search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6619989
การเปิดหน้าเว็บ:9470516
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สธ.ระบุคนไทยใช้ยาไม่เหมาะสมทำเชื้อโรคดื้อยา
  02 พฤศจิกายน 2553
 
 


โพสต์ทูเดย์ข่าว : วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553

รองปลัดสาธารณสุขเผยคนไทยวัย 31-45 ปี เจอปัญหาเชื้อโรคดื้อยามากสุดเหตุใช้ยาไม่เหมาะสม-เกินความจำเป็น เตรียมร่วมจุฬาฯจัดรณรงค์อบ่าใช้ยาปฏิชีวนะ โดยไม่จำเป็น

นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ยาของคนไทยเป็นการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะการดื้อยา โดยจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะในปี 2551 รวม 33,456 ราย โดยกลุ่มที่ถูกรายงานมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 31-45 ปี ถึง 8,218 ราย (25%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 46-60 ปี 7,095 ราย (21%)


นอกจากนี้ยัง พบว่า ชนิดยาปฏิชีวนะ 5 ลำดับที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์นำไปสู่การดื้อยาคือ1.เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 2.อะม็อกซี่ซิลิน (amoxicillin) 3.ไอบูโปรเฟน (ibuprofen) 4 .ซัลฟาเมทธอกซาโซล และ5. ไตรเมทโธพริม (sulfamethoxazole+trimethorprim) สะท้อนให้เห็นว่า ยาที่เข้าข่ายทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงสุด 25 อันดับแรกนั้นเป็นยาปฏิชีวนะถึง 15 รายการ


“ประเด็นที่น่าเฝ้าระวังคือยาเพนนิซิลิน และอีริโธมัยซิน ที่เคยใช้เป็นยารักษาโรคปอดบวมได้ผลนั้น เริ่มเกิดอาการดื้อยา โดยในปี 2541-2550 พบการดื้อยาเพนนิซิลินจาก 47% เป็น 61% และดื้อยาอิริโธมัยซินจาก 27% เป็น 54%"นพ.ทนงสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ล่าสุด พบว่า การพัฒนายาใหม่เพื่อใช้แทนยาเพนนิซิลินและอีริโธมัยซิน ที่ไม่พบการดื้อยามาตั้งแต่ปี 2544 แต่ขณะนี้เริ่มมีการดื้อยามากขึ้น ขณะที่ความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการค้นคิดยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนศึกษาวิจัย เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาเกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง และการใช้เกินความจำเป็น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทยพบว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น โรคหวัด ประมาณ 40-60% ในภูมิภาค และ 70-80% ในกรุงเทพมหานคร ภาวะดื้อยา ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ยาที่แพงขึ้น และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้น เพราะภาวะดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง
ขณะที่ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนสำหรับเยาวชนคือ การบริโภคผลิตภัณฑ์ลดอ้วนในเด็กเยาวชน เช่น ยาลดน้ำหนัก กาแฟ อาหารเสริม ซึ่งมักโฆษณาเกินจริง จนทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม และบางรายอาจทำให้เกิดภาพหลอน และนำไปสู่ภาวะการกดประสาท
ทั้งนี้ได้มีความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสังคมให้เกิดความตระหนักเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จึงได้จัดโครงการประกวดสื่อสารสาธารณะเพื่อรณรงค์ฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก “อย่าใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่จำเป็น” เพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และขยายวงกว้างไปสู่การรับรู้ของคนในสังคมต่อไป