นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ผอ.ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า จากสถิติพบว่าคนไทยเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีกันมาก โดยเฉพาะในภาคอีสาน และเพศชายเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีสูงเป็นอันดับแรกของมะเร็งที่พบ หรือพบผู้ชายเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดี 38-39 คนต่อประชากรแสนคน ในขณะที่เพศหญิงพบมากเป็นอันดับสาม รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก หรือพบ 14-15 คนต่อประชากรแสนคน โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงมาก คือ จังหวัดขอนแก่น ประมาณ 30-78% ของประชากร แตกต่างกันไปตามหมู่บ้าน
"คนอีสานส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าการกินยาถ่ายพยาธิจะช่วยกำจัดพยาธิใบไม้ตับได้ ทั้งที่ความจริงแล้วหากติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับหลายครั้ง และเป็นเวลานานยิ่งเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่เนื่องจากมะเร็งจะไม่แสดงอาการในระยะแรก ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ เมื่อมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ทำให้การรักษาไม่ได้ผล ดังนั้นการค้นหาและเฝ้าระวังบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยลดอัตราการตายลงได้" นพ.พิเชฏฐ ลีละพันธ์เมธา ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า คณะอนุกรรมการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ได้อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อการดำเนินงานตาม "โครงการพัฒนาระบบการจัดการดูแลรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีครบวงจร จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด" โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2553 และทำเต็มพื้นที่ในปี 2556 โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้มีหมู่บ้าน และ รร.ปลอดพยาธิใบไม้ตับ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกได้รับการวินิจฉัยและรักษา นางพรรณี จันทะศรี นายกเทศมนตรีตำบลโนนสัง อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทางเทศบาลได้จัดทำโครงการคัดกรองผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ในพื้นที่ทำให้พบว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ ต.โนนสัง อยู่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ชาวบ้านมีอาชีพทำประมงน้ำจืด และชอบกินปลาดิบ ปลาร้าดิบ เมื่อคัดกรองแล้วจึงได้ส่งผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าร่วมโครงการกับศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับ ถือว่าโชคดีที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับโรคนี้. |