วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี “วันรู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย”

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

2015-11-18_antibiotic_awareness_day

“Antibiotic Awareness Day”  ปัญหาเชื้อดื้อยาเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยยังไม่รับรู้

วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวัน Antibiotic Awareness Day เนื่องจากมีปัญหาการใช้ยาต้านแบคทีเรียจนเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาทั่วโลก ถึงขั้นต้องมีการกำหนดวันขึ้นเพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ว่า “เกิดปัญหาการเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย

87 ปีก่อนหรือปี 2471 เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิ่ง ค้นพบยาเพนนิซิลิน ยาต้านแบคทีเรียชนิดแรกของโลก ซึ่งก่อนหน้านั้นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจัดเป็นโรคที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมนุษย์และยังไม่มียารักษาเฉพาะ ยาต้านแบคทีเรียเพนนิซิลิน จึงถือเป็นยาวิเศษในยุคนั้นที่สามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้มากมายในเวลานั้น  แต่ยาดังกล่าวก็ใช้ได้ผลดีอยู่เพียง 5 ปี  เพราะหลังจากนั้น ตัวเชื้อแบคทีเรียเองก็พัฒนาตัวเองหรือกลายพันธุ์เพื่อรับมือกับเพนนิซิลินเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังเป็นเรื่องโชคดีว่า ณ เวลานั้นวิทยาศาสตร์กำลังก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ จึงมีการวิจัยและผลิตยาต้านแบคทีเรียขึ้นเป็นจำนวนมากที่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด จนมีความเชื่อว่ามนุษย์เดินมาถึงยุคที่สามารถควบคุมโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียได้หมด

วัฏจักรของการ ‘ดื้อยา’ จากการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อและเกินความจำเป็น บวกกับตัวเชื้อแบคทีเรียเองก็พัฒนาตัวเองเช่นที่เคยเกิดขึ้น ถึงจะมีพยายามคิดค้นยาตัวใหม่ๆ ออกมา แต่สุดท้าย ก็วนกลับมาดังเดิม ในขณะที่มีการคิดค้นยาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ ๆ กลับประสบความสำเร็จน้อยมาก

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 7 แสนราย ซึ่งหากปล่อยให้สภาพปัญหานี้ดำรงอยู่ต่อไป ในปี 2593 คาดว่าจำนวนการเสียชีวิตจะสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3 พันล้านล้านบาท

สำหรับประเทศไทย มีการประมาณการว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อเหล่านี้ประมาณ 38,000 คน คิดเป็นความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันถึง 46,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่ายาที่ต้องนำมาใช้แต่ไม่ได้ผลปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท (ประเทศไทยมีการใช้ยาต้านจุลชีพสูงเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มยาที่ใช้ทั้งหมด สูงกว่ายารักษามะเร็งที่ถือว่าแพง)

ดูเหมือนสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยากำลังทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ ถึงกับมีนักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า “ในสงครามกับแบคทีเรีย มนุษย์กำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้” นายแพทย์เคอิจิ ฟุคุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปสำหรับความมั่นคงด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ก็พูดไว้ในทิศทางเดียวกันว่า “โลกเรากำลังมุ่งไปสู่ทิศทางยุคหลังยาต้านแบคทีเรีย (Post-antibiotic era) ซึ่งเป็นช่วงแห่งวันเวลาที่การรักษาโรคติดเชื้อด้วยยาต้านแบคทีเรียไม่ได้ผล

นอกจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา หรือ กพย. ยังรายงานว่า สถิติการเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 3 อันดับแรกเกิดจาก การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการใส่สายสวนหลอดเลือด การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการใส่สายสวนปัสสาวะ และอันดับสุดท้ายคือการติดเชื้อจากปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ  ด้วยเหตุนี้ ทาง กพย. ด้วยการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งทำงานด้านการสร้างตระหนักรู้ในการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดงาน ‘สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี พ.ศ. 2558’ ขึ้น ในวันที่ 24-26 พฤศจิกายนนี้ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน)

โดยในงานครั้งนี้จะมีการรายงานสถานการณ์การใช้ยาต้านแบคทีเรียในปัจจุบันให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ว่าคนไทยเรามีการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อและมากเกินจำเป็น จนก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น เกิดการแพ้ยา การใช้ยาที่สูญเปล่า เกินจำเป็น สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และนำไปสู่ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่รุนแรงตามมา

ในงานยังมีกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล มีการให้ความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้อง ทางเลือกเพื่อไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียทั้งในการดูแลตนเอง การป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ การใช้สมุนไพร เพื่อก่อให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรีย

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียเป็นปัญหาใหญ่มากในปัจจุบัน อัตราการดื้อยาเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ

“ตัวเร่งให้เกิดกลายพันธุ์คือการได้รับยาต้านแบคทีเรียเกินจำเป็น เช่น เมื่อเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัส แต่กลับกินยาต้านแบคทีเรียซึ่งไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส เท่ากับเป็นการใช้ยาไม่ตรงสาเหตุ เกินความจำเป็นมากขึ้น ก็ยิ่งเร่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ในด้านบุคลากรสาธารณสุขก็พบว่ามีใช้ยาไม่สมเหตุผลเช่นกัน แต่ปัญหาการดื้อยามิได้แสดงให้เห็นผลเสียในทันที  จึงทำให้คนมองไม่เห็นภาพปัญหาการดื้อยาในขณะนี้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน”

ประเด็นที่น่าวิตกสำหรับสังคมไทย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่าคือการแพร่ระบาดของยาต้านแบคทีเรียอย่างไร้การควบคุม เพราะสามารถหาซื้อได้ในร้านชำทั่วไป หรือตลาดนัด  ซ้ำยังมีการนำไปใช้ในการเกษตร เช่น ในหมู ไก่ กุ้ง ปลา หรือแม้แต่พืชอย่างส้มและมะนาว และเมื่อเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย ซึ่งในไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ยังกล่าวถึงงานสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี พ.ศ. 2558 ว่า นอกจากจะมีการพูดถึงสถานการณ์แล้ว ยังมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งต่างประเทศ ที่ทำงานในประเด็นนี้ร่วมกับ กพย. มาร่วมพูดคุยและหาแนวทางแก้ไข มีการเวิร์คช็อปการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นให้แก่ประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น และการเปิดตัวหนังสือดูแลสุขภาพอีกด้วย เพราะเชื่อว่าการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเฉพาะแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน

เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิ่ง กล่าวไว้เมื่อครั้งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ เมื่อปี 2488 ว่า เชื้อแบคทีเรียจะดื้อยา ถ้ามนุษย์ใช้ยาต้านไม่เป็นหรือไม่เหมาะสม

คำกล่าวเมื่อ 70 ปีก่อน วันนี้เป็นจริงแล้ว


ข้อมูลเพิ่มเติม