กพย. สสส. นิเทศ นิด้า มอบรางวัลประกวด “เต้น ต่อ ต้าน” เชื้อดื้อยา


กพย. สสส. คณะนิเทศศาสตร์ นิด้า จัดพิธีมอบรางวัลการประกวด “เต้น ต่อ ต้าน” เชื้อดื้อยา หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ลดปัญหาเชื้อดื้อยา


30 มีนาคม 2562 ที่ ห้องยุคลธร โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานพิธีมอบรางวัลการประกวด “เต้น ต่อ ต้าน” เพื่อการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล

ผศ.ดร.พรพรรณ  ประจักษ์เนตร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวว่า คณะนิเทศฯ นิด้า ได้รับการสนับสนุนจาก กพย. ในการจัดทำโครงประกวดเต้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ในชื่อ “เต้น ต่อ ต้าน” เชื้อดื้อยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะเมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องกินยา เพียงแค่ดูแลตัวเองให้ถูกต้องก็สามารถหายเองได้ โดยต้องการเน้นให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในเรื่องนี้ จึงใช้การเต้นเป็นตัวกลางในการสื่อสาร

“ครั้งนี้ได้นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังอย่าง คุณนราธิป ปานแร่ มาแต่งเพลง “อย่าพึ่ง” เพื่อให้ผู้ประกวดใช้เต้นประกอบ โดยถ่ายคลิปการเต้นประกอบเพลงและส่งเข้ามา ทีมงานได้อัพโหลดคลิปทั้งหมดขึ้นไปยังเฟซบุ๊ค Antibiotc Awareness Thailand มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 40 ทีม โดยรางวัลที่ 1 และ 2 กรรมการผู้จัดประกวดได้พิจารณาคัดเลือกทีมที่โดดเด่นที่สุด ส่วนคลิปที่ มียอดไลค์ ยอดแชร์และคอมเมนต์สูงสุดจะได้รางวัลยอดนิยม มีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 20,000 บาท” ผศ.ดร.พรพรรณ กล่าว


ทีม RYG DANCE คว้ารางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 10,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศได้แก่ทีม The Wonder รับเงินรางวัล 8,000 บาท

ทีม The Wonder ได้รับรางวัลยอดนิยม รางวัลชมเชย ได้แก่ทีม Mini Power Dance ทีม บูรกา (BURAKA) และทีม ชาดำ&ชามะนาว

สำหรับผลการประกวด รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ทีม RYG DANCE
รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 8,000 บาท ได้แก่ทีม The Wonder รางวัลยอดนิยม (ตัดสินจากยอดไลค์ แชร์ และคอมเมนต์สูงสุด) เงินรางวัล 5,000 บาท ได้แก่ “น้องไอริน กับ น้องนาขวัญ” รางวัลชมเชย 3 รางวัลได้แก่ทีม Mini Power Dance ทีม บูรกา (BURAKA) และทีม ชาดำ&ชามะนาว

รศ.ภญ.ดร.ธิติมา เพ็งสุภาพ รองผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า กพย. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ในการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียอย่างเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564