"องค์การอนามัยโลก" จี้ทุกประเทศร่วมแก้ปัญหา "การเข้าถึงเครื่องมือแพทย์" หลังพบช่องว่างการเข้าถึง แม้แต่เข็มฉีดยาที่ปลอดภัย เผยผลสำรวจพบประเทศยากจนมีเครื่องแมมโมแกรม 1 : 5.7 ล้านคน ขณะที่ประเทศร่ำรวย 1 : 4.7 หมื่นคน เหตุราคาแพงลิบ แถมภาคอุตสาหกรรมเน้นผลิตเครื่องมือเทคโนโลยีสูงรักษาแต่คนรวย ขณะที่ "นักวิชาการ สธ." ชี้ไทยมีเครื่องเพ็ทซีทีสแกน 5 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 800 ล้านบาท แต่ใช้ไม่คุ้มค่า แถมยังมีการเสนอขอซื้อเพิ่ม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ เรื่อง "เครื่องมือแพทย์ ครั้งที่ 1" ร่วมกับ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นการประชุมครั้งแรกในโลก โดยประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับ เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัย และพัฒนาเครื่องมือแพทย์ การใช้เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม รวมทั้งการกระจายเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน ทั้งจากนักวิชาการ แพทย์ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และตัวแทนผู้ป่วยเข้าร่วมจาก 190 ประเทศเข้าร่วม
ด้าน พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และใช้อย่างเหมาะสมนั้น ราคาถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่มักผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงมาก ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกล่าสุดพบว่า ในการจัดหา เครื่องแมมโมแกรมในการตรวจหามะเร็งเต้านม มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน โดยประเทศที่ร่ำรวยมีเครื่องแมมโมแกรม 1 เครื่องต่อประชากร 47,000 คน ส่วนประเทศยากจนอยู่ในอัตรา 1 เครื่องต่อประชากร 5.7 ล้านคน ขณะที่เครื่องซีทีสแกน ประเทศร่ำรวยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 1.7 แสนคน ขณะที่ประเทศยากจนอยู่ที่อัตรา 1 เครื่องต่อประชากร 3.8 ล้านคน นอกจากนี้ในประเทศยากจนยังพบว่าแม้เข็มฉีดยาซึ่งถือเป็นเครื่องมือแพทย์ราคาถูกก็ยังมีความขาดแคลน ทำให้มีอัตราการใช้เข็มที่ไม่ปลอดภัยสูงถึง 40% อีกทั้งการสำรวจยังพบว่า ในประเทศกำลังพัฒนากว่า 30 ประเทศ ไม่มีเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง
พญ.มากาเร็ต ชาน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในหลายประเทศมีการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ที่เกินความจำเป็น ไม่เหมาะกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ถือเป็นการใช้เครื่องมือแพทย์อย่างไม่เหมาะสมและไม่เต็มประสิทธิภาพที่มี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ ส่วนหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งผลิตเครื่องมือแพทย์ราคาแพง ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เน้นกลุ่มโรคที่สามารถทำกำไรในกับประชากรที่มีฐานะร่ำรวยได้ โดยการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ของประเทศกำลังพัฒนาพบว่า 70% กลับไม่สามารถตอบสนองได้ เนื่องจากไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้เครื่องมือแพทย์ และระบบการดูแล ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องช่วยกัน
ดร.นพ.ยศ ตรีวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการกระจายเครื่องมือแพทย์ โดยเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองเท่านั้น และบางอย่าง ยังมีการสั่งซื้อนำเข้ามาเกินความจำเป็น อย่างเครื่องเพ็ทซีทีสแกนมูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตรวจหามะเร็ง หัวใจ และโรคทางสมอง ซึ่งประเทศไทยมีถึง 5 เครื่อง อยู่ใน กทม.ทั้งหมด เป็นของโรงพยาบาลรัฐ 3 เครื่อง โรงพยาบาลเอกชน 2 เครื่อง ซึ่งทุกวันนี้ยังใช้งานไม่คุ้มค่า เพราะค่าบริการอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท ทำให้คนเข้าไม่ถึง ทั้งๆ ที่หากบริหารจัดการให้ดีจะยังสามารถรองรับดูแลผู้ป่วยได้อีก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลับมีการเสนอขอสั่งซื้อเพิ่มเพื่อมาไว้ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมี บางเครื่องมือแพทย์ที่มากเกินความจำเป็น เช่น เครื่องซีทีสแกน ที่พบว่าเฉพาะโรงพยาบาลใน กทม. มีเครื่องมือชนิดนี้มากกว่าอังกฤษทั้งเกาะ. |