วันนี้ (15 กันยายน) ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพมหานคร นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้บริหาร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนกว่า 300 คน เรื่องการทบทวนแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดี วิถีชีวิตไทยและบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั้งในไทยและทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมากถึงร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ผลจากกระแสบริโภคนิยม วัตถุนิยม ของประชาชนไทย ทำให้สุขภาพคนไทยเสื่อมถอยลงเรื่อยๆและเกิดโรคจากวิถีชีวิต ที่สำคัญอันดับต้นๆมี 5 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ รักษายากและไม่หายขาด ต้องเข้าออกโรงพยาบาลและพึ่งยาตลอดชีวิต ค่าดูแลรักษาแพงตกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และโรคเหล่านี้ยังมีผลให้เกิดผู้ป่วยอัมพาตหรือพิการเพิ่มมากขึ้น
นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยได้ให้ความสนใจและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศเอเชีย คือ ไทย จีน และอินเดีย ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามหรือกลายเป็นเพียงปัญหาที่บุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศสามารถจัดการได้อย่างแน่นอน เพราะไทยมีโครงสร้างการสาธารณสุขที่ดี กระจายครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งมีอาสาสมัครสาธารณสุขที่เป็นกำลังสำคัญทำงานรวมกับเจ้าหน้าที่ในชุมชน
ในการจัดการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ลดภาระโรค และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโรควิถีชีวิตทั้ง 5 โรค กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลักดันให้มีแนวทางการลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับชาติขึ้น และได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ.2550-2559 ขึ้น ซึ่งจะได้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดทุกจังหวัดอย่างจริงจังในช่วง 10 ปีนี้
นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า แนวทางแก้ไขปัญหาโรควิถีชีวิตนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ ลดการบริโภคอาหารที่บั่นทอนสุขภาพ หวาน มัน เค็ม โดยมีข้อมูลล่าสุดในปี 2551 ว่า คนไทยดื่มน้ำอัดลม กินขนมขบเคี้ยว ปีละ 2 ล้านกว่าบาท โดยบริษัทผู้ผลิตทุ่มเงินโฆษณาอาหาร 2 ประเภทนี้ปีละ 4 ล้าน 5 แสนกว่าบาท และทุ่มทุนโฆษณาอาหารปีละ 16 ล้านกว่าบาท ซึ่งการโฆษณาดึงดูดให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้า และทำให้เกิดปัญหาตามมาคือเกลือเกิน น้ำตาลเกิน ทำให้เป็นโรคอ้วน เกิดเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงตามมา
นอกจากนี้ ในกลุ่มของประชาชนทั่วไปอายุ 15 ปี ขึ้นไป พบว่าได้หันไปพึ่งยาลดความอ้วนเพิ่มสูงขึ้น 16.3 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2551-2552 นี้ พบว่ากลุ่มอายุ 15-29 ปีใช้มากที่สุดร้อยละ 2.4 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 30-44 ปี ร้อยละ 1.1 วิธีการป้องกันไม่ให้อ้วน และไม่ให้เกิดโรคภัย จะต้องเร่งรณรณรงค์ประชาชน เพิ่มกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพิ่มการออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมถึงควบคุมอารมณ์ ความเครียด ความโกรธ มีการเฝ้าระวังตรวจสุขภาพประชาชนเบื้องต้น ตรวจคัดกรองสุขภาพค้นหาความเสี่ยงเกิดโรค และให้การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนถึงขั้นติดเป็นนิสัย
|