การประชุมวิชาการ เรื่อง บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรต่อชุมชน
วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ณ ห้องประชุมชั้น 10 อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นวันครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งการศึกษาและวิชาชีพเภสัชกรรม ของประเทศไทย ซึ่งในการนี้มีการเตรียมการจัดการประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) โดยสภาเภสัชกรรมมอบให้ ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) เป็นองค์กรรับผิดชอบประสานการจัดประชุม ต่อมามีการประสานกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม(มภส) ในการร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลักจัดงานประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย. 100 ปี เพื่อติดตามผลจากการประชุมสมัชชาและจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพเภสัชกรรมตามพันธกิจของเภสัชกรเพื่อสังคมในศตวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2557 – 2656)
กิจกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนความคิดเห็น การรับรู้ของประชาชนต่อวิชาชีพเภสัชกร และต่อระบบยา ประมวลและวิเคราะห์ประสบการณ์ และบทบาทของเภสัชกรที่มีต่อชุมชน ทั้งเชิงระบบและเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับอนาคตข้างหน้า ศตวรรษที่สองของวิชาชีพ
องค์กรร่วมจัดในครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.), หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม(วจภส) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, แผนงานเครือข่ายเภสัชศาสตร์ร่วมสร้างสุขภาพชุมชน (คภ.สสส.), สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ชมรมเภสัชชนบท และกลุ่มศึกษาปัญหายา
กิจกรรมในวันงาน ประกอบด้วย
ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และให้มุมมองบทบาทเภสัชกรว่าไม่ว่าจะทำงานในสายใดต่างก็มีบทบาทต่อชุมชนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้แต่ละสาขาจะต้องร่วมมือกัน ประสานงานกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ป่วยและชุมชน
จากนั้น ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประธานอนุกรรมการจัดงาน ชี้แจงวัตถุประสงค์และความเป็นมาของการประชุม
1. การอภิปราย “บทบาทเภสัชกรในการขับเคลื่อนนโยบาย การคุ้มครองผู้บริโภค และในองค์กรพัฒนาเอกชนต่อชุมชน” โดยมีประเด็นจากการวิพากษ์ คือ
(1) การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต้องคิดถึงจุดคานดีด คานงัด ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ให้มีผลกระทบเชิงนโยบาย ต้องมีงานวิจัยและพยานหลักฐาน (research and evidence) จัดลำดับความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย สร้างโจทย์วิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติ การจัดทำ action research
(2) เภสัชกรในภาคองค์กรเอกชนหากมีลักษณะเป็น NGO แบบ hydrid การเข้าถึงข้อมูล ทรัพยากรและบุคคล จะช่วยทำให้เกิดการทำงานอย่างได้ผล ตลอดจนต้องชี้ชัดให้ชัดว่าเป็นภาคพัฒนาหรือภาคขับเคลื่อน ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
(3) การปรับโครงสร้างบางอย่างให้เอื้อต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
(4) การปรับปรุงกฎหมาย พัฒนากฎหมายให้เอื้อต่อการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น และพัฒนาทางด้านห้องปฏิบัติการ ให้ช่วยเหลือเภสัชกรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกฟ้องร้อง
(5) การพัฒนาหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(6) เภสัชกรเป็นผู้รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของสังคม การกล้าวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบกันเอง อย่าจำกัดตัวเองเพียงแค่งานที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เต็มศักยภาพและเกินศักยภาพ ใช้งานวิจัยและพยานหลักฐานในการทำงาน การเจรจาต่อรอง ตลอดจนมองโลกให้กว้างและเชื่อมโยงกับประเด็นที่เราทำอยู่
(7) การแสดงบทบาทของนายกสภาเภสัชกรรมกับการเข้าถึงยาของประชาชน
(8) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีความก้าวหน้าในการบริหารจัดการตนเอง มีส่วนช่วยในการสร้างสุขภาวะของตนเอง ส่วนกลางต้องจำกัดบทบาทในประเด็นสำคัญ เช่น การขึ้นทะเบียนยา และเพิ่มบทบาทในส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนอุปกรณ์ให้มากขึ้น
(9) เพิ่มการทำงานในแนวราบ ไม่ทำงานในแนวดิ่งแบบราชการอย่างเดียว ต้องให้มีบทบาทตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีความคล่องตัวในการทำงาน ทำงานบนฐานความรู้ สร้างความเข้มแข็งหุ้มชน ใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นฐานในการขับเคลื่อน
2. การอภิปราย “บทบาทเภสัชกรในโรงพยาบาล ร้านยา และสถาบันการศึกษาต่อชุมชน”
2.1 บทบาทเภสัชกรในร้านยา โดยมีประเด็นจากการวิพากษ์ คือ
(1) ร้านขายยาต้องเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของหลักประกันสุขภาพให้มากขึ้น ส่งเสริมให้เภสัชกรได้ทำงานมากกว่าการอยู่ที่ร้านขายยาเพียงอย่างเดียว
(2) ควรแสดงให้เห็นว่าร้านขายยามีความสำคัญกับสังคมอย่างไร ต้องทราบความต้องการของชุมชน ต้องทราบประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของชุมชน ต้องรับฟังชุมชนให้มาก ประชาชนต้องสามารถดูแลตนเองได้
(3) ร้านยายังเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับคนไข้ เนื่องจากมีความสบายใจกว่าการไปพบแพทย์
(4) เพิ่มมูลค่าของวิชาชีพ เช่น การรู้จักชุมชนอย่างแท้จริง ความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคพื้นฐาน การรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพและต้องให้ร้านยาอยู่รอด รู้จักการบริหารจัดการร้านขายยา การเรียกว่าร้านขายยาทำให้นึกถึงแต่ภาพธุรกิจอย่างเดียว ควรเรียกว่าเป็นสถานบริบาลเภสัชกรรมชุมชน ร้านยาต้องเป็นระดับสถานพยาบาล
(5) การดูแลคนไข้ acute minor เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เภสัชกรต้องเป็นเจ้าภาพในการคัดกรอง screening เภสัชกรต้องมีบทบาทในการจัดการโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
(6) ระบบการเรียนการสอนต้องสามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องลองผิดลองถูกหลังเรียนจบและเริมทำงานจริง
(7) ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับยาชื่อสามัญ
(8) ควรวางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับร้านขายยาในชนบท ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงร้านยาได้
(9) เภสัชกรบางคนมีความไม่จริงใจ ไม่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อไม่อยู่ร้านขายยาแต่ไม่ปิดร้านกลับให้บุคคลอื่นขายยาแทน
2.2 บทบาทเภสัชกรในโรงพยาบาล โดยมีประเด็นจากการวิพากษ์ คือ
(1) ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถไปรับยาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลได้ จึงต้องปรับระบบไปส่งยาให้ผู้ป่วยเอง
(2) เภสัชกรในโรงพยาบาลและเภสัชกรในร้านยาต้องร่วมมือกันในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน
(3) ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการด้านยา
(4) การให้ประชาชนมีความรู้ด้านคุณภาพยา การพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
(5) เภสัชกรต้องมีความเข้าใจทั้งผลิตภัณฑ์และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์
(6) ต้องติดตามว่าผู้ป่วยเคยรับบริการที่ใดบ้าง มีประวัติการใช้ยาหรือการดูแลตนเองอย่างไร
(7) ให้เภสัชกรซึ่งยังไม่ได้ลงเยี่ยมชุมชน ได้ลงพื้นที่เพื่อปรับมุมมองวิธีคิดให้สามารถจัดหาระบบสนับสนุนชุมชนได้
2.3 บทบาทของเภสัชกรในสถาบันการศึกษา
(1) การเรียนการสอนควรวางแผน เน้นทำงานและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพ
(2) ควรให้มีการเรียนการสอนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ในหลักสูตรการศึกษา
(3) คิดแบบองค์รวม ปฏิบัติแบบแยกแยะ การทำงานเปรียบเสมือนลูกมะพร้าว ส่วนเปลือกหมายถึงประชาชนต้องดูแลตนเองได้ กะลาหมายถึงทุกวิชาชีพทำกันได้ เนื้อมะพร้าวหมายถึงเฉพาะแต่ละสาขา น้ำมะพร้าวหมายถึงผู้เชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพ