ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. (ฉบับมติคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม 2558)

แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)
เอกสาร 16 ธันวาคม พ.ศ.2558

 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 (ร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2558 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแล้ว (ร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2558) ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทราบ หากมีความเห็นเพิ่มเติมให้แจ้งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน และกรณีมีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นนัยสำคัญ ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง กรณีที่เห็นชอบด้วยหรือมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นนัยสำคัญ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอสภานิติบัญญัติห่างชาติต่อไป

สาระสำคัญ

  1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

มีข้อยกเว้นที่ไม่ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้  ดังต่อไปนี้

(1) การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง

ข้อสังเกต
ตัดข้อความ “ที่มีลักษณะเป็นการผลิต หรือจำหน่าย หรือบริการเพื่อหารายได้” ตามร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ออกไป

(2) การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการทางทหารโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของต่างประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อสังเกต เพิ่มข้อความจากร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 โดยเพิ่ม “หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของต่างประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” นอกจากนี้ถ้าเป็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และบริการทางทหารกับหน่วยงานหรือผู้ประกอบการภายในประเทศต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(3) การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาหรือการจ้างที่ปรึกษาที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

ข้อสังเกต เพิ่มข้อความจากร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558

(4) การดำเนินการโดยใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(5) การดำเนินการโดยใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือนั้นร่วมกับเงินงบประมาณซึ่งจำนวนเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือที่ใช้นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ข้อสังเกต ข้อ (4) และ(5) ถ้าเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 6 ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างด้วย เข้าใจว่าผู้ให้กู้หรือเงินช่วยเหลืออาจมีเงื่อนไขให้ซื้อสินค้าหรือบริการจากตนจึงต้องออกข้อยกเว้นนี้ไว้ไม่ให้ต้องเข้าแข่งขันเหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น

นอกจากนี้ยังได้ตัดข้อยกเว้น “องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ” ออกไป  เข้าใจว่าหน่วยงานส่วนหนึ่งไม่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลและมีอำนาจตามพระราชบัญญัติในการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพัสดุของหน่วยงานอยู่แล้ว จึงนำไปซ่อนรวมไว้ในคำว่า “หน่วยงานอื่นของรัฐ” ตามร่างมาตรา 6 วรรคสองแทน

  1. กำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ กำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ ความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ข้อสังเกต กรณีป้องกันการมีส่วนได้เสีย เช่น ผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาในงานนั้น (ร่างมาตรา 13) คณะกรรมการนโยบายจะเข้าร่วมประชุมหรืออกคะแนนเสียงไม่ได้ (ร่างมาตรา 24 วรรคสี่)กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดผิดพลาดเพียงเล็กน้อย และไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นไม่เสียไป (ยังใช้ได้ ตามร่างมาตรา 14) การกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามร่างมาตรา 62 ต้องติดตามว่าสามารถกำหนดเงื่อนไขได้มากน้อยเพียงใด เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้ผู้เสนอราคา ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการไปตรวจสอบความถูกต้องของผลงานในการประกวดราคา หากไม่เพิ่มภาระให้กับผู้เสนอราคาจนสมควร (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.220/2549
  1. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กำหนดให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐข้อสังเกต ควรจะต้องติดตามต่อไปว่าหากประชาชนตรวจพบการเข้าข่ายการทุจริตแล้วมีการเผยแพร่ข้อมูลเกิดขึ้น จะมีมาตรการป้องกันประชาชนอย่างไรให้รอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อเป็นการปิดปากประชาชน
  1. คณะกรรมการตามร่างพระราชบัญญัติ กำหนดคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นประธานกรรมการ) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการชุดที่เหลือมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน)ข้อสังเกต ผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเท่านั้น ซึ่งหากไม่พอใจการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (ร่างมาตรา 112)
  1. หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง กำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีอำนาจหน้าที่ ในการดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุ รวบรวม วิเคราะห์ และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย และจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐตามหลักวิชาชีพข้อสังเกต การสนับสนุนการพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง และการยกระดับอาชีพ เช่น กรมบัญชีกลางมีหน้าที่จัดฝึกอบรม (ร่างมาตรา 49 วรรคแรก) ส่วนข้อความ “เจ้าหน้าที่ผู้ดำรงตำแหน่งที่มาตรฐานการกำหนดตำแหน่งกำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด” ตามร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 มาตรา 48 วรรคสอง ได้ถูกตัดทิ้งไม่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2558 (ซึ่งควรจะอยู่ในร่างมาตรา 49 วรรคสอง)
  1. กำหนดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
    6.1 การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และให้ประกาศเผยแพร่แผนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง6.2 วิธีการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างที่ปรึกษา ให้กระทำได้ 3 วิธี ได้แก่ (1) วิธีประกาศ เชิญชวนทั่วไป (2) วิธีคัดเลือก (3) วิธีเฉพาะเจาะจง ส่วนวิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ วิธีประกวดแบบข้อสังเกต เดิมแต่ละวิธีมีเงื่อนไขในการใช้ดังนี้

    1) วิธีตกลงราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาไม่เกิน 1 แสนบาท
    2) วิธีสอบราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
    3) วิธีประกวดราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาเกิน 2 ล้านบาท
    4) วิธีพิเศษ ได้แก่ การซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 1 แสนบาท และเป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน หรือเป็นพัสดุที่ใช้ในราชการลับ หรือเป็นพัสดุที่มีความต้องการใช้เพิ่ม (repeat order) ในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเป็นพัสดุที่จำเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ หรือดำเนินการโดยองค์การระหว่างประเทศ หรือกรณีเป็นงานจ้าง เป็นงานที่ต้องจ้างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญพิเศษ และเป็นงานซื้อหรือจ้างที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี
    5) วิธีกรณีพิเศษ ได้แก่ การซื้อการจ้างจากส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ
    6) วิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การซื้อการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

    6.3 การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้พิจารณาคุณภาพประกอบราคาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่การจะใช้เกณฑ์ใดและให้น้ำหนักในแต่ละเกณฑ์เท่าใด ต้องมีการประกาศให้ทราบเป็นการล่วงหน้าในประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง

    ข้อสังเกต การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอพัสดุ ถ้าเลือกใช้หลายเกณฑ์ประกอบกับเกณฑ์ราคาต้องกำหนดน้ำหนักแต่ละเกณฑ์ให้ชัดเจน แต่ถ้าใช้เกณฑ์เดียวต้องใช้เกณฑ์ราคา (ร่างมาตรา 65)

    6.4 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการก่อสร้างต้องขึ้นทะเบียน กับกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรืออาจจะเพิ่มการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอื่นได้

    6.5 การรวมซื้อรวมจ้าง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดอาจดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างพัสดุให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ๆ ก็ได้ ภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและคู่สัญญา

    ข้อสังเกต หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง อาจดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นๆ ก็ได้ ตามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้จัดซื้อกับผู้จัดจ้างกับคู่สัญญา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด (ร่างมาตรา 58)

    6.6 การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การจัดทำประกาศเชิญชวน การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอ การประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาและการแก้ไขสัญญา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ

    ข้อสังเกต

    (1) ข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ เช่น การประกาศผลผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างและเหตุผลสนับสนุน (ร่างมาตรา 66) การเผยแพร่สาระสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ลงนามแล้ว รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือข้อตกลง (ร่างมาตรา 96) การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการดำเนินการตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 10) อย่างไรก็ตามได้มีการตัดข้อความ “ผู้สังเกตการณ์ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด นอกจากรายงานให้คณะกรรมการความร่วมมือทราบแล้วให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วย (ร่างมาตรา 16 วรรคสาม)” ออกจากร่างฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ไม่ปรากฏในร่างฉบับวันที่ 1ธันวาคม พ.ศ.2558 ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีประกาศกำหนดเพิ่มเติมหรือไม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานต่อสาธารณชน)

    (2) ข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นข้อมูลทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียบเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกันต่อผู้ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น หรือต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น (ร่างมาตรา 11 ตอนต้น)

  1. การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ โดยผลการประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกระงับการยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
  1. ผู้ประกอบการสามารถร้องเรียนหน่วยงานของรัฐได้ กรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และหากผู้ประกอบการไม่พอใจผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนต่อไปได้อีก
  1. กำหนดบทกำหนดโทษ กำหนดโทษทางอาญาสำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 40,000-400,000 บาท โดยให้ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาข้อสังเกต เดิมไม่มีความชัดเจนเรื่องบทกำหนดโทษ ซึ่งกำหนดไว้เพียงกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับการกระทำความผิดนั้น และหากการกระทำความผิดนั้น เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้ 

สิ่งที่น่าสนใจของร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ….

  1. หลักการ ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการ “ความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้” ต้องขึ้นกับว่าจะใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใด กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อนมีร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็สามารถแสดงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยอาศัยช่องทางตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 หรือสามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดโดยอาศัยช่องทางประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ปัญหาตามกฎหมายที่มีอยู่ที่ผ่านมาก็อ้างเรื่องความลับของทางราชการ ความลับทางการค้า เพื่อเป็นเหตุไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล
  1. ลืมเรื่อง “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” ไปได้ เนื่องจากมีนโยบายมาว่า “นักลงทุนต่างประเทศต้องการอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการเข้าร่วมประมูลการลงทุนในโครงการต่างๆของทุกส่วนราชการ”  จากเดิมให้ส่วนราชการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศหรือเป็นกิจการของคนไทย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 16(2) ในกรณีพัสดุที่ต้องการซื้อประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว ให้กำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือเพื่อความสะดวกจะระบุเฉพาะหมายเลขมาตรฐานก็ได้
  1. ไม่ต้องคำนึงเรื่องราคากลางนัก ขอแค่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ เนื่องจากใช้เกณฑ์การให้คะแนนหลายด้านประกอบกันตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 65
เกณฑ์ ข้อสังเกต
ต้นทุนพัสดุตลอดอายุการใช้งาน ประเด็นนี้สะท้อนเรื่องความคุ้มค่าในการจัดซื้อ
มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ ระวังการการกำหนดมาตรฐานที่สูงหรือเฉพาะเจาะจงเกินไป จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้
บริการหลังการขาย เดิมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่มีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าสามารถทำได้ (เพื่อให้การใช้พัสดุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค)
พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เดิมให้ส่วนราชการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศหรือเป็นกิจการของคนไทย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 16(2) ในกรณีพัสดุที่ต้องการซื้อประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว ให้กำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือเพื่อความสะดวกจะระบุเฉพาะหมายเลขมาตรฐานก็ได้
การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ตามร่างพระราชบัญญัติ ในหมวด 11 1. สิ่งที่ใครก็ทำได้ อย่ากำหนดเงื่อนไขโดยไม่จำเป็น (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.233/2552)

2. ระวังเรื่องการตัดสิทธิผู้เสนอราคาล่วงหน้าเนื่องจากผลงานที่ไม่ดีในอดีต (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.221/2548)

ราคา
ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น ในกรณีที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่นก่อน ข้อนี้เพิ่มเติมขึ้นมาจากร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ข้อความนี้เป็นเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกและเกณฑ์การให้น้ำหนักของแต่ละเกณฑ์ในประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้ายื่นข้อเสนอ
เกณฑ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เรื่องราคากลาง จะเป็นแค่เกณฑ์หนึ่งสำหรับเปรียบเทียบหรือให้คะแนนเท่านั้น การจัดซื้อจัดจ้างไม่จำเป็นต้องซื้อให้เท่ากับหรือต่ำกว่าราคากลาง จะซื้อสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้าม แม้ว่าราคาที่ซื้อจะสูงกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในท้องตลาดหรือในท้องถิ่น (มีส่วนต่างด้านราคา) ก็ไม่จำเป็นต้องต่อรองราคา ขอเพียงแต่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น เนื่องจากหากเกินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานของรัฐสามารถประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ ตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 67(1)

  1. ระบุยี่ห้อสิ่งที่จัดซื้อได้เพียงใด ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. (ฉบับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2558) ห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะของพัสดุให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ เว้นแต่พัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามวัตถุประสงค์นั้นมียี่ห้อเดียวหรือจะต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใดก็ให้ระบุยี่ห้อนั้นได้ (ร่างมาตรา 10)

ข้อสังเกต เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีส่วนราชการจำเป็นต้องระบุชื่อสิ่งของ ก็ให้ระบุชื่อยี่ห้อสิ่งของนั้น ๆ ได้ แต่ต้องให้มากยี่ห้อที่สุดเท่าที่จะสามารถระบุได้ (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.313/2554) ต้องพิจารณาว่าสามารถนำมาใช้ในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด

  1. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในภาครัฐ

5.1 องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเข้าแข่งขัน

เมื่อมีการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. แล้วระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ถูกยกเลิก ตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 3 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ จากเดิมให้จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 61 หรือถ้าองค์การเภสัชกรรมมิได้เป็นผู้ผลิต แต่มีจำหน่าย ส่วนราชการจะจัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือผู้ขายหรือผู้ผลิตรายใดก็ได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 62 คือ หากจัดซื้อโดยวิธีสอบราคาหรือประกวดราคา ให้ส่วนราชการแจ้งให้องค์การเภสัชกรรมทราบด้วยทุกครั้ง และถ้าผลการสอบราคาหรือประกวดราคาปรากฏว่า องค์การเภสัชกรรมเสนอราคาเท่ากันหรือต่ำกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ให้ส่วนราชการซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือหากมีการจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ให้ซื้อในราคาที่ไม่สูงกว่าราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากมีการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ….  องค์การเภสัชกรรมจะอยู่ในฐานะเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น คือ ต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันกับผู้ประกอบการซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการด้านยาจากต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย ด้วย

5.2 การซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม

ไม่มีการบังคับให้ซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมอีกต่อไป ไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นตามร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. มาตรา 7 สำหรับการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะไม่ครอบคลุมเงื่อนไขตามร่างกฎหมายดังกล่าว

หากอ้างว่าสามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมได้ โดยอ้างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. มาตรา 65 ซึ่งเป็นเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าจะเป็น “พัสดุที่ต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน” ก็ต้องออกกฎกระทรวงอีกครั้ง แต่ทิศทางของกฎกระทรวงนี้จะเน้นไปที่พัสดุที่สร้างนวัตกรรม อนุรักษ์พลังงานหรือสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่า อีกทั้งเกณฑ์ในร่างมาตรา 65 นี้ เป็นแค่เพียงเกณฑ์ให้คะแนนเกณฑ์หนึ่งเท่านั้น

หรืออาจต้องผลักดันยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ตามร่างมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบร่างมาตรา 56(1)(ซ) และร่างมาตรา 56(2)(ซ) ซึ่งจะทำให้ใช้วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อจัดจ้าง

5.3 การจัดซื้อในกรณีฉุกเฉิน

หากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ร่างพระราชบัญญัติฯนี้กำหนดให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อพัสดุได้ ตามร่างมาตรา 56(2)(ง)


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535

การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์

ข้อ 60  การซื้อยาของส่วนราชการ ให้จัดซื้อตามชื่อสามัญ (GENERIC NAME) ในบัญชียาหลักแห่งชาติตามที่คณะกรรมการแห่งชาติทางด้านยากำหนด โดยให้ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เว้นแต่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

ข้อ 61  การซื้อยา และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เช่น ผ้าก๊อส สำลี หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา เฝือก วัสดุทันตกรรม ฟิล์มเอกซเรย์ และเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตออกจำหน่ายแล้วให้จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม นอกจากส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้จัดซื้อจากโรงงานเภสัชกรรมทหาร ส่วนกรมตำรวจจะซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือโรงงานเภสัชกรรมทหารก็ได้ โดยให้ดำเนินการด้วยวิธีกรณีพิเศษ  แต่ ทั้งนี้ ราคายาที่องค์การเภสัชกรรมหรือโรงงานเภสัชกรรมทหารจำหน่ายต้องไม่สูงกว่า ราคากลางของยาชื่อสามัญเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกินร้อยละ 3

ข้อ 62  การซื้อยาตามชื่อสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาซึ่งองค์การเภสัชกรรมมิได้เป็นผู้ผลิต แต่มีจำหน่าย ส่วนราชการจะจัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือผู้ขายหรือผู้ผลิตรายใดก็ได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้

(1) การจัดซื้อโดยวิธีสอบราคาหรือประกวดราคา ให้ส่วนราชการแจ้งให้องค์การเภสัชกรรมทราบด้วยทุกครั้ง และถ้าผลการสอบราคาหรือประกวดราคาปรากฏว่า องค์การเภสัชกรรมเสนอราคาเท่ากันหรือต่ำกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ให้ส่วนราชการซื้อจากองค์การเภสัชกรรม

(2) การจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ให้ซื้อในราคาที่ไม่สูงกว่าราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ข้อ 63  ในกรณีที่มีกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ความสนับสนุนให้ซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาจากหน่วยงานใด ก็ให้ส่วนราชการจัดซื้อยา หรือเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาจากหน่วยงานดังกล่าวได้ โดยวิธีกรณีพิเศษด้วย

ข้อ 64  ให้กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่แจ้งเวียนบัญชียาหลักแห่งชาติตามที่คณะกรรมการแห่งชาติทางด้านยากำหนด พร้อมทั้งราคากลางของยาดังกล่าว และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทราบ กับให้องค์การเภสัชกรรมแจ้งรายการยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตได้หรือมีจำหน่ายให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบด้วย


กรณีศึกษาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในต่างประเทศ[1]

(1) อินเดีย

ประเทศกำลังพัฒนาใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการจัดซื้อสินค้าภายในท้องถิ่น การใช้สิทธิพิเศษด้านราคา (price preference)  หรือมีมาตรการพิเศษ

อินเดียมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกือบร้อยละ 13[2] ในขณะที่มีการประมาณว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั่วโลกโดยทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 25-30 ของจีดีพี[3]  ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของอินเดีย มากกว่าร้อยละ 50 เป็นเรื่องการป้องกันประเทศ ทางรถไฟ การสื่อสาร เป็นเรื่องด้านสุขภาพร้อยละ 26[4] หากเจาะเฉพาะเรื่องการจัดซื้อยาเป็นเงินถึงร้อยละ 0.1 ของจีดีพี[5]

ศาลฎีกาของอินเดียได้เคยตัดสินเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งพอเป็นแนวหลักในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น ต้องมีความสอดคล้องกัน (conformity) ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจจะต้องมีการบันทึกบทพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีความจำเป็นเหมาะสม เจ้าหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีอำนาจหน้าที่หรือได้รับมอบหมาย ต้องมีความยุติธรรม นอกจากนี้ General Financial Rules, 2005 (GFR)[6] ข้อ 137, 160, 161 ยังกำหนดกิจกรรมในการจัดซื้อจัดจ้างต้องนำไปสู่ความมีประสิทธิผล คุ้มค่า และโปร่งใส ยุติธรรม เสมอภาค ส่งเสริมการแข่งขันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ[7] กรณีฉุกเฉินหากมีการตัดสินใจซื้อสินค้าจะต้องมีบันทึกเกี่ยวกับการตัดสินใจและให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจรับรอง[8] นอกจากนี้อินเดียได้มีการให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยการให้สิทธิพิเศษด้านราคา (price preference) ร้อยละ 5-15 สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

ประเด็นกังวลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของอินเดียเมื่อมีการตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป กล่าวคือ หากมีการยอมรับข้อตกลงนี้จะมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านทางรถไฟ พลังงาน สื่อสาร การก่อสร้าง ด้านสุขภาพ ซึ่งจะผูกพันถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บางเรื่องยังเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ หากมองถึงการเข้าถึงตลาด เมื่อมองกลับกันถึงการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสหภาพยุโรปทำได้ยาก เนื่องมาจากสหภาพยุโรปได้มีการใช้วิธีกีดกันอย่างอื่น เช่น การใช้มาตรฐานที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถกระทำตามมาตรฐานได้ เงื่อนไขการเจรจาของสหภาพยุโรปที่ให้ตัดข้อความที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ผลิตภายในประเทศก่อนออกไปจากข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอาจจะต้องกำหนดชดเชยให้มีการชดเชยสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นซึ่งไม่ได้ทำสัญญากับภาครัฐ นอกจากนี้หากอินเดียได้ตกลงอย่างไรกับสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นที่ต้องการเจรจาการค้าเสรีจะต้องการทำสัญญาในลักษณะเดียวกันด้วยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เลือกปฏิบัติ[9]

อินเดียได้มีร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า The Public Procurement Bill, 2012 (Bill No. 58 of 2012) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอในรัฐสภา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.2012 ซึ่งจะใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในส่วนกลางทุกส่วน, Public Sector Undertakings และองค์กรในความควบคุมหรือสนับสนุน แต่กฎหมายนี้ได้มีข้อยกเว้นไม่ใช้กับการจัดซื้อที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 ล้านรูปี (fifty lakh rupees) หรือมีมูลค่าสูงกว่าซึ่งจะต้องประกาศกำหนดชั้นประเภทของการจัดซื้อจัดจ้าง (เดิม General Financial Rules, 2005 กำหนดไว้ที่มูลค่า 1 ล้านรูปี) ไม่ใช้บังคับกับการจัดซื้อตามความจำเป็นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ตามรัฐบัญญัติการจัดการภัยพิบัติ ค.ศ.2005[10] การจัดซื้อที่มีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้หลักเกณฑ์วิธีการเป็นไปตามที่รัฐบาลกลางกำหนด

หลักเกณฑ์พื้นฐานด้านการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีประสิทธิผล คุ้มค่า โปร่งใส มีความยุติธรรม มีแนวประมูลที่เป็นธรรม ส่งเสริมการแข่งขัน  ราคาประมูลที่ได้ต้องสมเหตุผลและมีคุณภาพเป็นที่ต้องการ มีกลไกป้องกันการทุจริต[11]

หากพิจารณาความแตกต่างของร่างกฎหมาย The Public Procurement Bill, 2012 ฉบับนี้กับ United Nations Commission on International Trade Law’s model procurement law (UNCITRAL Law)[12] และ World Trade Organisation’s Agreement on Government Procurement (GPA) จะพบว่า[13]

(1) ยังมีจุดต่างตรงที่ UNCITRAL ใช้กับการจัดซื้อสาธารณะทุกรายการ และ GPA เป็นไปตามที่ตกลง แต่ The Public Procurement Bill, 2012 ยังมีขอบเขตแค่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในส่วนกลางทุกส่วน, Public Sector Undertakings และ องค์กรในความควบคุมหรือสนับสนุน

(2) ข้อยกเว้นของการจัดซื้อ UNCITRAL ให้เป็นไปตามข้อตกลง ส่วน GPA ยกเว้นการจัดซื้อที่ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่กำหนด และการช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ The Public Procurement Bill, 2012 ได้มีการยกเว้นในกรณีภัยพิบัติ ดังนั้น หากมีการเจรจา จะต้องมีการตกลงในส่วนข้อยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย

(3) การตีพิมพ์การประกวดราคา ใน The Public Procurement Bill, 2012 กำหนดแสดงบนเว็บไซต์หรือตามที่กฎหมายลำดับรองกำหนด ส่วน UNCITRAL และ GPA ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

รัฐสภาสหภาพยุโรปได้มีรายงานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.2011 ว่าได้เชิญชวนให้อินเดียเห็นด้วยกับการรวมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการเจรจาการค้าเสรี เพื่อให้อินเดียมีความโปร่งใส ยุติธรรม และเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจจากสหภาพยุโรปเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้[14]

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.2013 รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับอินเดีย จะไม่นำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเข้าไปเจรจาด้วย แต่หากจะให้เจรจาบนพื้นฐานของ The Public Procurement Bill, 2012 หากร่างกำหมายฉบับนี้ถูกประกาศเป็นกฎหมายเมื่อใด สมาชิกสหภาพยุโรปตลอดจนประเทศอื่นก็สามารถมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ เนื่องจากไม่ได้กีดกันเรื่องสัญชาติของผู้ผลิต ไม่ได้จำกัดการมีส่วนร่วมในการเข้าประมูลหรือการประกวดราคา เว้นแต่ว่าเพื่อคุ้มครองการความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาและความมั่นคงของชาติ[15]

(2) แคนาดา

การเจรจาการค้าของสหภาพยุโรปกับแคนาดามีเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าถึงตลาดการจัดซื้อภาครัฐของแคนาดา ซึ่งมีทั้งในระดับรัฐ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาล ทั้งนี้สหภาพยุโรปต้องการขจัดการจัดซื้อที่เลือกปฏิบัติโดยการจัดซื้อจากผู้ผลิตในท้องถิ่นก่อน ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตในท้องถิ่นเพื่อจัดทำรถรางใต้ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติพลังงานสีเขียว (Green Energy Act) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า แคนาดามีนโยบายสนับสนุนการซื้ออาหารในท้องถิ่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในระหว่างเทศบาล เทศบาลหลายแห่งในแคนาดามีนโยบายที่จะปฏิเสธการสั่งซื้อได้แม้ว่าสิ่งที่ผู้เสนอราคามานั้นจะเป็นราคาที่ต่ำสุดก็ตาม หากพิจารณาถึงการจ้างงานในท้องถิ่น ภาษี และผลประโยชน์อื่นที่จะได้รับโดยชั่งน้ำหนักกับประโยชน์จากความแตกต่างด้านราคา

แคนาดามีแนวโน้มที่จะขจัดเรื่องการเลือกปฏิบัติในการจัดซื้อนี้ดังจะเห็นได้จากการทำข้อตกลงระหว่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกาด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อ ค.ศ.2010[16]

ทั้งแคนาดาและสหภาพยุโรปต่างลงนามใน World Trade Organisation’s Agreement on Government Procurement (GPA) แต่มีจุดต่างกันคือ สหภาพยุโรปยอมรับความครอบคลุมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในระดับหน่วยงานรัฐบาลกลาง หน่วยงานรัฐบาลกลางระดับรองลงมา (sub-central government entities) หน่วยงานอื่นซึ่งจัดซื้อตามแนวทางของความตกลง แต่แคนาดาไม่ยอมรับความครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในหน่วยงานรัฐบาลกลางระดับรองลงมา

ในความตกลง GPA นี้ ประเด็นที่แคนาดาและสหภาพยุโรปมีความเห็นร่วมกัน คือ ไม่ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างใน

  • สินค้า บริการ และบริการก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดใน GPA
  • สินค้าด้านการทหาร
  • สินค้า บริการและการก่อสร้าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการช่วยเหลือจากนานาประเทศและโครงการความร่วมมือ
  • รางรถไฟในเมืองและการขนส่ง
  • การวิจัยและการพัฒนา

ประเด็นที่แคนาดาและสหภาพยุโรปมีความเห็นต่างกันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ สหภาพยุโรปไม่ใช้กับการศึกษา สุขภาพ และบริการทางสังคม (education, health and social services) ในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในข้อตกลง GPA ในส่วนของรัฐบาลกลางแคนาดาได้ยอมการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงสาธารณสุข, Public Health Agency of Canada, การจัดหาเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือทันตแพทย์ เครื่องมือสัตวแพทย์ แต่แคนาดาไม่ใช้กับการจัดซื้อหน่วยงานรัฐบาลกลางระดับรองลงมา การจัดซื้อสินค้า บริการ และบริการก่อสร้างของสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การต่อเรือและการซ่อมเรือ บริการขนส่ง การขุดลอก เครื่องมือสื่อสารบางรายการ เครื่องมือสารสนเทศ บริการอรรถประโยชน์ (utilities services) การพิมพ์ การโฆษณา และบริการวิจัยความเห็นต่อสาธารณะ[17]

ตัวอย่างข้อตกลงที่สหภาพยุโรปต้องการให้การตกลงจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ หากเป็นการจัดซื้อในรัฐบาลกลาง ใช้บังคับเมื่อมูลค่าขั้นต่ำ 130,000 SDR และให้ครอบคลุมหน่วยงานดังต่อไปนี้[18]

  • Bank of Canada
  • NAV Canada (air traffic control)
  • Canadian Intergovernmental Conference Secretariat
  • Marine Environmental Data Services
  • Marine Navigation Services
  • Infrastructure Canada
  • National Art Centre
  • Office of the Prime Minister of Canada
  • International Trade Canada
  • Receiver General Canada
  • Veterans Review and Appeal Board
  • Canadian Environmental Assessment Agency
  • House of Commons
  • Senate of Commons
  • Courts Administration Service
  • Competition Bureau
  • Elections Canada
  • Canada Firearms Centre
  • Canada Council
  • Canada Firearms Centre
  • Canada Industrial Relations Board
  • Canada School of Public Service
  • Canadian Artists and Producers Professional Relations Tribunal
  • Canadian Forces Grievance Board
  • Canadian Grain Commission
  • Canadian Human Rights Tribunal
  • Canadian Institutes of Health Research
  • Canadian Secretariat
  • Canadian Security Intelligence Agency
  • Canadian Space Agency
  • Canadian Wheat Board
  • Communication Canada
  • Courts Administration Service
  • Emergency Preparedness Canada
  • Financial Consumer Agency of Canada
  • Financial Transactions and Reports Analysis Centre of Canada
  • International Joint Commission (Windsor)
  • Law Commission of Canada
  • Library and Archives Canada
  • Library of Parliament
  • Military Police Complaints Commission
  • National Film Board
  • National Round Table of the Environment and the Economy
  • Office of Indian Residential Schools Resolution of Canada
  • Office of Infrastructure of Canada
  • Office of the Controller General of Canada
  • Public Safety and Emergency Preparedness Canada
  • Public Service Human Resources Management Agency of Canada
  • Revenue Canada Taxation
  • Social Development Canada
  • The Leadership Network
  • Transportation Appeal Tribunal of Canada
  • Transportation Safety Board of Canada
  • Canada Air Transport Security Authority
  • Canadian Commercial Corporation
  • Canadian Tourism Commission
  • Enterprise Cape Breton Corporation
  • Export Development Corporation
  • Farm Credit Corporation Canada
  • Canada Border Services Agency
  • Transport Canada (all procurement)
  • Department of Public Works and Government Services

หากเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการในหน่วยงานของรัฐระดับรองลงมา (เช่น ราชการส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น) สหภาพยุโรปเรียกร้องใช้บังคับเมื่อมีมูลค่าขั้นต่ำ 200,000 SDR

การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานอื่นตามที่ตกลง เช่น กิจการการบิน การขนส่ง ท่าเรือ น้ำดื่ม พลังงาน

ข้อสังเกตเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากต่างประเทศ

  1. ขอบเขตการเปิดเสรีการจัดซื้อโดยรัฐ ครอบคลุมกรณีดังต่อไปนี้

(1) ความครอบคลุมของสินค้าและบริการที่ประเทศคู่สัญญาจะยอมเปิดเสรี

(2) ความครอบคลุมของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง

(3) มูลค่าขั้นต่ำ (Threshold) ของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

(4) ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

(5) กระบวนการและวิธีการประมูล

(6) คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องในความตกลงฯ

  1. ข้อตกลงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะครอบคลุมถึงการจัดหาสินค้าและบริการทุกประเภท ซึ่งจะรวมถึงยา อุปกรณ์การแพทย์ จะต้องกำหนดว่าจะมีสินค้าใดหรือบริการใดได้รับการยกเว้นไม่ให้อยู่ในข้อตกลง ตัวอย่างของอินเดีย ให้ยึดตามร่างกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าไม่ใช้บังคับกับการจัดซื้อตามความจำเป็นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ การจัดซื้อที่มีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้หลักเกณฑ์วิธีการเป็นไปตามที่รัฐบาลกลางกำหนด
  2. ข้อตกลงให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ผลิตในท้องถิ่นกับผู้ผลิตจากต่างชาติ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสามารถกระตุ้นการสร้างงาน หรือเป็นแหล่งเงินสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศไทย กรณีของการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ หากระเบียบที่มีอยู่ให้เลือกซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศก่อน เงินที่จัดซื้อก็ช่วยสนับสนุนธุรกิจและการจ้างงานได้ แต่ถ้าซื้อจากต่างประเทศก็จะทำให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ
  3. ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่นซึ่งไม่อยู่ในข้อตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่สามารถนำมาใช้เพื่อกีดกันได้ เช่น การใช้หลักเกณฑ์ด้านมาตรฐาน เนื่องจากสหภาพยุโรปมีแนวโน้มมาตรฐานและมีศักยภาพที่สูงกว่าไทยมาก หากไทยต้องปฏิบัติตามให้ได้มาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนด อาจจะต้องใช้งบประมาณในการปรุงพัฒนาที่สูงกว่าซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่สูงกว่า อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

ประเด็นข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของไทยในปัจจุบัน[19]

  1. โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของต่างประเทศที่ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการของประเทศคู่ภาคีสามารถเข้าร่วมประมูลต้องเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงแต่ของไทยไม่จำกัดวงเงิน (นั่นหมายความว่าต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูลในประเทศไทยได้ง่าย แต่ไทยไปร่วมประมูลโครงการในต่างประเทศยาก)
  2. สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว แต่มีเรื่องคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งหากกำหนดคุณภาพหรือเทคนิคของพัสดุตามประเทศที่มีมาตรฐานการผลิตที่สูงมาก หรือมีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงมากก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเสียเอง เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายได้หรือหากจะทำให้มีคุณภาพที่เทียบเท่าจะต้องลงทุนที่สูงกว่า
  3. ยังมีปัญหาด้านการจัดเก็บข้อมูลสถิติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ และครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
  4. ยังไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบ (monitoring) ผลการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามกฎระเบียบหรือไม่อย่างไรเช่น ไม่มีกลไกในการติดตามการประกาศข่าวประกวดราคา และการเปิดเผยผลการประกวดราคา
  5. หน่วยงานรัฐจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ มีข้อบังคับด้านจริยธรรม (code of conduct) และมีการพัฒนาเส้นทางอาชีพ (career path) นอกจากนี้ หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดเล็ก ยังขาดความสามารถในการตรวจสอบภายในองค์กร (internal audit) ที่มีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดหายา[20]

ทางเลือกที่ 1 แนวทางการจัดซื้อจะต้องไม่ขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย

ทางเลือกที่ 2 หากต้องมีการผ่อนปรนหรือยอมแก้ไข ควรมีแนวทางในการเจรจาดังนี้

2.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ ควรจำกัดการจัดซื้อภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) การจัดซื้อแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่/ขนาดกลาง

– จัดซื้อระดับกองทุน (UC, SSS)

– จัดซื้อรวมระดับกระทรวงสาธารณสุข

– จัดซื้อรวมระดับเขตเครือข่ายบริการสุขภาพ

(2) การจัดซื้อรวมระดับจังหวัดและการจัดซื้อระดับโรงพยาบาล  ให้ดำเนินการตามระเบียบภายในหน่วยงาน

เหตุผลประกอบข้อเสนอแนะ : การจัดซื้อแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่/ขนาดกลางมีวงเงินการจัดซื้อค่อนข้างสูง  การเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีจะช่วยลดการผูกขาดและทำให้งบประมาณการจัดซื้อยาในภาพรวมถูกลง  ส่วนการจัดซื้อยาในพื้นที่วงเงินไม่สูงมากและการใช้ระเบียบภายในหน่วยงานจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวและส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ

2.2 ประเด็นวงเงินการจัดซื้อยา

ควรกำหนดเงื่อนไขเฉพาะกรณีวงเงินจัดซื้อมากกว่า 1 ล้านบาท กรณีต่ำกว่า 1 ล้านบาท  ให้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุปกติ

เหตุผลประกอบข้อเสนอแนะ : ระเบียบพัสดุเดิมระบุให้กรณีวงเงินเกิน 1 ล้านบาทต้องจัดซื้อโดยวิธี E-Auction อยู่แล้ว  ดังนั้นการรับ WTO จึงไม่กระทบต่อการดำเนินการตามปกติ  เว้นแต่การจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษจากองค์การเภสัชกรรมซ่งเดิมไม่ระบุวงเงิน  หากรับ WTO จะต้องแก้ระเบียบสำนักนายกฯ ในข้อดังกล่าว

2.3 กลุ่มยาที่จัดซื้อ

จำกัดเฉพาะกรณีรายการยาเป็นแบบ Monopoly และ Oligopoly ยกเว้นกรณีที่ยาใกล้หมดสิทธิบัตร หรือมีการประกาศ CL หรือมีการดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโดยรัฐ ตลอดจนมีแผนการผลิตในประเทศหรือมีประเทศอื่นผลิตได้

หากไม่สามารถเจรจาในเงื่อนไขดังกล่าวได้ ในกรณียาที่จัดซื้อนั้นเป็นยากลุ่มผู้ขายมากรายจะต้องมีข้อยกเว้นการจัดซื้อในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน

2.4 รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ

รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะตามที่หน่วยงานหรือคณะทำงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกำหนด  เช่าน  กรณีผลิตภัณฑ์ชีววัตถุอ้างอิงรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะผลิตภัณฑ์ชีววัตถุที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผลประกอบข้อเสนอแนะ : เนื่องจากคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนดโดยหน่วยงานวิชาการจะมีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆนอกเหนือจากคุณภาพ เช่น product availability หรือ บริบทอื่นๆที่เหมาะสมกับประเทศไทย  นอกจากนี้การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะข้างต้นยังเปิดช่องให้สามารถจัดหายาจากแหล่งผลิตทางเลือกประเทศอื่นที่อาจมีราคาถูกกว่าได้ด้วย เช่น จีน  อินเดีย

2.5 การกำหนดราคากลาง

ควรกำหนดราคากลางที่เอื้อต่อการแข่งขันเพื่อป้องกันการผูกขาด


อ้างอิง

[1] พงศ์ผกา  ภัณฑลักษณ์, วรรณภา  ไกรโรจนานันท์, รังสรรค์  ศิริชัย และปรุฬห์  รุจนธำรงค์. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการข้อเสนอผลกระทบจากการเจรจา Thai-EU FTA ที่มีผลต่อการจัดหายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (สัญญาเลขที่ 54-00-1001/กพย.02-019 ). แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, 2557

[2] Geethanjali Nataraj. Why can’t India and the EU sign an FTA? (June 14, 2013). http://www.eastasiaforum.org/2013/06/14/why-cant-india-and-the-eu-sign-an-fta/

[3] Centre for International Trade, Economics & Environment. Government Procurement in India: Domestic Regulations & Trade Prospects. CUTS International, 2012. https://www.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/186988/GovtProcurementinIndiaDomesticRegulations-1.pdf page 1

[4] เรื่องเดียวกัน หน้า 32

[5] เรื่องเดียวกัน หน้า 205

[6] General Financial Rules, 2005 http://finmin.nic.in/the_ministry/dept_expenditure/gfrs/GFR2005.pdf (accessed on October6, 2013)

[7] Centre for International Trade, Economics & Environment, อ้างแล้ว หน้า 42-44

[8] Centre for International Trade, Economics & Environment, อ้างแล้ว หน้า 45

[9]  Third World Network. Government Procurement in the EU-India FTA: Dangers for India. http://www.twnside.org.sg/title2/FTAs/info.service/2012/fta.info.233.htm (accessed on October1, 2013)

[10] Disaster Management Act, 2005

[11] The Public Procurement Bill, 2012, section 5

[12] UNCITRAL Model Law on Procurement of Goods, Construction and Services was adopted by the UNCITRAL at its 27th session. http://www.uncitral.org/pdf/english/texts/procurem/ml-procurement/

ml-procure.pdf. (accessed on October6, 2013)

[13] PRS Legislative Research. Legislative Brief: The Public Procurement Bill, 2012. http://www.prsindia.org/uploads/media/Public%20Procurement/Legislative%20Brief-%20Public%20Procurement%20Bill,%202012.pdf (accessed on October7, 2013)

[14] European Parliament resolution of 11 May 2011 on the state of play in the EU-India Free Trade Agreement negotiations.  Provisional edition P7_TA- PROV(2011)0224.  http://www.europarl.europa.eu/delegations/en/d-in/publications.html#delegation_menu

[15] Amiti Sen. No trade pact without assurance on Govt procurements: EU. http://www.thehindubusinessline.com/industry-and-economy/no-trade-pact-without-assurance-on-govt-procurements-eu/article4830921.ece (June 19, 2013)

[16] Peter E. Kirby. Canada-EU Trade (CETA) Negotiations – Racing to the Finish Line World Trade Executive: North American Free Trade & Investment Report, Vol. 21, No.11 June 15, 2011. http://www.fasken.com/en/canada-eu-trade-ceta-negotiations-racing-finish-line/

[17] CETA Secretariat (TEU) Foreign Affairs, Trade and Development Canada. Assessing the costs and benefits of a closer EU-Canada economic partnership. (October7, 2013)

[18] Scott Sinclair. Negotiating from Weakness: Canada-EU trade treaty threatens Canadian purchasing policies and public services. Canadian Centre for Policy Alternatives, 2010.

[19] พงศ์ผกา  ภัณฑลักษณ์ และคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 11-17

[20] พงศ์ผกา  ภัณฑลักษณ์ และคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 24-25