สรุปการประชุม สถานการณ์ปัญหายาไม่เหมาะสมและการทบทวนทะเบียนตำรับยา
วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 8.30 – 16.00 น.
ณ ห้องแมนดารินซี โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ
แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ร่วมกับชมรมเภสัชชนบท และมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา/กลุ่มศึกษาปัญหายา จัดประชุมเรื่อง “สถานการณ์ปัญหายาไม่เหมาะสมและการทบทวนทะเบียนตำรับยา” โดยมีผู้ร่วมประชุมเป็นเจ้าหน้าที่จากจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์, เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา, เครือข่ายสถาบันการศึกษา, ผู้แทนศูนย์กฎหมายและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เครือข่ายภาคประชาชน, เครือข่าย อสม.ที่ร่วมงานกับ กพย. และสื่อมวลชน จำนวน 90 คน
กิจกรรมภายในงานช่วงเช้า ได้แก่ “การพบปะสื่อมวลชน” เพื่อให้ข้อมูลต่อประชาชนผ่านสื่อมวลชน ถึง ปัญหาของตำรับยาที่ไม่เหมาะสมที่พบในประเทศ และข้อเสนอที่มีต่อ อย.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบที่จะต้องเร่งทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาเพื่อความปลอดภัยของประชาชนไทย และการอภิปรายเรื่อง “สถานการณ์และข้อเสนอแนะการทบทวนทะเบียนตำรับยา” ซึ่งมีวิทยากรรับเชิญในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการเดินหน้าการทบทวนทะเบียนตำรับยาให้สำเร็จได้อย่างไร” อาทิ กรณีบทเรียนการจัดการทบทวนทะเบียนตำรับยาจากต่างประเทศ การศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพื่อรองรับการทบทวนทะเบียนตำรับยา ความก้าวหน้าของการทบทวนทะเบียนตำรับยาของประเทศไทย และการพัฒนาระบบการทบทวนทะเบียนตำรับยาในทัศนะของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ โดยตลอดงานจะมีการแสดงนิทรรศการและคลิปวีดีโอทัวร์โชว์ของ “ยาไม่เหมาะสม” ในประเทศไทย: สูตรและรูปแบบยาที่ไม่ควรมีในประเทศไทย ในมุมมองจากพื้นที่
กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม (World Café) เพื่อระดมข้อเสนอทางออกการจัดการปัญหายาไม่เหมาะสมในประเทศไทย สรุปได้ดังนี้
สรุปข้อเสนอทางออกการจัดการปัญหายาไม่เหมาะสมในประเทศไทย
- นโยบายการจัดการยาไม่เหมาะสม
- จำเป็นต้องมีการกำหนดให้มีการผลักดันนโยบายระดับประเทศในการดำเนินการทบทวนทะเบียนตำรับยาตามที่ อย.ได้มีการประกาศมาว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนปี พ.ศ. 2556 รวมทั้งการมีนโยบายระดับจังหวัดที่สอดคล้องกันในการกำจัดยาที่ไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่
- ระบบสนับสนุนการผลักดันให้การดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ การสร้างกลไกการเชื่อมโยงข้อมูลยาไม่เหมาะสม, อันตรายต่อสุขภาพจากยาไม่เหมาะสม (ทั้งจากตัวยาที่อันตรายและจากส่วนประกอบอื่นๆของตัวตำรับยา เช่น ชื่อยา รูปลักษณ์ ฉลากยา เป็นต้น), สถานการณ์การกระจายและพฤติกรรมการใช้ยาที่ผิด การจากพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทบทวน (ระบบข้อมูลที่ต้องการเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนทะเบียนยา การเรียกเก็บยาคืน
- เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของอย. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำหน้าที่ในการทบทวนทะเบียนตำรับยา
- ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรง
- มีกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาตำรับยาไม่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง
- ควรมีนโยบายเน้นการทำงานเชิงรุก โดยประสานเครือข่ายในชุมชน สนับสนุนกลไกการทำงานร่วมของทุกเครือข่าย (รัฐ ผู้ให้บริการ ภาคประชาชน. ภาคท้องถิ่น)
- ควรมีนโยบายสนับสนุนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขยาย บทบาทของ Single window ให้ครอบคลุมไปถึงยาไม่เหมาะสม
- เร่งผลักดันพรบ.เรื่องความมั่นคงทางยา แก้ไข พรบ.ยา ในประเด็น การกำหนดอายุทะเบียนยาและการทบทวนทะเบียนตำรับยา
- ควรกำหนดเป็นนโยบายให้เป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลแจ้งชื่อยา ข้อมูลยาให้ผู้ป่วยทราบ.
- เสนอให้มีนโยบายให้ประชาชนมีสิทธิเสนอเพิกถอนรายการยาที่ไม่เหมาะสม หรือร้านยาที่มีปัญหา
- ควรมีนโยบายในการเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ที่ถูกต้อง ให้ประชาชน
- ผลักดันให้มีการเพิ่มหลักสูตรการศึกษา ให้ประชาชนรู้เรื่องยา
- โครงสร้างองค์กรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนขั้นตอน และกำหนดเวลาการทำงานฯ
- จากการประกาศนโยบายและแผนการดำเนินการทบทวนทะเบียนยา ขอให้อย.เร่งดำเนินการทบทวนทะเบียนตำรับยา 37 รายการให้เร็วที่สุด และจัดลำดับสิ่งที่จะทบทวนตามความสำคัญและผลกระทบต่อประชาชน
- พัฒนากลไกการทำงานจัดการปัญหาในช่องทาง Fast track สำหรับการจัดการปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน
- ในการดำเนินการต้องให้มีความโปร่งใสในการรายงานความก้าวหน้าของการทำงานในทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้ว หรือมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานในขั้นตอนใด เพราะที่ผ่านมาสาธารณชนไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการได้ เป็นการรับรู้กันภายในกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเท่านั้น
- เร่งพัฒนา ระบบ การเฝ้าระวังหลังยาออกตลาดให้เข้มแข็งขึ้น ผ่านกระบวนการพัฒนาการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ( เช่น ศูนย์ HPVC ต้องปรับการเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับลักษณะปัญหาจากการใช้ยาหรือจากลักษณะที่ไม่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลาก ชื่อยา เป็นต้น)
- มีการนำข้อมูลปัญหาจากการทบทวนทะเบียนตำรับยามาสู่การพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยา เช่น การพัฒนาเกณฑ์การขึ้นทะบียนที่คำถึงปัญหาตำรับยาที่เกิดขึ้นกับสุขภาพคนในชุมชน
- มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ รวดเร็ว ไร้การแทรกแซง ทางการเมือง ธุรกิจ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในด้านยา
- มีข้อเสนอให้ใช้มาตรการในการฟ้องศาลปกครองเพื่อกระตุ้นการทำงานของอย.
- ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทบทวนทะเบียนตำรับยา
- เสนอให้มีกลไกสมาคมผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการดูแลสมาชิกไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ผลิตด้วยกัน มีการกำหนดกติกาควบคุมสมาชิก
- มีข้อเสนอให้ อย.สนับสนุนการปรับแก้ทะเบียนตำรับยาเดิมให้เหมาะสม โดยมีช่องทางด่วน (Fast track)ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ไขให้ทะเบียนตำรับยามีความเหมาะสมขึ้น
- เสนอให้อย.กำหนดให้มีเกณฑ์ในการการขออนุญาตทะเบียน ชื่อยา ข้อกำหนดฉลาก ขนาดให้เหมาะสม มีข้อกำหนดให้ชื่อยามีการระบุชื่อเป็นภาษาไทยด้วย
- ให้อย.กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาทบทวนทะเบียนยาอย่างเป็นปัจจุบัน
- บริษัทควรเข้ามารับรู้ปัญหายาไม่เหมาะสมและร่วมในการแก้ไขปัญหา
- เสนอให้มีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชน รัฐ
- บทบาทสถาบันวิชาชีพ, วิชาการในการเป็นกลไกสนับสนุนทางวิชาการ
- สถาบันฯ มีหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในชุมชนและสังคม (เช่น การจัดทำ website รู้เฟื่องเรื่องยา) ตลอดจน ผู้ประกอบวิชาชีพ
- ให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย ในการร่วมกันรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสม (ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อสร้างเข้าใจปัญหา “ยาขยะ”)
- ทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการเพิกถอนทะเบียน
- เร่งผลักดันเรื่องยาไม่เหมาะสม, การใช้ยาไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับและ หลักสูตรเภสัชศาสตร์
- เสนอให้สภาเภสัชกรรม มีนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับยาไม่เหมาะสม เช่นคัดค้านการมีอยู่ของทะเบียนตำรับยาที่ไม่เหมาะสม รณรงค์ในเครือข่ายเภสัชกรไม่ให้มียาในสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการต่างๆ
- เสนอให้ผนวกประเด็นปัญหาเรื่องยาไม่เหมาะสมเข้าสู่กิจกรรมในด้านการบริบาลเภสัชกรรม เช่น ในโครงการเยี่ยมบ้าน
- มีกลไกที่ร่วมกันทำงานระหว่างเครือข่ายในพื้นที่ สถาบันการศึกษา ประชาชนในพื้นที่ และ สสจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“อันตรายจาก”ยา”เร่ขาย. SpringNews. 15 กันยายน 2557, ลิงค์: www.youtube.com/watch?v=1WTyCcXNgOk
เตือนภัย’ยาชุด-ยามั่ว’ระบาดหนักอันตรายถึงชีวิต. Hfocus, 19 กันยายน 2557, ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/09/8172
รายงานพิเศษ: เตือนภัย’ยาชุด-ยามั่ว’ระบาดหนักอันตรายถึงชีวิต. โพสต์ทูเดย์, ศุกร์ 19 กันยายน 2557, Section: First Section/ในประเทศ หน้า: A6(กลาง)
เครือข่าย รพ. จี้ ปรับวิธีจ่ายยาพาราฯ ห้ามกินเกินวันละ 8 เม็ด. เว็บไซต์กระปุก, 26 กันยายน 2557, ลิงค์: http://health.kapook.com/view99720.html
ปรับวิธีจ่ายยา “พาราฯ” หวั่นกินเกินวันละ 8 เม็ด. ข่าวสดออนไลน์, 26 กันยายน 2557, ลิงค์: www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReE1UY3pNRFkwTkE9PQ
ปรับวิธีจ่ายยา’พาราฯ’ห้ามกินเกินวันละ8เม็ด. มติชนออนไลน์, ศุกร์ 26 กันยายน 2557, ลิงค์; www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1411706819
ปรับวิธีจ่ายยา’พาราฯ’ห้ามกินเกินวันละ8เม็ด. มติชน, ศุกร์ 26 กันยายน 2557, Section: First Section/ชีวิตคุณภาพ หน้า: 10(บน)
ปรับวิธีจ่ายยา’พาราฯ’ห้ามกินเกินวันละ 8 เม็ด. มติชน กรอบบ่าย, เสาร์ 27 กันยายน 2557, Section: First Section/- หน้า: 7(กลาง)