UNDP ยก สปสช.ตัวอย่างในการจัดซื้อจัดจ้างรวมที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการครบตามหลักการสากล

 

UNDP ยก สปสช.ตัวอย่างในการจัดซื้อจัดจ้างรวมที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการครบตามหลักการสากล ระบุ เดิมทำมาดีอยู่แล้ว แต่ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ เชื่อ การเปลี่ยนแปลงระบบจำเป็นต้องใช้เวลา 1-2 ปี

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2560 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดการเสวนาวิชาการและสนทนากลุ่มเรื่องผลกระทบของนโยบายการจัดซื้อยาฉบับใหม่และกลไกสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ณ Growth Café’ & Co. ชั้น 3 ลิโด้ สยามสแควร์

นายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ หัวหน้าทีมส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวในหัวข้อมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศต่อระบบการจัดซื้อยาของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การจัดซื้อจัดจ้างรวมเป็นหลักการสากล ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือเป็นหน่วยงานที่ทำได้ครบตามหลักการจัดซื้อจัดจ้างรวม ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างรวมก็เพื่อลดความเสี่ยงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและเอกชนที่เสนอสินค้า เพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เดียวกัน ที่สำคัญก็คือได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการจัดซื้อ สำหรับคำถามที่ต้องตั้งต่อไปก็คือในประเทศไทยนั้นมีหลักการเรื่องการจัดซื้อยารวมแล้วหรือยัง จากนั้นต้องพิจารณาว่ากฎหมายให้ดำเนินการหรือยัง และมีหน่วยงานดำเนินการหรือยัง ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีแล้ว

“ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา อย่างน้อยต้องมีสัก 1-2 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านโดยสมบูรณ์ ผมคงไม่ฟันธงว่าการเปลี่ยนหน่วยงานเพื่อจัดซื้อจัดจ้างจะดีหรือไม่ดี แต่ขอให้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเข้าใจว่าในอดีต สปสช. ทำมาอยู่และเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ขณะนี้ต้องมาเริ่มกันใหม่ ที่สุดแล้วเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานแต่อยู่ที่ระบบ”นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ทั่วโลก มักจะใช้งบประมาณ 10-20% ของงบประมาณประเทศ ฉะนั้นหากจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพก็จะสามารถประหยัดงบประมาณเพื่อไปใช้ด้านอื่นๆ ได้ แต่หากจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ด้อยโอกาสจะเป็นคนกลุ่มแรกที่เสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ในระบบสาธารณสุข หากมีการตัดงบประมาณลง ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสจะได้รับผลกระทบทันที

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบจากการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย 1.ไม่เคยมีกฎหมายกลางมาก่อน เป็นเหตุให้แต่ละหน่วยงานต้องอ้างอิงกับระเบียบของตัวเอง เช่น ระเบียบสำนักนายกฯ ระเบียบกระทรวงฯ ระเบียบหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่เคยมีกฎหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ
2.ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือหน่วยงานกลางในการพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเหตุให้แต่ละหน่วยงานต้องแยกกันซื้อ 3.ไม่มีการพัฒนาทักษะและพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากภาครัฐมองว่าใครก็ทำได้ ทั้งๆ ที่ทั่วโลกคนที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีความเชี่ยวชาญ เพราะเป็นผู้เข้ามาควบคุมการใช้งบประมาณในภาพใหญ่

“สิ่งสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างรวมก็คือการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง อย่างที่ประเทศอังกฤษก็เคยประสบกับปัญหาเรื่องงบประมาณจึงมีการตั้งหน่วยงานกลางเพื่อจัดซื้อจัดจ้างยา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งก็สามารถสร้างการต่อรองและบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น” นายวิสุทธิ์ กล่าว