ความร่วมมือ “จากยุทธศาสตร์สู่การจัดการปัญหาสเตียรอยด์ในประเทศไทย”

ความร่วมมือ “จากยุทธศาสตร์สู่การจัดการปัญหาสเตียรอยด์ในประเทศไทย” ในการประชุม

“มหกรรมการจัดการปัญหายาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในระดับชาติ”

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.30 – 17.00 น. ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม.

page

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.มีกลไกการติดตามสเตียรอยด์ โดยมีระบบออนไลน์ตั้งแต่นำเข้า ผู้นำเข้าต้องแจ้งปริมาณและรายงาน เมื่อนำเข้ามาแล้วต้องขายให้เฉพาะผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน และผู้ผลิตจะต้องจัดทำรายงานการผลิต รายงานการขาย หากขายไปที่จังหวัดใด จังหวัดนั้นสามารถเปิดดูข้อมูลการขายได้ว่าร้านขายยาหรือสถานพยาบาลในจังหวัดนั้นซื้อสเตียรอยด์ไปในปริมาณเท่าใด และยังได้มีกฎกระทรวงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. 2555 กำหนดบังคับช่องทางการจำหน่ายไว้ด้วย ยังสามารถกำหนดสัญลักษณ์บนเม็ดยาได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถควบคุมปัญหาได้ ก็อาจจะกำหนดให้สเตียรอยด์จำหน่ายเฉพาะสถานพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น ซึ่งเดิมก่อนที่จะมีกฎกระทรวงฉบับนี้เรื่องช่องทางการจำหน่ายเป็นเรื่องความสมัครใจหรือขอความร่วมมือ แต่ตอนนี้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้แล้ว

ตอนนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยติดตามผู้ลักลอบนำวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ รวมถึงการนำไปขายให้โรงงานบางแห่งที่มีการขายนอกระบบ การขายให้กับผู้ไม่ประสงค์ดีที่นำไปผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ และจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะ บก.ปคบ. ถ้ามีการดำเนินการจับกุมแล้วพบว่าเป็นผู้รับอนุญาตจะมีการพักใช้ใบอนุญาตทั้งใบอนุญาตผลิตยาหรือใบอนุญาตขายยา และร่วมกับกรมศุลกากรจะดำเนินการเรื่องภาษีนำเข้าด้วย ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่ควบคุมและป้องกัน

 

            ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการจัดการสเตียรอยด์อย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งมีสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรมด้วยการส่งเสริม พัฒนา กำกับ สถานพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบโรคศิลปะให้มีคุณภาพมาตรฐานโดยอาศัยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบดำเนินการด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้รับบริการด้านสุขภาพจากสถานพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงภาคประชาชนโดยมีกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนซึ่งให้การสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งมีจำนวน อสม.ประมาณหนึ่งล้านสี่หมื่นคน ซึ่งในอนาคตจะกำหนดให้การเฝ้าระวังและจัดการปัญหาสเตียรอยด์เป็นบทบาทหนึ่งของ อสม.ในอนาคต

หากพบปัญหาการใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมในสถานพยาบาล หรือมีปัญหาในการรับการรักษาในสถานพยาบาล สามารถร้องเรียนได้ โดยแจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสทำแท้งเถื่อน หมอเถื่อน เปิดคลินิกเถื่อน ให้ข้อมูลข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านระบบบริการสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางสายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เลขหมายโทรศัพท์ 0-2193-7999

 

นายพันธ์ อ่อนเกลี้ยง ประธานชมรม อสม. ภาคใต้ กล่าวว่า  อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศขณะนี้ แต่ละคนรับผิดชอบ 10-15 ครัวเรือน งานนี้อาสาสมัครสาธารณสุขสามารถทำได้ถ้าได้รับมอบหมาย และมีความยินดีพร้อมมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหาสเตียรอยด์ในพื้นที่ร่วมกับทุกภาคส่วน หากกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้สนับสนุนหรือมีนโยบายที่ชัดเจนก็จะยิ่งทำให้การทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วที่สำคัญจะต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขในการคัดกรองทุกพื้นที่ด้วย

 

 ผศ.เนตรนภา ขุมทอง กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิหมอชาวบ้าน กล่าวว่า มูลนิธิหมอชาวบ้านมีวัตถุประสงค์ต้องการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้สามารถดูแลตัวเองได้เบื้องต้น สิ่งที่ทำก็มีการผลิตสื่อหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ได้ทำงานเป็นภาคีร่วมกับกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) ในการรณรงค์ใช้ยาให้เหมาะสม  มานานกว่า  20 ปี และประสบความสำเร็จร่วมกันหลายเรื่องในการผลักดันเชิงนโยบาย ที่เด่นมากคือเรื่อง การนำตัวยา “คาเฟอีน “ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ยาแก้ปวดเกิดการติดยาและนำไปสู่การเกิดโรคกระเพาะรุนแรง  ออกจากตำรับยาแก้ปวดได้สำเร็จ

ในครั้งนี้เช่นเดียวกันเรามูลนิธิหมอชาวบ้านได้ร่วมทำงานในฐานะภาคีเครือข่ายกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)  ภาคีเภสัชกรฯ และอื่นๆ ที่จะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักยาสเตียรอยด์และอันตรายของยานี้ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง ที่สำคัญคือการผลักดันในเชิงนโยบายทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หรือครบวงจรของการแก้ปัญหานั่นเอง

 

            ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังในระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาสูตรสเตียรอยด์หลายตัวดูไม่ออกว่าตัวไหนบ้างที่เป็นสเตียรอยด์ จึงต้องมีการจัดการบางอย่างเพื่อให้เห็นว่ายานี้มีเป็นสเตียรอยด์ จากการติดตามพบว่า มีการใช้ปริมาณสเตียรอยด์จำนวนมหาศาล โดยพบว่ามีการใช้เด็กซาเมทาโซนและเพรดนิโซโลนในปี 2550 มีการใช้มากที่สุดถึงจำนวน 853 ล้านเม็ด ปี 2556 มีการใช้ 737 ล้านเม็ด เฉลี่ยคนไทยใช้สเตียรอยด์อยู่ที่ 13.2 เม็ดต่อคนต่อปี ซึ่งยังไม่นับรวมการใช้ในยาชนิดทา มีการเติมสเตียรอยด์พบได้ทั้งในยาชุดซึ่งอาจมาจากร้านชำหรือร้านขายยา ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผลไม้ ยาแผนโบราณ ฯลฯ โดยใน 20 จังหวัดเครือข่ายที่ทำการสำรวจพบว่า แหล่งการกระจายสเตียรอยด์มักอยู่ในรถเร่ และวิทยุชุมชน เป็นจุดสำคัญที่ทั้งโฆษณาและขาย บางแห่งขายในวัดโดยมีพระเป็นผู้ขายให้ บางคลินิกมีรายงานการใช้ยาเป็นแสนเม็ด และต้องการสนับสนุนให้ อย.เอาจริงเอาจังและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต้องการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายที่ชัดเจนต่อ อสม. และขอฝากไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อผลิตชุดตรวจให้มีราคาที่ถูกลง

 

———-

แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) โทร.022188452, spr.chula@gmail.com