล่แจ้งความอีก 3

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พล.ต.นพ.กฤษฏา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสมาชิกแพทย์ผิวหนังว่าปัจจุบัน มีประชาชนที่ไปรับบริการฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ แล้วเกิดอาการแทรกซ้อนมาขอรับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีทั้งอาการแทรกซ้อนที่ไม่ร้ายแรง เช่น เขียวช้ำ เป็นจ้ำเลือด บวม ใบหน้าไม่เท่ากัน เกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดง เกิดก้อนที่ผิวหนัง ถึงขั้นเกิดอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ผิวหนัง ตาย จมูกเน่า ตาบอด และเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าอาการแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่แพทย์มักเจอบ่อยครั้ง คือ จมูกเน่า ประมาณ 10-20 ราย ส่วนตาบอด ประมาณ 5-10 ราย

 

นพ.กฤษฏา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความสนใจหรือต้องการไปฉีดสารเติมเต็มเพื่อเสริมความงามควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีดก่อนตัดสินใจทำ เพราะถึงแม้ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นพบได้ไม่บ่อยนักแต่หากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอันตราย จึงต้องพิจารณาสถานที่ที่ไปฉีด ชนิดของสารที่ฉีดเข้าร่างกาย และความน่าเชื่อถือของแพทย์ผู้ทำการฉีด เพราะถ้าสารที่ฉีดได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีเครื่องมืออุปกรณ์การฉีดที่ได้มาตรฐาน แต่หากผู้ที่ทำการฉีดไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน ขนาดเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและฉีดถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าไปฉีดให้ผู้ที่เคยเสริมจมูกมาแล้วก็อาจเกิดผลข้างเคียงและเป็นอันตราย เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคของจมูกผิดแปลกไปจากเดิม

 

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ประเภทของฟิลเลอร์แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1.แบบชั่วคราว สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง แต่อายุการใช้งานสั้น 4-6 เดือน ราคาค่อนข้างแพง

2.แบบกึ่งถาวร มีความปลอดภัยปานกลาง อายุการใช้งานประมาณ 2 ปีและ

3.แบบถาวร ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ ส่วนมากเป็นซิลิโคน หรือพาราฟิน ซึ่งฟิลเลอร์ชนิดนี้มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวซึ่ง อย.ประเทศไทยรับรองเฉพาะฟิลเลอร์แบบชั่วคราวเท่านั้น ได้แก่ Juvederm Restylane Revenese และ ESthelis

 

นพ.จินดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันฟิลเลอร์ถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะการรักษาปัญหาด้านผิวพรรณ เช่น การแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย บริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม การแก้ปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋มจากการอักเสบและการฉีดเพื่อเสริมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนขึ้น เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ฉีดริมฝีปาก หรือฉีดเสริมรูปทรงของใบหน้าให้ดูอวบอิ่ม อย่างไรก็ตามแม้จะมีการใช้ฟิลเลอร์รักษาผิวพรรณอย่างแพร่หลาย แต่การเลือกใช้มีข้อจำกัดในแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเลือกชนิดและขนาดโมเลกุลของฟิลเลอร์ให้เหมาะกับสภาพผิวหนังและตำแหน่งในการฉีด