ไบโอไทยจับมือเครือข่ายวิชาการ ยกหลักฐานโต้ พณ.ญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรกระท่อมทั่วโลกรวมไทย

การแถลงข่าว “สิทธิบัตรกระท่อม : วิเคราะห์ผลกระทบและข้อเสนอทางนโยบาย”
วันอังคารที่ 6 กันยายน 2559 เวลา 13.00 -14.30 น. ณ ห้องประชุม Peridot 3 โรงแรมริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ นนทบุรี

จัดโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี

  • วิเคราะห์เนื้อหาการจดสิทธิบัตรและข้อถือสิทธิ์ของญี่ปุ่นโดยละเอียด
  • ความสำคัญของกระท่อมในการแพทย์พื้นบ้าน
  • ผลกระทบของสิทธิบัตรกระท่อมต่อการพัฒนาการใช้ประโยชน์กระท่อมในอนาคต
  • เปิดเผยหลักฐานการยื่นขอจดสิทธิบัตรกระท่อมในประเทศไทยและทั่วโลก
  • ข้อเสนอทางออกเฉพาะหน้าและระยะยาว

ร่วมแถลงโดย

  • รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ – หน่วยวิจัยปฏิบัติการเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล – คณบดี คณะ นิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
  • วีรพงษ์ เกรียงสินยศ – เลขาธิการ มูลนิธิสุขภาพไทย
  • วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ – ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี BIOTHAI Foundation

(6 กันยายน 2559) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ แถลงกรณีการจดสิทธิบัตรกระท่อมของกลุ่มวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยนายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ได้แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นการใช้กระท่อมในภูมิปัญญาของไทยว่ามีมาแต่ช้านาน โดยปรากฏเป็นหลักฐาน จารึกวัดโพธิ์ จารึกวัดราชโอรสาราม และตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง มีมากกว่า 16 ตำรับไม่นับตำรับยาชุมชน และยังบันทึกอยู่ในวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน ตอนขุนแผนเดินทัพด้วย การจดสิทธิบัตรจึงเป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพอย่างชัดเจน ทั้งนี้ไม่รวมถึงหลักฐานอื่นๆที่นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในการวิจัยกระท่อมมานานนับตั้งแต่ปี 2006

ด้าน รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า จากการศึกษาสิทธิบัตรของญี่ปุ่นทั้ง 3 สิทธิบัตรปรากฎว่ามีข้อถือสิทธิ์ครอบคลุมอนุพันธ์จากสารสกัดใบกระท่อมคือ มิตราไจนีน (Mitragynine) และเซ่เว่นไฮดรอกซี่มิตราไจนีน(7-Hydroxymitragynine) เป็นจำนวนมาก การนำสารดังกล่าวเป็นยารักษาอาการปวด ในรูปแบบต่างๆอย่างกว้างขวางซึ่งจะกระทบกับการนำใบกระท่อมไปพัฒนาต่อไปในอนาคต ตัดโอกาสในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการสร้างประเทศไทย 4.0 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ

ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหากรณีดังกล่าว โดยสามารถดำเนินการใน 4 ประการ คือ หนึ่ง ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาว่าคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงกว่าจริงหรือไม่เพราะอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุพันธ์ดังกล่าวอาจมีอยู่แล้วในกลุ่มสารอัลคาลอยด์จากใบกระท่อม สองให้นำกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช มาตรา 52 ซึ่งระบุให้นักวิจัยต้องขออนญาตและแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อปฏิเสธการขอสิทธิบัตรในประเทศไทยหากไม่ดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย สามต้องพัฒนาระบบกฎหมายการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีช่องโหว่อยู่ในกฎหมายไทย และสี่สำคัญที่สุดคือกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ประเทศต่างๆแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นอรเวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้นได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศของตน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่าภายในสัปดาห์นี้ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จะประสานงานเครือข่ายทางวิชาการและองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้มีการยกเลิกการจัดประเภทกระท่อมให้เป็นสารเสพติดตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อให้สามารถปลูก มีไว้ครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ทางยา และงานวิจัย เสนอให้รัฐบาลเพิกถอนสิทธิบัตรและยับยั้งสิทธิบัตรซึ่งได้มาจากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นภาคีในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของไทยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของประเทศตามคำเสนอของนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้รัฐบาลต้องไม่ไปเข้าร่วมความตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้ประเทศต้องยอมรับระบบกฎหมายสิทธิบัตรตามแบบแผนของสหรัฐใน TPPรวมทั้งต้องระวังประเด็นเดียวกันนี้ที่ญี่ปุ่นอาจผลักดันผ่านความตกลง RCEP ด้วย