26 ธันวาคม 2562 – เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม นำเสนอ “ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน”เปลี่ยนสถานะกัญชา กระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็น “พืชยา” เพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชน เข้าถึงการใช้พืชยา กัญชา กระท่อม ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และมีระบบควบคุมกันเองโดยชุมชน สอดคล้องกับวิถีการแพทย์พื้นบ้าน และวัฒนธรรมชุมชน โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายอย่างในปัจจุบันเตรียมล่า 10,000 รายชื่อ เสนอต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่าในวันนี้นเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคม มีวัตถุประสงค์มาเพื่อยื่นริเริ่มการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการพืชยาร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อม ให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่นโดย มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชยา และผลกระทบที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ
ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า แม้ว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562อนุญาตให้มีการนำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากกฎหมายยาเสพติดมุ่งปราบปรามยาเสพติด มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการนำกัญชา กระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัย แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสั่งใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเพราะยังขาดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ทำให้ผู้ป่วยก็เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ทำให้ยังต้องใช้กัญชาใต้ดินที่อาจไม่ปลอดภัยมีราคาแพง สำหรับแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านก็ไม่สามารถนำกัญชา กัญชง กระท่อมมาใช้ในฐานะเป็น “พืชยา” ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การปลูกกัญชาเองมีขั้นตอนยุ่งยากใช้เงินทุนสูงอีกทั้งยังมีโทษอาญาที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่บางส่วน ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาล
นายไพศาล กล่าวต่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.พืชยา ฯ กำหนดให้ชุมชนที่มีความพร้อมสามารถจัดทำธรรมนูญชุมชน เพื่อจัดการกัญชา กระท่อมด้วยตนเอง กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ มีมาตรการลงโทษทางปกครอง มาตรการทางสังคมที่ไม่ใช่โทษอาญา”
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าระบบจัดการโดยชุมชนในร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นระบบจัดการใหม่ที่กำหนดบทบาทของชุมชนให้มีสัดส่วนเข้มข้นมากกว่าบทบาทของรัฐ โดยการเอาชุมชนเป็นฐานของการจัดการร่วม ซึ่งเรียกว่า “การจัดการร่วมโดยเอาชุมชนเป็นฐาน (Community-based Co-management)” ซึ่งรัฐจะไม่เข้าไปครอบงำชุมชนมากเกินในขณะที่ชุมชนสามารถออกแบบกฎกติกาของชุมชนให้ตอบสนองและสอดคล้องกับเงื่อนไข ความต้องการ และความจำเป็นของชุมชนแต่ละชุมชนได้ รัฐก็ช่วยทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ประสานงาน และดูแลปกป้องผลประโยชน์ของทุกชุมชนในภาพรวมไปในทิศทางเดียวกัน
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงแนวทางการขึ้นทะเบียนตำรับการอนุญาตผลิต นำเข้าและจำหน่ายสำหรับผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อมว่าจะมีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชา และกระท่อม หรือพืชยาอื่น โดยควบคุมดูแลเป็นในทำนองเดียวกันกับยา
“ในปัจจุบัน หากเป็นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน ตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา กระท่อม หรือพืชยาอื่น ผู้อนุญาตคือเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย ข้อเสนอในกฎหมายฉบับนี้ ให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ให้สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อม ดูแลสำหรับกรณีอื่นๆที่ไม่อยู่ในอำนาจของเลขาธิการ อย. ผู้อนุญาตคือ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ข้อเสนอในกฎหมายฉบับนี้ ให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ให้สถาบันฯ ดูแล”
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวในฐานะภาคประชาชนว่า “ปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจนว่ากัญชา และกระท่อม เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ใช้บำบัด รักษา บรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆได้ จึงถึงเวลาที่จะมีการทบทวนและลบกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ แล้วหันมาศึกษา พัฒนา ต่อยอด องค์ความรู้ ทั้งในทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย การรักษาทางเลือกอื่นๆ และเพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพืชยา กัญชา กระท่อม ได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย ชุมชน ควรมีสิทธิปลูก และนำกัญชา กระท่อม มาใช้ในทางการดูแลรักษาตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้ โดยไม่ต้องไปซื้อในราคาแพง รัฐต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดหรือมีใครเป็นเจ้าของพืชยาลดการพึ่งพิงการใช้ยาจากต่างประเทศ และจะทำให้เกิดความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด โดยให้ชุมชนมีบทบาทในการกำกับ ควบคุมกันเอง มีระบบข้อมูลเกี่ยวกับพืชยา กัญชา กระท่อม ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ นำไปประกอบการตัดสินใจในการใช้พืชยา กัญชา กระท่อม รวมทั้งจะเป็นการจัดการกับกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์จายสารสกัดจากกัญชาแบบใต้ดินที่ไร้มาตรฐานและการควบคุม เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกหลอกลวงและได้รับอันตรายจากการมใช้สารสกัดจากกัญชาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้”
โดยเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม จะได้เตรียมเผยแพร่ “ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” และจะทำการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ได้ครบ 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 เพื่อที่จะได้นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทำการพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป