วิจัยพบยาปฏิชีวนะตัวการทำ’เด็กอ้วน’

มติชน ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หน้า 10

รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ประจำสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ขณะนี้เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโรคอ้วน และจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรค อ้วน คือ เด็กได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรกเกิด ถึง 1 ขวบ และจากการศึกษาอย่างจริงจังใน กลุ่มเด็กอนุบาล ก็พบว่าสาเหตุหลักมาจากในร่างกายของคนเรามีส่วนประกอบของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสัดส่วนของเซลล์มนุษย์ประมาณร้อยละ 99 ในขณะที่เซลล์มนุษย์ในร่างกายมีประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น โดยเฉพาะในลำไส้

“จากการทำวิจัยในระดับยีนของต่างประเทศ เพื่อหาว่ายีนของคนอ้วนและคนผอม มียีนของเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกันอย่างไรนั้น ผลวิจัยพบว่าเชื้อแบคทีเรียของคนอ้วนและคนผอมต่างกันมาก ซึ่งแบคทีเรียที่พบก็มีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในหนู พบว่าหนูที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีระดับไขมันมากกว่าหนูที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ” รศ.พญ.วารุณีกล่าว และว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว ประเทศไทยควรมีความตระหนัก รวมถึงนำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่เมื่อพาบุตรไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรค มักจะคาดหวังและขอยาปฏิชีวนะจากแพทย์

รศ.พญ.วารุณีกล่าวว่า ยาปฏิชีวนะมีผลทั้งในระยะยาวและระยะสั้น โดยระยะสั้นจะมีผลกับทุกช่วงอายุ ฉะนั้นหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ส่วนในระยะยาว นอกจากเด็กจะมีภาวะอ้วนแล้ว ยังอาจทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ และหอบหืดได้