search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6512096
การเปิดหน้าเว็บ:9355042
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  "ยาปฏิชีวนะ" ยิ่งใช้ "แบคทีเรีย" ยิ่งกลายพันธุ์ จี้ ปชช.เลิกขอยาพร่ำเพรื่อ
  01 ธันวาคม 2557
 
 


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์     
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000138391


    
        อย. ห่วงยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะ เชื้อแบคทีเรียยิ่งกลายพันธุ์จนดื้อยา จี้แพทย์สั่งใช้เท่าที่จำเป็น ตามหลักวิชาการ ตรงกับโรค ย้ำประชาชนไม่ควรขอยาปฏิชีวนะหรือซื้อกินเอง ขณะที่ร้านค้าขายยาปฏิชีวนะมีโทษ จ่อใช้มาตรการควบคุมทั้งกฎหมายและให้ความรู้

        นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถานการณ์เชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตร่วมของคนทั่วโลก เพราะยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่จะใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยากำลังขาดแคลน เนื่องจากไม่มียาใหม่ให้ใช้ขณะที่ยาปฏิชีวนะที่มีใช้ในปัจจุบันก็สูญเสียประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากเท่าใด เชื้อแบคทีเรียก็จะกลายพันธุ์จนดื้อยานั้น และยาปฏิชีวนะก็สูญเสียฤทธิ์ในการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นของทีมวิจัยในปี 2553 เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐศาสตร์จากการติดเชื้ออื้อยาในประเทศไทย พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากถึง 38,000 ราย เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านบาท มากกว่าปัญหาสุขภาพอันดับต้นๆ หลายชนิดของไทย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในชุมชน
       
       นพ.ปฐม กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายหรือการปกครองร่วมกับมาตรการทางการศึกษาและสังคม เพื่อสร้างบรรทัดฐาน หรือค่านิยมใหม่ของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในสังคมไทย โดยบุคลากรทางการแพทย์ควรวินิจฉัยโรคให้แม่นยำและสั่งใช้ยาปฏิชีวนะตามหลักฐานทางวิชาการ ไม่สั่งยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหวัด และท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ รวมทั้ง การปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะหากไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคใด ดังนั้น ควรสอบถามแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้รู้ก่อนว่าป่วยเป็นโรคใด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ หากมีการสั่งยาปฏิชีวนะ ควรถามให้เข้าใจว่ายาปฏิชีวนะนี้มีประโยชน์อย่างไร และจำเป็นต้องใช้หรือไม่
       
       "ประชาชนไม่ควรขอยาปฏิชีวนะเอง เพราะทำให้แพทย์ลำบากใจในการรักษาตามหลักวิชาการ และไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองจากร้านค้าทั่วไป หรือร้านชำโดยเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับร้านค้าทั่วไปสามารถช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในชุมชนได้โดยไม่จำหน่ายยาปฏิชีวนะ โดยจำหน่ายยาสามัญประจำบ้านให้แก่คนในชุมชนได้ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการเจ็บป่วยเล็กน้อยของคนในชุมชน แต่หากจำหน่ายยาปฏิชีวนะถือว่าผิดกฎหมาย" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
       น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์แม้มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล กรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์ และเกษตรกร ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ใช้ยาน้อยที่สุด ควบคู่กับการนำระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพมาใช้เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม โดยให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และสัตวแพทย์ ซึ่งต้องดูแลทั้งความปลอดภัยของสัตว์ และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื่องจากสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน