|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6619995 การเปิดหน้าเว็บ:9470522 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
แฉบริษัทยาข้ามชาติจ้องล็อบบี้ ครม.เปลี่ยนสาระ พ.ร.บ.ยา "ไม่ต้องรายงานโครงสร้างราคายา-ข้อมูลสิทธิบัตร" |
|
|
|
29 ธันวาคม 2557
|
|
|
|
ที่มา: Hfocus ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/12/8977
เอ็นจีโอแฉบริษัทยาข้ามชาติเดินเกม 2 ขา เล่นเส้นรองนายกรัฐมนตรี กดดันรัฐมนตรี เปลี่ยนสาระ พ.ร.บ.ยา ไม่ให้มีการรายงานโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรเมื่อมาขึ้นทะเบียนยา และยอมให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยา ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อแสวงประโยชน์ เตือนรัฐบาลต้องโปร่งใส
29 ธ.ค.57 มีรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (30 ธ.ค.) ซึ่งเดิมจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้มีการหารือกับสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ร่างมานั้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่า ร่าง พ.รบ.ยาดังกล่าว อาจถูกสกัดไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของครม.แล้ว เรื่องจากจะมีการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระบางอย่างของ ร่าง พ.ร.บ.ยา ก่อนที่จะเข้าครม.อีกครั้ง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการเดินเกมของกลุ่มล็อบบี้ยิสต์อุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ขัดขวาง ร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งมีกำหนดจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันพรุ่งนี้ โดยมีเป้าประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญคือ ห้ามกำหนดให้มีการรายงานโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรเมื่อมาขึ้นทะเบียนยา และยอมให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยาทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
"ในจังหวะทางการเมืองแบบนี้ ล็อบบี้ยิสต์อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้เส้นสายของญาติมิตรที่อยู่ในครม.ขัดขวางร่าง พ.ร.บ.ยา ที่กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขข้อห่วงใยที่ตกค้างมาจากการร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมุ่งเป้าที่จะตัดการรายงานโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรเมื่อมาขึ้นทะเบียน ทั้งที่การแสดงโครงสร้างราคายา และข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อเป็นแสดงความโปร่งใสและส่งเสริมการเข้าถึงยาที่จำเป็น และเป็นไปตามหลักการสากลซึ่งสอดรับกับนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การเข้าถึงยา ซึ่งมีที่มาจากมติของสมัชชาสุขภาพครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ให้ความเห็นชอบร่วมกัน หากตัดสาระนี้ออกไป บริษัทยาจะสามารถปกปิดโครงสร้างราคาต่อไปและตั้งราคายาตามใจชอบ โดยที่ไม่สนใจว่าจะกระทบต่อชีวิตประชาชนเช่นไร อีกทั้งต้องการให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยาด้วย ก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดกับหลักธรรมาภิบาล"
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนและสาธารณชนร่วมกันจับตาการพิจารณาของครม.ว่า เป็นการยึดกุมอำนาจบริหารประเทศเพื่อพวกพ้องและวงศาคณาญาติที่อยู่ในบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ยา ใน 2 ประเด็นที่กล่าวมา
"ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทโอชา นายกรัฐมนตรี ทำหูตาให้กว้างไกล เปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบคนที่อยู่ในครม. ว่ากำลังใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์อยู่หรือไม่อย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับพวกที่ตนเองรัฐประหารมา"
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทยาสหรัฐฯ ได้ทำหนังสือถึง นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี, ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข, พล.อ.ฉัตรชัย ศัลลิกาลิยะ รมว.พาณิชย์, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมต.การต่างประเทศ และ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง อ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่กำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้ มีข้อกำหนดให้รายงานโครงสร้างราคายา ถือเป็นการกีดขวางการพัฒนาการวิจัยยาในอนาคตขอให้รัฐบาล และ สนช. ทบทวนในประเด็นนี้
เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ปี พ.ศ.2556 บรรษัท Pfizer ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ร้อยละ 42 ในปีเดียวกันนั้น บรรษัทยา 5 แห่ง ซึ่งได้แก่ Pfizer, Hoffmann-La Roche, AbbVie, GlaxoSmithKline (GSK) และ Eli Lilly สามารถทำกำไรได้กว่าร้อยละ 20 ขณะที่ทุกบริษัทใช้งบลงทุนวิจัยและพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับงบการตลาด
|
|
|
|
|
|