สรุปการประชุมการเยี่ยมดูงานเครือข่ายแผนงาน กพย. พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 1-2 สิงหาคม 2557

แผนงาน กพย. จัดกิจกรรมการเยี่ยมดูงานเครือข่ายแผนงาน กพย. พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานีระหว่างวันทึ่ 1-2 สิงหาคม 2557 เพื่อเยี่ยมชม ศึกษา และรับทราบกิจกรรมการดำเนินงานของเครือข่าย กพย.ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาในพื้นที่ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของพื้นที่ในอนาคต กิจกรรมในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ประกอบด้วย

 

  1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพโดยชุมชน เพื่อชุมชน”เครือข่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ และมุกดาหารวันที่ 1 สิงหาคม 2557 เวลา 10.15—13.00 น. ณ ห้องแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษและเยี่ยมชมพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงในเขตรับผิดชอบในโรงพยาบาลโนนคูณ เวลา 13.00 – 14.15 น.

การแสดงผลงานของ รพ.สต. ซึ่งจะเห็นภาพการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลาย เช่น ด้านอาหาร ด้านยา โดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านยา มีดังนี้

  1. โครงการ การควบคุมการกระจายยาที่ไม่เหมาะสมในชุมชนและสำรวจผลิตภัณฑ์ยาที่เสี่ยงต่อการใช้ผิด ในพื้นที่เครือข่ายอำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ
  2. การบริการจัดส่งยาแบบไร้ร้อยต่อ
  3. การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

SSK01

เดิมพื้นที่นี้ พบสถานการณ์ปัญหายาในชุมชน เช่น ร้านขายของชำ ขายยาเกินขอบเขตตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ร้อยละ 77.3 มีผู้ป่วยซึ่งซื้อยาจากร้านขายของชำแพ้ยาซ้ำ 4 ราย และยังพบปัญหาการจัดเก็บยาอย่างไม่เหมาะสม (เก็บปนสินค้าอื่นๆ วางทับซ้อน, ใช้กระป๋องเดิม เทรวมหรือใช้กระป๋องยาอื่น, วางบนพื้นซองบรรจุเปื่อย  ยาชื้น) ปัญหายาหมดอายุ มีาปัญหายาในชุมชนชายแดนจากประเทศกัมพูชา พบยาอันตรายในยาในร้านกองทุนหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ. 2552

การดำเนินงานแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 3 ระยะ

  1. การนำเสนอข้อมูลปัญหา เพื่อหาเครือข่ายความร่วมมือเช่น การประชุมส่วนราชการในอำเภอ ทำให้รับทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยา ข้อมูลผลกระทบจากการใช้ยาที่มีต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ทำให้เห็นความสำคัญของปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
  2. การจัดตั้งตำบลโพธิ์เป็นต้นแบบโดยออกตรวจโดยทีมแนะนำและเก็บยาอันตรายเริ่มจากร้านกองทุนหมู่บ้านรายงานการตรวจแนะนำของทีมในสมุดบันทึกของผู้ใหญ่บ้านที่ส่งรายงานนายอำเภอ มีกติกาชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหายาอันตรายในชุมชนสร้างเครือข่ายในชุมชนทุก PCU (อสม.ผู้นำ,ร้านค้า,จนท.PCU, อบต.)และออกตรวจแนะนำกันเอง
  3. การขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจังหวัดมีนโยบายจัดตั้งเป็นตำบลต้นแบบร้านชำ ปลอดยาอันตรายทั้งจังหวัดศรีสะเกษ (2553)

 จุดแข็งมีการทำงานด้านเครือข่าย

– พื้นที่นี้มีการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยผู้นำเป็นศูนย์กลางโดยผู้นำชุมชน และมาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ นายอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพ อสม. ผู้สูงอายุ แม่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเดินไปในทิศทางใด
– มีการปลูกฝังความรู้ตั้งแต่เด็ก

ความยั่งยืนของการดำเนินงาน มีความต่อเนื่องแม้ว่าจะเปลี่ยนตัวผู้บริหาร เนื่องจากเครือข่ายมีความเข้มแข็ง การดำเนินงานจึงสามารถทำได้ต่อไป

ข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับทิศทาง เช่น ควรมีการถอดบทเรียนในพื้นที่การทำงาน

SSK02

ลำดับต่อมาได้ดูร้านชำในพื้นที่ ซึ่งเดิมมีขายยาอันตรายจำนวนมาก จนกระทั่งได้มีการดำเนินกิจกรรมไม่ขายยาอันตรายในร้าชำ พบว่าผลการดำเนินการดีขึ้นมาก ไม่พบยาอันตรายในร้านชำ แต่ปัญหาที่พบใหม่ คือ ความปลอดภัยด้านอาหาร เช่น เลขสารบบอาหารปลอม ไม่ระบุวันผลิตวันหมดอายุ

จากนั้น เดินทางจากอำเภอโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ ถึงโรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี เพื่อประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงาน กพย.ครั้งที่ 17-4/2557 ต่อไป

 

  1. การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย การวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่าง กพย. และเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 1 สิงหาคม 2557 เวลา 19.00 – 21.00 น.ณ ห้องปทุมทิพย์ ชั้น 5โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย โดยรับฟังสถานการณ์ในพื้นที่กับเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. งานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดต้องมี สสจ.เข้าร่วมผลักดัน
  2. โครงการ Single Window ได้รับความร่วมมือในการรายงานผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยจากในพื้นที่
  3. งานคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีตำราช่วยเรียนรู้ แต่อาศัยประสบการณ์ และการทำงานร่วมกันในพื้นที่
  4. ควรมีการผลักดันค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค
  5. Primary Care ควรทำทั้ง 2 ด้าน คือ การบริบาลด้านยา และการคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนควรลงพื้นที่ชุมชนด้วย
  6. ต้องมีฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังได้ เช่น Single Window, Application
  7. ควรปลูกฝังเรื่องสิทธิผู้บริโภคตั้งแต่เด็ก
  8. มีการรายงานร้านยาไม่ตรงความเป็นจริงในพื้นที่เนื่องจากกลัวตกเกณฑ์

 

  1. การประเมินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพโดยชุมชนเพื่อชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 2 สิงหาคม 2557 เวลา 08.30 -12.30 น. ณ ห้องประชุม รพ.สต.หัวดูน

พื้นที่นี้ดำเนินโครงการ จัดการปัญหาด้านยาสเตียรอยด์และอาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง โดยเครือข่ายชุมชน  เขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวดูน ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานีเครือข่ายโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตำบลต้นแบบการจัดการปัญหาด้านยาสเตียรอยด์และอาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง โดยชุมชน และเพื่อลดปัญหาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในชุมชน

ผลการดำเนินงาน

1.จัดอบรมอสม. และเครือข่าย  เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการปัญหาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง  ได้แก่ ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ การใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์ และการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในชุมชน
2.อสม.ค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนสารสเตียรอยด์ และทีมสหวิชาชีพคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสียง และส่งต่อเพื่อรับการรักษา พบว่า
2.1มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ยาสเตียรอยด์หรือมีอาการพิษจากสเตียรอยด์จำนวน 28 คน  จากทั้งหมด 934 คน คิดเป็นร้อยละ3
2.2 ชุมชนมีพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สมุนไพร อาหารเสริม ที่อาจปลอมปนสารสเตียรอยด์จำนวน 110 คน จากทั้งหมด 934 คน คิดเป็นร้อยละ 11.8
2.3 ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้รับการเก็บตัวอย่างจำนวน 59 ตัวอย่าง  จากการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์  พบว่าให้ผลบวกจำนวน 10 ตัวอย่าง  คิดเป็นร้อยละ 16.95
3.จัดประชุมเครือข่าย สรุปสภาพปัญหา และคืนข้อมูลสู่ชุมชนครั้งที่ 1
4.จัดกิจกรรมประชาคมหมู่บ้าน วันที่ 10 ตุลาคม 2556 ณ รพสต.หัวดูน  ร่วมกำหนดนโยบาย และกิจกรรมแก้ไข  เพื่อจัดทำเป็นนโยบายชุมชนต่อไป
5.จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตำบลขามใหญ่ และจัดทำสารนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี  เพื่อเป็นหลักฐานของเครือข่ายในการใช้จัดการปัญหาในชุมชน

UBR01

6.จัดกิจกรรมพิธีมอบสารนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี  และประกาศนโยบายหลัก 5 ประการ วันที่ 18 ธันวาคม  2556 ณ ห้องประชุมรพสต.หัวดูน
7.จัดกิจกรรมรณรงค์”ไม่ซื้อไม่ใช้ยา อาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง และสำรวจผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม ในชุมชน” และสำรวจผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมในร้านค้าร้านชำ ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายน 2557 จำนวน 9 หมู่บ้าน  พบว่า
7.1ผลการตรวจจำนวน 54 ร้าน พบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.5
7.2 พบยาน้ำสมุนไพรจำนวน 3 ชนิด  ได้แก่ ยาน้ำเต็มพลัง , ยาสตรีศรีสมบูรณ์,ยาน้ำคลอโรฟิลล์  ซึ่งได้ดำเนินการตรวจด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย  พบว่าให้ผลลบทั้ง 3 ตัวอย่าง  แต่จากการตรวจสอบโดยใช้ระบบ SINGLE WINDOW พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าสงสัย  จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
7.3ติดตามผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสเตียรอยด์ และให้สัมภาษณ์เพื่อจัดทำสื่อออกรายการร่วมทุกข์ร่วมสุขจัดโดยสื่อสร้างสุข

จากนั้น ภญ.รุ่งนภา กงวงษ์นำเสนอผลการดำเนินโครงการเขตพื้นที่ตำบลเมืองศรีไค รพ.สต.เมืองศรีไค

8.กิจกรรมสร้างเครือข่ายระดับจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กิจกรรมโครงการอบรมแกนนำอสม.เชี่ยวชาญงานคุ้มครองฯจ.อุบลฯ รุ่น2 วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556, กิจกรรมโครงการประชุมสรุปบทเรียนการจัดการปัญหาด้านยา สเตียรอยด์ และอาหารเสริมโฆษณาเกินจริง โดยเครือข่ายชุมชน เขตอ.เมือง จ.อุบลราชธานี  วันที่ 10 มกราคม  2557ณ ห้องประชุม โรงพยาบาล 50 พรรษาฯ โดยมีคุณแสงดาว ดวงแก้ว ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์, สร้างเครือข่ายอย.น้อย และเครือข่ายผู้ประกอบการร้านค้า ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในโรงเรียน ร้านค้าในชุมชน, ข่าวประชาสัมพันธ์แจกจ่ายในพื้นที่  และร่วมจัดรายการวิทยุประชาสัมพันธ์ข่าวสารทางคลื่น 97.0 MHz, ประชาสัมพันธ์งานคุ้มครองผู้บริโภคจ.อุบลวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556โดยมีกิจกรรมปล่อยรถแห่ประชาสัมพันธ์ทั่วจังหวัดอุบลฯ

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ

  1. เครือข่ายคบส.รพสต.หัวดูน เป็นต้นแบบเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาด้านยาสเตียรอยด์ และอาหารเสริมโฆษณาเกินจริง แก่รพสต.ต่างๆ ในเขตอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี  โดยจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์เตือนภัยเฝ้าระวังปัญหาด้านยาและอาหารเสริมของชุมชน โดยประสานร่วมกับเครือข่ายอย.น้อย และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
  2. เครือข่ายคบส.รพสต.หัวดูน สามารถลดปัญหาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในชุมชน เช่น ออกรณรงค์ให้คำแนะนำ และสำรวจผลิตภัณฑ์ยาสเตียรอยด์และอาหารเสริมโฆษณาเกินจริง  ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าร้านชำให้ความร่วมมืองดการจำหน่าย และประชาชนทั่วไปรับทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรบริโภค
  3. นางแสงดาว ดวงแก้ว ประธานอสม.เขตรพสต.หัวดูน ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศอาสาสมัครสาธารณสุข  ประจำหมู่บ้านดีเด่น สาขา คุ้มครองผู้บริโภค ระดับจังหวัด ปี2556 จากโครงการจัดการสเตียรอยด์โดยเครือข่ายชุมชนฯ
  4. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค รพสต.หัวดูน ได้รับรางวัลชนะเลิศ งานมหกรรมการประกวดเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคดีเด่น เครือข่ายบริการที่ 10 มุกศรีโสธรเจริญราชธานี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557
  5. ได้รับรางวัลผลงานโครงการจัดการปัญหาด้านยาสเตียรอยด์และอาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง โดยเครือข่ายชุมชน ในงาน”เครือข่ายเข้มแข็ง  ผนึกกำลังพัฒนาผู้บริโภค”  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมริชมอนต์ จ.นนทบุรี
  6. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเฝ้าระวังปัญหาด้านยาและอาหารเสริมของชุมชน โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลขามใหญ่ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ
  7. เครือข่ายเฝ้าระวังฯ และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯพื้นที่รพสต.ขามใหญ่ และด้ามพร้า  โดยมีทีมอสม.เครือข่ายรพสต.หัวดูนเป็นพี่เลี้ยง

UBR02

จากนั้นคณะกรรมการกำกับทิศฯ กพย.แลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะการทำงานระหว่างชุมชน เช่น
– หากมีการรวบรวมตัวเลขสถิติในพื้นที่ต่าง ๆ จะทำให้สร้างเป็นฐานข้อมูลได้
– ควรมีต้นแบบด้านบวก เช่น ค้นหาผู้สูงอายุที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ เพื่อเป็นต้นแบบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงไม่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์
– การดำเนินการในพื้นที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง
– ควรมีการรณรงค์การเขียนชื่อยาบนซองยา
– สิ่งใดที่เป็น Key Success Factor
– เครือข่ายของพื้นที่มีศักยภาพอะไรบ้าง และนำเสนอให้เบื้องบนทราบว่าต้องการให้สนับสนุนอะไร