พบไซบูทรามีนผสมในอาหารเสริมเกลื่อน ทำหัวใจวาย-อาการทางจิต จี้ อย. จัดการ

 

ไซบูทรามีนสุดอันตราย พบยกเลิกทะเบียนไปแล้ว แต่เจอผสมในอาหารเสริมขายเกลื่อน แพทย์-เภสัช ชี้ พบเป็นต้นเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน อาการทางจิต กพย. จี้ อย. จัดการอุดรูรั่วด่วน

28 มิถุนายน 2561 ที่ศศนิเวศ จุฬาฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดการแถลงข่าว  “ไซบูทรามีน: อันตราย สถานะทางกฎหมาย และการลักลอบนำเข้า

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า กพย. และภาคี ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องการปนปลอมไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลกระทบต่อผู้ใช้ถึงขั้นพบผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างสรพคุณลดความอ้วน มากกว่า 10 รายในรอบ 6 ปี แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมา แต่ก็ยังพบการละเมิดกฎหมายต่อเนื่อง จึงร่วมกับภาคีนำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่ รูปธรรมการติดตามเฝ้าระวัง และข้อเสนอการปรับระบบในภาพรวม  

ภก.วสันต์ มีคุณ โรงพยาบาลวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และผู้แทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่าทำการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ (เช่น tumdee.org) ช่วงปี 2557–2561 พบรายงานการปนปลอมไซบูทรามีน 135 ตัวอย่าง โดยปี 2560 พบมากที่สุดถึง 80 ตัวอย่าง และปี 2561 แค่ไม่ถึงครึงปี พบ 27 ตัวอย่าง โดยพบไซบูทรามีนอย่างเดียว 115 ตัวอย่าง ที่เหลือพบผสมยาหรือสารอื่นๆเช่น Fluoxetine, Bisacodyl, Phenolphthalein, Orlistat, Caffeine และSildenafil การสำรวจฉลาก และกล่อง พบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม ตาม พ.ร.บ.อาหารจำนวน 81 ตัวอย่าง (ไม่ระบุ/ไม่มี/สวมเลขสารบบอาหาร, ชื่อที่อยู่ผู้ผลิตไม่มีหรือมีแต่ไม่ตรงกับที่ขออนุญาต) มีเพียง 54 ตัวอย่างที่ขึ้นทะเบียนอาหารถูกต้อง การเฝ้าระวังจากพื้นที่มีความสำคัญ ส่วนกลางต้อปรงะสานงานร่วมกัน จัดระบบข้อมูลระดับประเทศ ดำเนินการให้ทันการและรอบด้าน

ด้าน น.ส. สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มชื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถลดน้ำหนัก จำนวน 16 ยี่ห้อ จากห้างออนไลน์ 8 แห่ง ผลการตรวจสอบ พบไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้ง 6 ผลิตภัณฑ์ และยังคงพบว่ามีการขายในร้านค้าออนไลน์ ในขณะที่บางยี่ห้อ อย. ได้ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และยกเลิกเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว

ภก.จัตุพล กันทะมูล โรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีการปลอมปนไซบูทรามีนโรงพยาบาลปลวกแดง ในจังหวัดระยอง  ระหว่างปี 2559- 2561 พบผู้ป่วย 64 ราย อายุระหว่าง 18-68 ปี โดยพบมากายุ 31- 50 ปี  (ร้อยละ 50) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด คือ ใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ร้อยละ 56.8) รองลงมาคือ นอนไม่หลับ ฝันร้าย (ร้อยละ 28.5) และมีอาการที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ อาการคลุ้มคลั่งและหมดสติก่อนมาถึงโรงพยาบาล จากการติดตาม HPVC ของ อย. พบมีจำนวนรายงานในระบบน้อยกว่าความเป็นจริง เช่นข้อมูลจังหวัดระยองมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไซบูทรามีนเพียงแค่ 2 ราย มีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบการรายงานจากพื้นที่ให้เข้าใจการเฝ้าระวังเชิงรุกแบบบูรณาการ การประเมิน การรายงาน และประมวลภาพรวม

อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ให้ข้อมูลว่า ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักของไซบูทรามีน ได้ผลดีในช่วง 6 เดือนแรกหลังใช้ยา หลังจากนั้น ยาไม่สามารถลดน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น จากผลของที่ไซบูทรามีนเพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเสียชีวิตได้  นอกจากนี้พบผู้ป่วยโรคจิตเวชใช้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนอาจเกิดอันตรายมากมาย จึงควรมีการเร่งตามสืบค้นต้นตอของการกระจายและการใช้ผลิตภัณฑ์ปนปลอมไซบูทรามีนให้ครอบคลุมและเร่งด่วน

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีคำขอปรึกษาจากสถานบริการสุขภาพมายังศูนย์พิษวิทยา ระหว่างปี 2558-2560 ถึงอันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วน จำนวน 244 ราย ได้รับการตรวจยืนยันว่าพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ถึง 34 ราย (14%) เป็นอย่างน้อย เนื่องจากยังมีบางรายที่ไม่สามารถตรวจหาสารไซบูทรามีน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบมากกว่านี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังกรณีอันตรายจากไซบูทรามีนอย่างจริงจัง

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย  ได้ชี้ประเด็นว่าทางกฎหมาย ไซบูทรามีนยังคงมีสถานะเป็นยา เพราะเป็นการขอยกเลิกทะเบียนแบบสมัครใจ การขายยาควบคุมพิเศษในร้านขายยาอาจมีช่องโหว่ เรื่องการกระจาย ตัวอย่างเช่นสเตียรอยด์ นอกจากนี้ การนำไปปนปลอมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายทั้ง พรบ.อาหารและ พรบ.ยา อย่างไรก็ดี หากเปลี่ยนสถานะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ระบบควบคุมจะเข้มงวด และบทลงโทษ จะรุนแรงขึ้น ทั้งเรื่องการผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย