search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515849
การเปิดหน้าเว็บ:9358906
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ค้านหมอเลิกราคากลาง “สเตนท์” สปสช.แจงประหยัดงบมหาศาล
  01 พฤศจิกายน 2553
 
 


วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กพย.โต้สมาคมแพทย์ฯ ประเด็นสเตนท์แพง โดยเฉพาะกลุ่ม ขรก.เสนอ รมว.คลัง แก้ปัญหารวม ขณะ สปสช.แจงขั้นตอนประมูล หวังลดราคาสูงเกินจริง


หลังจาก สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด เปิดเวทีกรณีกรมบัญชีกลางปรับลดเพดานเบิกจ่ายสเตนท์ให้เท่ากับราคาใหม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประมูลได้ในราคาถูกหลายเท่าตัว ส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถจัดซื้อสเตนท์จากบริษัทอื่นในท้องตลาดนั้น
ล่าสุด วานนี้ (19 ส.ค.) ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า บริษัทที่เสนอราคาประมูลของ สปสช.ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้จำหน่ายได้ และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการฮั้วกันของบริษัท
เพราะครั้งนี้เป็นการจัดซื้อรวม อำนาจการต่อรองมีมากกว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า เรื่องนี้ คือ ระบบการเงินการคลังของประเทศ หากยอมให้มีการยกเลิกประกาศราคากลางเท่ากับว่ากลับไปสู่วงจรแบบเดิม งบประมาณรั่วไหล

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในจำนวนอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและอวัยวะเทียมกว่า 200 รายการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง สปสช.ใช้จ่ายงบประมาณสำหรับเบิกจ่ายและชดเชยให้หน่วยบริการประมาณปีละ 2,500 ล้านบาท จากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2550-2552 พบว่า อุปกรณ์ในหมวดโรคหัวใจ มีการขอรับค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของอุปกรณ์ทุกประเภท ในปี 2552 ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในหมวดโรคหัวใจ คิดเป็นจำนวนเงิน 1,235 ล้านบาท ซึ่งสเตนท์เป็นอุปกรณ์ใช้เงินชดเชยสูงเป็นอันดับ 1 ทั้งนี้สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดโคโรนารี่ ด้วยขดลวดเคลือบยาต้านการตีบซ้ำ (Drug-eluting stent:DES) และสายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดโคโรนารี่ด้วยขดลวดไม่เคลือบยา (Bare stent) มีการใช้เป็นจำนวนกว่า 7,700 ชิ้น ใช้งบประมาณถึง 402 ล้านบาท
นพ.วินัย กล่าวอีกว่า หมายความว่า งบประมาณจำนวนมากที่ต้องทุ่มลงไปในอุปกรณ์หมวดโรคหัวใจได้เบียดบังประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณอุปกรณ์ด้านอื่น เพราะต้องทุ่มงบประมาณไปจ่ายสเตนท์ ซึ่งแพงเกินจำเป็น สปสช.จึงได้พัฒนาระบบการเบิกจ่ายสเตนท์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขั้นตอนที่ สปสช.ดำเนินการเพื่อหาทางแก้ไข คือ ทบทวนสถานการณ์การเบิกจ่ายย้อนหลัง 3 ปี สำรวจราคาอุปกรณ์ หมวดหัวใจจากโรงพยาบาล 14 แห่ง และ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (Thaimed) และดำเนินการทางวิชาการด้วยการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาอุปกรณ์หัวใจซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง มีการประชุมคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสำรวจการใช้สเต็นท์ในโรงพยาบาล หลังจากนั้น ได้ประกาศลดราคาสเตนท์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2552 ซึ่งมีการประกาศลดราคาสเตนท์ชนิดเคลือบยา จาก 85,000 บาท เป็น ราคา 30,000 บาท และประกาศลดราคาสเตนท์ชนิดไม่เคลือบยา จากราคา 35,000 บาทเป็นราคา 6,800 บาท

เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า จัดซื้อรวม ระยะที่ 1 (1 ธ.ค.52-ก.พ.และขยายต่อ 30 มิ.ย.53) และจัดซื้อรวม ระยะที่ 2 (1 ก.ค.-31 ธ.ค.53) ซึ่งสามารถประมูลได้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง คือ สเตนท์ชนิดไม่เคลือบยา ได้ชุดละ 5,400 บ.เป็นราคาที่ลดลงถึง 85% และสเตนท์ชนิดเคลือบยาได้ชุดละ 23,400 บ.เป็นราคาที่ลดลงถึง 72% ซึ่งเป็นราคากลางเดียวกับที่กรมบัญชีกลางประกาศเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2553 ผลการดำเนินงาน 8 เดือนที่ผ่านมา สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 157 ล้านบาท และคาดว่า ตลอดทั้งปีจะสามารถประหยัดได้ถึง 260 ล้านบาท และลดการขาดดุลสินค้า เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น และหากแพทย์มีความจำเป็นต้องใช้สเตนท์ชนิดอื่น สให้ดำเนินการได้ตามขั้นตอนทำเรื่องมาได้ และบริษัทที่ได้รับการประมูลก็ได้รับการตรวจรับรองคุณภาพจาก อย.