สรุปการประชุม ASEAN Antibiotic Awareness Day: A Way Forward in Combating ABR
วันที่ 18-19 พ.ย. 2557 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ
แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการจัดประชุมวิชาการอาเซียน “เดินหน้า ต่อต้านเชื้อดื้อยา” เนื่องในวันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2557 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศภายในกลุ่มอาเซียนว่ามีการจัดการปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไรบ้าง
ผู้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) และ ReAct (สวีเดน) ผู้เข้าร่วมประชุมประชุม ประกอบด้วยตัวแทนนักวิชาการ บุคลากรสุขภาพ และประชาสังคม จากกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย รวมทั้งเครือข่ายจากองค์กรนานาชาติ คือ องค์การอนามัยโลกสำนักงานประเทศไทย ReAct จากสวีเดน Third World Network (TWN) และ Health Action International (HAI)
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อเปิดตัวการรณรงค์วันห่วงใยยาปฏิชีวนะ เพื่อสื่อสารสาธารณะกระตุ้นความตระหนักของทั้งสาธารณชนและบุคลากรสุขภาพถึงปัญหาเชื้อดื้อยาและให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทางานระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม จากทั้ง 10 ประเทศ ตลอดจนวางแผนการทางานในอนาคตร่วมกัน รวมทั้งการก่อตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อการประสานความร่วมมือให้มากขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล ตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรโดยปราศจากการควบคุม การได้ยาปฏิชีวนะจากสถานที่ที่ไม่ใช่ร้านขายยาหรือโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรในการกำกับดูแลให้คำแนะนำ ตลอดจนการใช้ยาเองโดยไม่มีความรู้ ส่งผลให้พบว่ามีปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อวงการสาธารณสุขส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากวันใดที่มีการติดเชื้อขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องใช้ยารักษา ถ้าเชื้อนั้นเป็นเชื้อดื้อยาด้วยแล้ว นั่นหมายความว่ายาพื้นฐานที่มีอยู่จะไม่สามารถรักษาผู้ติดเชื้อนั้นได้ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และในสถานการณ์ปัจจุบันที่การคิดค้นยาใหม่ไม่ทันกับปัญหาเชื้อดื้อยาในปัจจุบัน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยาในระดับสูงขึ้นเพื่อรักษาชีวิตไว้ ก็อาจจะไม่มียา หรือต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องสูงขึ้นเพื่อใช้ยาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยของกองทุนต่าง ๆ ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจได้
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแต่ละประเทศจึงมีความพยายามที่จะชะลอหรือยับยั้งปัญหาเชื้อดื้อยาโดยการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุน เช่น การกำหนดแผนการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา การกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะ การกำหนดมาตรการในการติดตามการกระจายยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม การสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล การเสริมสร้างความรู้นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในหมู่ประชาชนและบุคคลากรสาธารณสุข
ความรู้ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ พบว่าประเทศฟิลิปปินส์ได้มีทิศทางนโยบายต่อการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยประธานาธิบดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนและนโยบายแห่งชาติด้านการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในระดับชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มผู้ป่วย มีแผนการดูแลในระดับชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสั่งใช้ การจ่าย และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในประเทศ โดยมีแนวทางปฏิบัติในการใช้ยาปฏิชีวนะในระดับชาติ มียุทธศาสตร์การควบคุมเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล มีแนวปฏิบัติที่ดีในการจ่ายยา มีการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและสังคม
ประเทศกัมพูชา มีนโยบายแห่งชาติเพื่อต่อสู่กับปัญหาเชื้อดื้อยา มีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2014 – 2019) โดยเน้นไปที่การให้ความรู้ต่อผู้ประกอบวิชาชีพ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง
ประเทศเวียดนาม มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการต่อต้านเชื้อดื้อยา 7 ปี (2013 – 2020) ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยการสร้างความตระหนักของประชาชนและผู้ประกอบการวิชาชีพด้านสุขภาพ มีการสร้างความเข้มแข็งในระบบการเฝ้าระวัง มีการรณรงค์ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นและอย่างสมเหตุผล และมีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตร
ประเทศลาว กำลังดำเนินการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนต่อปัญหาเชื้อดื้อยาโดยผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โปสเตอร์ แผ่นพับ นิตยสาร มีการสร้างแนวทางการจ่ายยาปฏิชีวนะตามใบสั่งแพทย์ในร้านขายยา และได้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการควบคุมปัญหาเชื้อดื้อยา นอกจากนี้ยังมีการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหายาปลอม ยาผิดมาตรฐาน การนำเข้ายาที่ผิดกฎหมาย และยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา
ส่วนของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในครั้งนี้กล่าวถึงมาตรการของโรงพยาบาลในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมีการกำหนดแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล มีกำหนดนโยบายการป้องกันการชะลอปัญหาเชื้อดื้อยา ในส่วนของระบบสนับสนุนการดำเนินการ มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย การติดตามข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในแต่ละช่วงเวลา การประเมินถึงการดื้อยาปฏิชีวนะส่งผลให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายด้านยาลง
สำหรับประเทศไทย การทำงานกับทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนภาคประชาชน ได้ร่วมกันในการผลักดันให้มีนโยบายแห่งชาติด้านยา ว่าด้วยการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา มีการสื่อสารสาธารณะให้ภาคประชาชนและบุคคลากรสุขภาพ ตระหนักในสถาณการณ์ปัญหา และร่วมในการจัดการปัญหา
จากแนวทางของประเทศในกลุ่มอาเซียนครั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยานี้จะต้องมาจากการกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติ การตระหนักและเห็นความสำคัญจากทุกภาคส่วน ไม่จำกัดแค่เพียงเป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และจะต้องมีการสื่อสารถึงประชาชนให้ทราบถึงอันตรายของเชื้อดื้อยา และสร้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
การประชุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ในประเด็นดังต่อไปนี้
กลุ่ม 1 นโยบายและมาตรการการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ประกอบด้วย สถานการณ์ แนวโน้มความรุนแรงของปัญหาเชื้อดื้อยาฯ ศักยภาพหรือความสามารถของระบบการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาฯในปัจจุบัน โครงสร้างองค์กรรับผิดชอบ, ระบบสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดการปัญหา เช่น กฎหมาย, นโยบาย หรือ มาตรการที่มี, ทรัพยากรด้านต่างๆ (งบประมาณ กำลังคน(บุคลากร,ประชาสังคม) ระบบสารสนเทศ ฯลฯ) ประสบการณ์ความสำเร็จในด้านความริเริ่มในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาฯในสถาบัน/ในชุมชน ข้อเสนอแนะในการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อระบบการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่ม 2 มาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาฯในสถาบันและชุมชน ประกอบด้วย ประเภทข้อมูลการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาฯที่จำเป็นต่อการจัดการปัญหา จุดอ่อนของระบบการเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาฯ ในปัจจุบัน ทั้งในสถาบันและในชุมชน ข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางการพัฒนาระบบเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาฯในสถาบันและชุมชน
กลุ่ม 3 บทบาทของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในการร่วมจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ประกอบด้วย ความรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาเชื้อดื้อยาฯในประชาชนทั่วไป ในเครือข่ายประชาสังคม ในเครือข่ายสื่อมวลชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดริเริ่มที่มีการดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เครือข่ายสื่อในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา
กลุ่ม 4 การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขั้นตอนการทำงานในเครือข่ายอาเซียนในระยะต่อไป ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาฯในแต่ละประเทศ ทิศทางการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายอาเซียน: โครงสร้างเครือข่าย กิจกรรม ระบบสนับสนุนในการทำงานร่วมกัน แผนกิจกรรมในแต่ละประเทศในระยะสั้น และระยะยาว
ปฏิญญาว่าด้วยการดื้อยาปฏิชีวนะ
พันธมิตรการดื้อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Resistance Coalition)
การดื้อยาปฏิชีวนะ[1]คุกคามบั่นทอนประสิทธิผลของการแพทย์แผนปัจจุบัน. เชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ, ในขณะที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะตัวใหม่ในโลกนี้ที่จะใช้รักษาการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุดบางชนิดได้. สถานการณ์แบบนี้เป็นไปทั่วโลกและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว. ประชาชนหลายล้านคนติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในแต่ละปี; และหลายแสนคนต้องเสียชีวิต. แน่นอนว่าการสูญเสียนี้จะเพิ่มขึ้นอีก
การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสาเหตุของการดื้อยา, ยิ่งการใช้อย่างผิดๆและใช้อย่างพร่ำเพรื่อเกินจำเป็นยิ่งเร่งการดื้อยาให้กว้างขวางมากขึ้น. หากไม่เปลี่ยนแปลงการใช้ยาปฏิชีวนะแบบถอนรากถอนโคน, การดื้อยาปฏิชีวนะจะเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดภัยหนึ่งต่อความมั่นคงของมนุษย์และต่อเศรษฐกิจโลก
หากไม่มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิผลในการรักษาการติดเชื้อที่ดื้อยา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพวกเราทั้งหมด–ทั้งแพทย์และคนไข้, ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค, ทั้งมนุษย์และสัตว์–ผลกระทบนี้ไม่มีพรมแดนด้วย.
ที่ผ่านมานั้น ความพยายามในการชะลอการเคลื่อนไปสู่อนาคตที่เลวร้ายส่วนใหญ่จะล้มเหลว.
ดังนั้น พันธมิตรการดื้อยาปฏิชีวนะ(Antibiotic Resistance Coalition: ARC) ซึ่งประกอบด้วยองค์การภาคประชาสังคมต่างๆจากทุกภาคส่วนในหกทวีปจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและปฏิบัติการ.
เรายืนยันว่า:
- ยาปฏิชีวนะที่มีประโยชน์ในทางคลินิกนั้นเป็นสินค้าสาธารณะที่จำเป็นสำหรับโลกและเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด. ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขจะต้องไม่ถูกลดทอนความสำคัญลงโดยรัฐบาลหรือสถาบันระหว่างประเทศเพียงเพื่อเห็นแก่รายได้.
- ความเข้าใจนิเวศวิทยาของแบคทีเรียและความสำคัญของแบคทีเรียที่มีต่อมนุษย์, สัตว์และระบบนิเวศจะต้องมีการนำมาใช้เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ.
- ผู้นำในภาครัฐจะต้องออกแบบงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆที่คำนึงถึงความจำเป็นเป็นสำคัญ, รวมทั้งมีความโปร่งใสของข้อมูลและเป็นงานวิจัยแบบเปิด(open research), ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลและสนับสนุนการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างยุติธรรมด้วย.
- ปฏิบัติการระดับชาติเป็นเรื่องสุดยอด, ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็น, และความรับผิดชอบร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตการดูแลสุขภาพที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเนื่องมาจากการดื้อยาปฏิชีวนะ.
- การแก้ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิผลจะต้องอาศัยการพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของโรคติดต่อด้วย. ในหลายส่วนของโลก, ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความยากจน, การใช้อย่างล้างผลาญ, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระหว่างประเทศและความอยุติธรรมภายในประเทศ, รวมถึงความขาดแคลนอาหาร, ขาดน้ำดื่มที่ปลอดภัยและขาดสุขอนามัยที่ดี.
พันธมิตรการดื้อยาปฏิชีวนะให้คำมั่นสัญญากับตนเอง, ตามหลักการและแนวปฏิบัติในปฏิญญานี้, ว่าจะเร่งทำงานเพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มียาปฏิชีวนะที่ใช้ได้.
เราขอเรียกร้ององค์การระหว่างประเทศ, รัฐบาลต่างๆและผู้ที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนเราในความพยายามครั้งนี้.
เราขอเชิญชวนองค์กรภาคประชาสังคมและองค์การอื่นๆเข้ามาร่วมงานกับเราโดยลงนามปฏิญญานี้, ดังมีบทวิเคราะห์และแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้.
สถานการณ์ปัญหาและข้อเรียกร้องทั่วไป
1. ทั่วโลกกำลังกังวลว่าจะไม่มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิผลไว้ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อคนและสัตว์. ความขาดแคลนยาปฏิชีวนะจะทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันมีประสิทธิผลลดลง. เชื้อแบคทีเรียซึ่งมีมากมายหลายชนิดและก่อให้เกิดโรคได้กว้างขวางทั้งในคนและสัตว์กำลังดื้อต่อยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ที่มีอยู่. การดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้เกิดโรคที่รักษาไม่ได้มากมายแพร่หลายในโลกนี้และทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้. นอกจากนี้ ยังทำให้การผ่าตัดเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนอวัยวะไม่ได้และรักษาโรคมะเร็งด้วยการให้สารเคมีก็ไม่ได้.
2. การดื้อยาปฏิชีวนะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อง่ายๆเป็นไปได้ยากหรือบางครั้งก็เป็นไปไม่ได้. มันทำให้การรักษากินเวลานานขึ้น จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นและยังนำไปสู่การป่วยและการตายที่เพิ่มขึ้น. นอกจากนี้ มันยังส่งผลให้คนไข้ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรง เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย(last resort)มักจะมีพิษภัยมากกว่ายาที่เป็นตัวเลือกต้นๆ(drugs of choice)
3. แม้ว่าการดื้อยาปฏิชีวนะจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติก็ตาม, แต่มันก็ถูกเร่งมาหลายทศวรรษด้วยการตลาดที่ไร้การควบคุมของอุตสาหกรรมยาซึ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะมากๆ ใช้ผิดๆ ทั้งในคน, สัตว์และกระบวนการผลิตอาหาร. สำหรับการติดเชื้อบางชนิดนั้น การดื้อยาเข้าขั้นถึงจุดวิกฤตแล้ว
4. การควบคุมที่หย่อนยานทั้งการขายและการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในสัตว์และในคน, รวมทั้งการติดสินบนทั้งผู้สั่งจ่ายยา(prescribers) และผู้ส่งมอบยา(dispensers), เป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่วิกฤตนี้.
5. องค์การระหว่างประเทศ, เช่น องค์การอนามัยโลก(WHO), องค์การอาหารและเกษตร(FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE), ประสบความล้มเหลวในการเป็นผู้นำในการดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะให้เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ. หน่วยงานระดับประเทศที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารและควบคุมยาส่วนใหญ่ก็ล้มเหลวในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและสัตว์. ส่วนระบบข้อมูลเพื่อการติดตามการใช้และการดื้อยาปฏิชีวนะก็ยังแยกส่วนกระจัดกระจายกันอยู่อย่างมาก. บรรยากาศทางการค้าและการลงทุนก็คุกคามทำให้ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อยู่เหนือการสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค, ดังนั้นจึงไม่สามารถควบคุมการใช้และการดื้อยาปฏิชีวนะได้
6. กรอบนโยบายต่างๆสำหรับการวิจัยและพัฒนากลับเป็นเชื้อเพลิงให้แก่การดื้อยาโดยปราศจากนวัตกรรมที่ก้าวหน้า. กรอบเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่และเครื่องตรวจแบบใหม่. นอกจากนี้ยังล้มเหลวต่อการให้หลักประกันการเข้าถึงแก่ทุกคนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและไม่สามารถควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็นและไม่สมเหตุผลได้
7. การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมยังเกิดจากความเข้าใจผิดของประชาชนเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส, ส่วนใหญ่จะถูกสั่งสอนให้กลัวเชื้อแบคทีเรียว่าสามารถทำให้ป่วยได้. มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจว่าแบคทีเรียนั้นมีความสำคัญของต่อทุกชีวิตเพื่อให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะในยามจำเป็นเท่านั้นเพียงเพื่อจัดการกับเชื้อแบคทีเรียกลุ่มน้อยซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นอันตรายต่อเรา. ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นและลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นลงได้ จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาชนเสียใหม่ว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดีได้อย่างไรและสุขภาพดีหมายถึงอะไร
8. ควรจะพิจารณาว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและเครื่องตรวจเชื้อเป็นสินค้าสาธารณะของโลก ดังนั้น ทรัพยากรสามัญ(common resources)ย่อมต้องดูแลด้วยวิธีการสามัญ(common stewardship)
9. จะต้องควบคุมยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิผลเพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาปฏิชีวนะที่มีอยู่และที่เป็นยาใหม่นั้นสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทุกประเทศ, โดยไม่มีการใช้อย่างผิดๆหรือใช้เกินจำเป็น. ดังนั้นจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขในทุกประเทศด้วย
10. ทุกประเทศจะต้องมีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล, รวมทั้งมีปฏิบัติการที่จำเป็นในการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็น. จะต้องมีระเบียบการควบคุมทั้งการสั่งจ่ายและการทำการตลาดด้วย
11. การประกันการเข้าถึงยาปฏิชีวนะสำคัญเท่าๆกับการควบคุมมิให้ใช้เกินจำเป็น. จะต้องไม่ใช้ราคาเป็นเครื่องตัดสินการใช้อย่างสมเหตุผลในคน. การจำกัดการเข้าถึงจะนำไปสู่ความทุกข์และความตายที่สามารถป้องกันได้
12. การแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นจะต้องมีกิจกรรมการจัดอบรมบุคลากรสาธารณสุขที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือและไม่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งให้การศึกษาแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่องและตรงจุด. รวมทั้งจะต้องมีแนวทางการรักษามาตรฐาน(Standard treatment guidelines)ในการบริหารยาปฏิชีวนะด้วย. ในด้านการดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น, จะต้องมีสูตร(regimens)การใช้ยาที่เหมาะสมพร้อมทั้งช่วงเวลาการรักษา(duration)และวิธีการให้ยา(route)ที่เหมาะสม รวมถึงคำนึงถึงประสิทธิผลในอนาคตเป็นแรงจูงใจและไม่มีแรงจูงใจให้ใช้โดยไม่จำเป็น
13. โรงพยาบาล, ซึ่งเป็นแหล่งที่รู้กันว่ามีระดับการดื้อยาสูง, รวมถึงศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพอื่นๆ จะต้องได้รับการส่งเสริมให้เก็บข้อมูลการติดเชื้อในโรงพยาบาล(hospital-acquired infections) และในชุมชน(community-acquired infections), เพื่อให้มีข้อมูลต่อสาธารณะและเพื่อติดตามควบคุมการติดเชื้อให้ลดลง
14. ภาครัฐของทุกประเทศจะต้องสร้างระบบระดับชาติที่เข้มแข็งในการติดตามแนวโน้มการใช้และการดื้อยาปฏิชีวนะทั้งในคนและในสัตว์, รวมถึงให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบติดตามที่มีประสิทธิผลในระดับโลกด้วย. ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบเฝ้าระวังระดับโลกได้แก่ ข้อมูลด้านราคา, ความแพร่หลาย, ความสามารถในการจ่ายเงินของประชาชน, การจำหน่ายและการใช้ยาปฏิชีวนะ, เป็นข้อมูลในแต่ละตัวยาและในแต่ละข้อบ่งใช้, รวมทั้งรูปแบบของการดื้อยาและการเปลี่ยนแปลงในประสิทธิศักย์ของยาปฏิชีวนะ. ทั้งนี้ จะต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ทั้งจากมนุษย์และที่มิใช่มนุษย์และเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างละเอียดเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้เสีย(เช่น ภาคประชาสังคม วิชาชีพทางการแพทย์และรัฐบาล)สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติได้
15. จะต้องพัฒนาให้ความไม่เที่ยงของการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการลดลงและพัฒนาเทคนิควิธีการและเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยให้มีความรวดเร็วขึ้น. ความรวดเร็วทันการณ์จะทำให้สามารถรับรู้ธรรมชาติของการติดเชื้อและสามารถป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมได้. เครื่องมือเหล่านี้จะต้องได้มาตรฐานเข้าเกณฑ์ WHO ASSURED[2] , รวมถึงจะต้องมีราคาไม่สูงและไม่ยุ่งยากในการใช้เพื่อให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางสามารถนำไปใช้ตามความจำเป็นได้ด้วย
16. การส่งเสริมการขายและการโฆษณายาปฏิชีวนะ, รวมถึงการตลาดที่ทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม หรือการจูงใจให้บุคลากรในวงการแพทย์และวงการสัตวแพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นหรือสั่งจ่ายอย่างไม่เหมาะสม, เหล่านี้เป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพและจะต้องยับยั้งสั่งห้าม. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมจะต้องได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานจากภาษีรายได้ของประเทศ, และค่าธรรมเนียมที่เก็บจากบริษัทยาและอุตสาหกรรมปศุสัตว์จะต้องส่งให้รัฐบาล มิใช่ส่งให้หน่วยงานนี้โดยตรง. ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
17. หนุนเสริมให้มีความใส่ใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ, และให้ปฏิบัติต่อการติดเชื้อด้วยวิธีการทางนิเวศวิทยา. ควรหลีกเลี่ยงการพึ่งพายาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆในการแก้ปัญหาส่วนใหญ่อย่างเกินจำเป็น. การสื่อสารสาธารณสุขควรเน้นเรื่องการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะและการสร้างสมดุล
18. เราต้องหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่าเรากำลังทำสงครามกับแบคทีเรียและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันอย่างกลมกลืน, เว้นเสียแต่ในบางกรณีซึ่งเป็นส่วนน้อยที่เชื้อบางตัวเข้ามาคุกคามสุขภาพของเรา. การรักษาการติดเชื้อจะต้องยึดหลักการสร้างสมดุลโดยให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาประชากรแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพของคนและสัตว์เอาไว้
19. ภาคประชาสังคมและรัฐบาลต่างๆควรดำเนินการให้สาธารณชนตระหนักต่อปัญหานี้อย่างกว้างขวางและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมผ่านทางงานสร้างสรรค์, ระบบการศึกษาทั่วไป, ศิลปะ, การเคลื่อนไหวสังคมและการปฏิรูปหลักสูตรของโรงเรียน
ปฏิบัติการเฉพาะกิจ: การใช้ยาปฏิชีวนะที่มิใช่การรักษาคน
การจัดการปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นในอาหารและการเกษตร
20. การถนอมรักษายาปฏิชีวนะไว้ให้สามารถใช้รักษาคนได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไปนั้น สำคัญกว่าการใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการพาณิชย์. มีการใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างมากในสัตว์, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์. ควรใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะในการรักษาสัตว์เมื่อชี้ชัดว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างแท้จริงและต้องใช้ตามแนวทางการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเท่านั้น.
21. การใช้ยาปฏิชีวนะแบบปูพรม(mass)เพื่อป้องกันโรคไม่ใช่วิธีการที่ดีในการเลี้ยงสัตว์. พฤติกรรมที่ไม่ดีของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงอย่างแออัดเกินไป, สภาพสุขอนามัยไม่ดี, อาหารไม่เหมาะสมและให้อดนมแม่ก่อนเวลาอันควร ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำนั้น, จะต้องสั่งห้าม. ในทำนองเดียวกัน, การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ก็ต้องห้ามโดยเด็ดขาดเช่นกัน
22. ทุกประเทศควรเข้าร่วมในระบบเฝ้าระวังระดับโลกซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างการสำรวจร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับประเมินการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์และรูปแบบการดื้อยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
23. เพื่อสงวนรักษายาปฏิชีวนะไว้สำหรับอนาคต, สัตวแพทย์ควรแสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการแนะแนวทางการป้องกันการติดเชื้อและต่อต้านการใช้ยาปฏิชีวนะที่มิใช่การรักษา
24. ขอให้ระลึกเสมอว่า ยาปฏิชีวนะมีความสำคัญต่อคนมาก จะต้องไม่ใช้ในสัตว์, เว้นเสียแต่ในภาวการณ์เฉพาะเพื่อที่จะช่วยชีวิตหรือเพื่อป้องกันความทุกข์ทรมานเท่านั้น
25. ควรออกกฎระเบียบและบังคับใช้เพื่อให้มั่นใจว่ามีคำเตือนที่เหมาะสมเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะและมีการจำแนกที่ชัดเจนระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะในคนกับการใช้ในสัตว์, เพื่อช่วยในการควบคุมและติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะ
26. อาหารที่ได้รับการผลิตโดยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะและไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างควรได้รับการระบุบนฉลากที่มีการรับรองว่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค. ในขณะที่อาหารที่ได้รับการผลิตโดยมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำก็ต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากด้วย, จนกว่าการสั่งห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตอาหารจะได้ผลอย่างจริงจัง
27. อาหารที่ได้รับการผลิตโดยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์, หรือไม่มีการใช้ยาฯในขั้นตอนอื่นๆของกระบวนการผลิต, ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการจัดซื้อจัดหาอาหารทุกครั้งของภาครัฐ. โรงพยาบาลควรเป็นผู้นำในการจัดหาอาหารที่ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ, เนื่องจากสอดคล้องกับพันธกิจหลักของตนในด้านสุขภาพ
28. การเคลื่อนไหวของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมควรมุ่งเป้าที่ห่วงโซ่อุปทานโดยประจานและบอยคอตบรรษัทที่ผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ
29. รัฐบาลควรใช้มาตรการออกระเบียบเพื่อควบคุมมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดื้อยาปฏิชีวนะผ่านทางดิน, น้ำและอากาศ. การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติเพื่อจำกัดมลพิษนั้น
ปฏิบัติการเฉพาะกิจ: นวัตกรรม
การพัฒนาระบบนวัตกรรมที่มีประสิทธิผลในการสร้างยาปฏิชีวนะตัวใหม่, เครื่องตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบใหม่และเครื่องมืออื่นๆที่สนับสนุนการเข้าถึงและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล
30. ระบบนวัตกรรมของโลกเราหยุดชะงัก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน, เรายืนอยู่ ณ จุดล่อแหลมที่จะเปลี่ยนเป็นยุคหลังยาปฏิชีวนะ(post-antibiotic era). เราจึงขอเรียกร้องบรรดาผู้นำให้ช่วยส่งเสริมรูปแบบการวิจัยและพัฒนาแบบใหม่ที่มีความจำเป็นเป็นแรงผลักดัน ยึดหลักการอิสรภาพ: ราคายาไม่ขึ้นกับค่าวิจัยและพัฒนา, รวมถึงไม่ขึ้นกับปริมาณการสั่งซื้อ. การสนับสนุนทุนวิจัยจากสาธารณชนเป็นเรื่องจำเป็น, และประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนจะกลับคืนไปสู่สาธารณะ. ควรมีเป้าหมายยาปฏิชีวนะที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบใหม่(novel mechanisms of action) หรือที่มีคุณค่าต่อสาธารณะเป็นสำคัญ. ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นให้มีอายุยืนยาวด้วย
31. ผู้นำภาครัฐในด้านนวัตกรรมจะต้องให้ความสนใจยาปฏิชีวนะด้วย. ถนนสายใหม่แห่งการรักษาอาจปูไว้ด้วยโอกาสใหม่ๆทั้งหมดและจะเป็นการลงทุนแบบมีคุณธรรมด้วย. เทคโนโลยีเสริมสามารถช่วยลดแรงกดดันของการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย microbiome. เครื่องตรวจวินิจฉัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมได้, ช่วยในการเฝ้าระวังและช่วยคัดเลือกคนไข้เข้าร่วมในการทดลองทางคลินิกได้ด้วย. วัคซีนช่วยให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
32. นวัตกรรมต้องอาศัยการเข้าถึงโครงสร้างขององค์ความรู้. เราขอเรียกร้องต่อผู้นำให้จัดตั้งศูนย์รวมงานที่เกิดจากความพยายามต่างๆและสนับสนุนการเปิดเผยงานวิจัย. อาจรวมถึงการเข้าไปส่งเสริมงานวิจัยยาใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่และดูแล้วมีอนาคต, จัดหาธนาคารสิ่งส่งตรวจ(specimen banks)เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยในการพัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ, สร้างเครือข่ายการทดลองทางคลินิกเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาคนไข้มาทดลอง, แลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งทางคลินิกและปรีคลินิก, และตีพิมพ์ข้อค้นพบในวารสารที่เข้าถึงได้ง่าย
33. การคัดเลือกสารประกอบที่อยู่ระหว่างการวิจัยทำให้รู้ว่ามียาที่เป็นความหวังไม่มาก. เราจึงขอเรียกร้องผู้นำให้จัดตั้งเครือข่ายคลังชีวภาพ(network of bio-repositories) เพื่อกุมบังเหียนความหลากหลายทางชีวภาพ(bio-diversity)สำหรับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่อาจกลายเป็นยาปฏิชีวนะในวันพรุ่งนี้ได้. ในการนี้ จำต้องมีพันธสัญญาระดมทุนจากสาธารณะ, ขอความร่วมมือจากประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงให้เข้ามาร่วมในกระบวนการนวัตกรรม, และทำให้มั่นใจว่าจะมีการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างยุติธรรมในกลุ่มประเทศเหล่านั้น
34. ข้อมูลการทดลองฉบับสมบูรณ์และข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับความปลอดภัย, ประสิทธิผลและการดื้อยาปฏิชีวนะควรเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อต่อยอดความก้าวหน้าทางวิชาการและเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทั้งนี้ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวด้วย
35. เราขอปฏิเสธมาตรการการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มเติมงอกเงยออกมา. มันคล้ายกับการประนีประนอมแลกเปลี่ยนระหว่างการเข้าถึงยาของคนไข้กับการสั่งซื้อยาในปริมาณสูงๆโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงจูงใจที่ล้มเหลวอยู่ในปัจจุบัน. ความจำเป็นของคนไข้กลุ่มหนึ่งไม่สามารถจะเสียสละให้กับกลุ่มอื่นได้, ตัวอย่างเช่น การโอนภาระการจ่ายค่าใช้จ่ายในการพัฒนายาปฏิชีวนะไปให้คนไข้กลุ่มอื่นรับผิดชอบ
36. สิ่งสำคัญที่สุดในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ก็คือ คนไข้จะต้องได้รับความปลอดภัยและผลลัพธ์ต่อสุขภาพดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการติดเชื้อที่ดื้อยาหลายตัว. เมื่อไม่กี่ปีมานี้, หน่วยงานควบคุมยาหลายแห่งได้ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ โดยอนุมัติทะเบียนยาที่อ้างผลการทดลองทางคลินิกที่ใช้ตัวอย่างในการทดลองกลุ่มเล็กและสามารถใช้ surrogate endpoints ได้. อย่างไรก็ตาม, การลดมาตรฐานการทดลองทางคลินิกเพียงเพื่อจูงใจบริษัทยาให้นำยาเข้าสู่ตลาดโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
37. จะต้องหนุนเสริมความเข้าใจแบคทีเรียแบบแนวคิดกว้างๆ, เป็นองค์รวม, ยึดหลักระบบนิเวศ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่การค้นพบยาปฏิชีวนะตัวใหม่ รวมถึงการค้นพบการแก้ปัญหาการติดเชื้อโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ. จากการออกแบบใหม่ของโรงพยาบาลที่มีเป้าหมายที่การสื่อสารเรื่องแบคทีเรีย จินตนาการใหม่เกี่ยวกับการดื้อยาและแบคทีเรียจะทำให้เกิดถนนแห่งการแก้ปัญหาสายใหม่ทั้งหมด.
ปฏิบัติการนานาชาติและความร่วมมือกัน
38. กรอบปฏิบัติการระดับโลกจะต้องได้รับการพัฒนาจากรัฐบาลของประเทศต่างๆผ่านทางระบบของสหประชาชาติ(United Nations system), ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากผู้มีส่วนได้เสียทุกองค์กร. กรอบนี้จะต้องประกอบด้วยเป้าหมายและวิธีการต่างๆในการติดตามผลงานซึ่งประเทศต่างๆสามารถประยุกต์ใช้ได้ด้วย.
39. รัฐบาลของประเทศต่างๆควรกำหนดเป้าหมายของการควบคุมการดื้อยาปฏิชีวนะที่จำเพาะเจาะจง, วัดได้, บรรลุผลได้, ไม่เพ้อฝันเกินไปและมีช่วงเวลาในการดำเนินการที่แน่นอน.
40. ความร่วมมือระหว่างประเทศควรสนับสนุนทางการเงินและวิชาการแก่ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง, รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล
41. ปฏิบัติการนานาชาติจะต้องมั่นใจว่า การลงทุนในทางการค้าไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก และกติกาในด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องไม่บั่นทอนกฎระเบียบและนโยบายที่มุ่งควบคุมยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิผล
42. องค์การระหว่างประเทศ, ทั้งที่อยู่ในระบบสหประชาชาติและสถาบันอื่นๆ, ควรขยายงานเพิ่มขึ้นและประสานงานให้ทันกับความเร่งด่วนของวิกฤตที่เกิดจากการดื้อยาปฏิชีวนะ.
- องค์การอนามัยโลกควรเพิ่มความพยายามในการเป็นผู้นำอย่างแท้จริงด้วยการขยายศักยภาพภายใน, สร้างกรณีตัวอย่างของความเข้มแข็งเพื่อที่ประเทศสมาชิกจะได้สนับสนุนทุนตามความจำเป็น, จัดการอบรมหนุนเสริมและแนะแนวนโยบายให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างการควบคุมของประเทศ, จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือทำงานใกล้ชิดกับองค์การต่างๆเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการดื้อยาปฏิชีวนะ.
- Codex Alimentarius, ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง WHO กับ FAO ในด้านมาตรฐานอาหาร, ควรพัฒนาชุดมาตรฐานใหม่สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร ที่ต้องเข้มงวดมิเพียงแต่สารตกค้างในอาหารเท่านั้นแต่จะต้องเข้มงวดเรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะด้วย.
- FAO และ OIE ควรให้ความสำคัญกับความพยายามที่จะลดการใช้ยาปฏิชีวนะแบบถอนรากถอนโคนในกระบวนการผลิตอาหาร
- องค์การระหว่างประเทศควรทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆเพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังการดื้อยาและการใช้ยาปฏิชีวนะให้เข้มแข็ง.
พันธมิตรการดื้อยาปฏิชีวนะยืนยันว่า หลักการและแนวทางปฏิบัติในปฏิญญานี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยป้องกันหายนะของโลก.และ ต้องเริ่มปฏิบัติ ณ บัดนี้.
[1] การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) เป็นคำที่มีการใช้กันทั่วไปมากกว่า ซึ่งหมายถึง การดื้อต่อสารประกอบที่ใช้ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ, ที่รวมถึงแบคทีเรีย, เชื้อรา, ปรสิตและไวรัส. ส่วนคำว่า การดื้อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance: ABR) หมายถึงเฉพาะการดื้อต่อยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (anti-bacterial agents) เท่านั้น.
[2]ASSURED ย่อมาจาก Affordable, Sensitive, Specific, User-friendly, Rapid and robust, Equipment-free and Deliverable to end-users.