วันนี้ (22 ก.ย. 53) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร นพ.วิวัฒน์ วิริยกิจจา รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยรศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมวิจัย โครงการผลิตลูกตาเทียมโพลีเอธิลีนแบบมีรูพรุนในประเทศไทย (ระยะที่ 2 ) : การศึกษาทางคลินิก ระหว่างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหลังจากที่สวทช.ได้ดำเนินงานโครงการผลิต ลูกตาเทียมโพลีเอธิลีนแบบมีรูพรุนในประเทศไทย (ระยะที่ 1 ) : การพัฒนาวัสดุ และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของผลงานวิจัยโครงการดังกล่าวให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงต่อไป จึงได้ประสานกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เพื่อให้การสนับสนุนโครงการทดสอบทางคลินิกระดับภาคสนาม ณ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) หรือสถานที่ปฏิบัติงานอื่นตามที่ตกลงกัน
ปัจจุบันผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดนำลูกตาออกมีจำนวนประมาณ 40 - 50 รายต่อปี ทั้งชนิดที่เก็บตาขาวไว้ และชนิดที่เอาออกทั้งลูกตา ทั้งนี้มีสาเหตุจากอุบัติเหตุต่อดวงตา โรคของตา เช่น ต้อหิน โรคของจอประสาทตา ภาวะเนื้องอกในลูกตา การติดเชื้อในลูกตา ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบทั้งทางกายและจิตใจจากการสูญเสียดวงตา จึงมีการพัฒนาลูกตาเทียมเพื่อใส่ทดแทนลูกตาจริงในเบ้าตา เพื่อหนุนเบ้าตาก่อนจะใส่ตาปลอมภายนอกอีกที ช่วยให้ผู้ป่วยไม่แตกต่างจากคนอื่น สามารถเข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ และยังช่วยป้องกันการหดตัวของเนื้อเยื่อรอบเบ้าตา โดยลูกตาเทียมที่ใช้ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชนิดผิวเรียบ เช่น ลูกแก้ว ซิลิโคน หรืออะคริลิก และชนิดมีรูพรุน ได้แก่ ลูกตาเทียมผลิตจากไฮดรอกซีแอปาไทต์จากปะการัง หรือผลิตจากกระดูกสัตว์ และลูกตาเทียมผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีเอธิลีน อย่างไรก็ตามลูกตาเทียมชนิด มีรูพรุนทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวมีราคาแพง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยลูกตาเทียมไฮดรอกซีแอปาไทต์มีราคาลูกละประมาณ 29,000 บาท และลูกตาเทียมโพลีเอธิลีนราคาลูกละประมาณ 22,000 บาท จึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถ รับบริการใส่ลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนได้ จักษุแพทย์จึงเลือกใช้ลูกแก้วพลาสติกที่ทำจากซิลิโคนหรืออะคริลิกแทน เนื่องจากมีราคาถูก แต่เนื่องจากพื้นผิวที่เรียบทำให้พบปัญหาหลังการผ่าตัดสูงกว่า เช่น การเคลื่อนหรือเลื่อนหลุดของลูกตาเทียม การกลอกตาที่ไม่สมจริง จากปัญหาดังกล่าวหลายประเทศได้มีความพยายามผลิต ลูกตาเทียมเพื่อใช้เอง เช่น อินเดีย บราซิล
นพ.วิวัฒน์ วิริยกิจจา รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำคัญของปัญหา ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)ในฐานะเป็นโรงพยาบาลที่มีพันธกิจหลักในด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตลอดจนการเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจักษุระดับชาติ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาลูกตาเทียมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีเอธิลีน โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติในการขึ้นรูป ทั้งนี้ผ่านการทดสอบในเรื่องความปลอดภัย และทดลองโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเสริมสร้างและตกแต่งเบ้าตาพบว่าอยู่ในเกณฑ์ เป็นที่น่าพอใจ และได้ทำการศึกษาผลการรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่ลูกตาเทียม เพื่อนำผลที่ได้ มาขยายผลต่อไปในอนาคต
หรับผลการทดสอบทางคลินิกของต้นแบบลูกตาเทียมโพลีเอธิลีนชนิดมีรูพรุน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ถึงเมษายน 2553 จักษุแพทย์ได้ทำการผ่าตัดใส่ลูกตาเทียมในผู้ป่วยจำนวน 15 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 6 ราย โดยนำลูกตาออกเหลือเพียงตาขาวจำนวน 8 ราย นำลูกตาออกทั้งหมด 5 ราย และใส่ลูกตาเทียมหลังการผ่าตัดครั้งก่อน 2 ราย พบว่าผู้ป่วยทุกรายมีสุขภาพดีหลังการผ่าตัด ไม่มีลูกตาเทียมเคลื่อนหลุด ไม่พบการติดเชื้อ จากการใส่ลูกตาเทียมที่พัฒนาขึ้น มีเพียงจำนวน 2 ราย พบว่ามีบางส่วนของลูกตาเทียมโผล่ แต่มีขนาดเล็กและ หายเองหลังให้การรักษา นอกจากนี้ได้ทำการตรวจสอบการงอกของหลอดเลือดเข้าไปยังลูกตาเทียมของผู้ป่วยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แม่เหล็ก ( Magnetic Resonance Imaging - MRI) หลังผ่าตัดเป็นเวลา 6 เดือน พบว่ามีหลอดเลือดและเนื้อเยื่องอกเข้าไปในลูกตาเทียมโดยรอบ การศึกษาที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจนี้สามารถนำไปขยายผลการศึกษาอื่น เช่น การผลิตลูกตาเทียม หรือเบ้าตาเทียมเฉพาะบุคคล
ทั้งนี้จากความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การศึกษาในระยะที่ 3 เป็นการทดลองเปรียบเทียบระหว่าง การผ่าตัดใส่ลูกตาเทียมที่ผลิตจากสารโพลีเอธิลีนซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศกับลูกตาเทียมจากสารโพลีเอธิลีน ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย ในผู้ป่วยจำนวน 120 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชาจักษุวิทยา คณแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนมกราคม 2554 | |