search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6516373
การเปิดหน้าเว็บ:9359436
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  วิจัยพบ 3 จุดเสี่ยงระบบจัดการยาเอื้อทุจริต
  24 ตุลาคม 2557
 
 


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000122549



        วิจัยพบ 3 จุดเสี่ยงระบบจัดการยา เอื้อการทุจริต สวรส.ชงการจัดการยาเน้นคุณภาพ ครอบคลุม คุ้มค่า โปร่งใส สร้างธรรมาภิบาลเชื่อมโยงทุกกระบวนการ
       
       ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการจัดการปัญหาการคอร์รัปชั่นภายใน กสธ. และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล และเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหายาและวัสดุต่างๆ ขึ้นมาดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างยา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธาน และมีคณะกรรมการเป็นผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับ รวมถึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และเตรียมความพร้อมกับการตรวจสอบทั้งจากองค์กรภายในและภายนอก เพื่อความโปร่งใสนั้น
       
       ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลวิจัย “โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างการอภิบาลระบบยา” โดยทีมวิจัย นำโดย รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย จากสถาบันพระปกเกล้า และ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า กลไกการจัดการระบบยาของประเทศ นับเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีการใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงเรื่องความโปร่งใสเป็นอย่างมาก ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ทีมวิจัยต้องสังเคราะห์ออกมาให้เห็นคือ เส้นทางของระบบดังกล่าวเป็นอย่างไร อะไรคือความเสี่ยง อะไรคือช่องโหว่ ช่องว่างที่ต้องเร่งอุดเพื่อให้เกิดการไหล่ลื่นของระบบอย่างมีมาตรฐานและปลอดจากการทุจริต โดยเริ่มตั้งแต่ การขึ้นทะเบียนตำรับยา (Registration) การส่งเสริมการขาย (Promotion) ระบบการตรวจสอบ (Inspection) การคัดเลือกยาจำเป็น (Selection) และการจัดซื้อยา (Procurement) ซึ่งมีความเสี่ยงระหว่างทางที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้น การส่งเสริมการขายที่ไม่สมเหตุสมผล การกระตุ้นให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น การทุจริตในการจัดซื้อยาของสถานพยาบาล ฯลฯ โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดซื้อยา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มักพบปัญหาเรื่องความโปร่งใสอยู่เสมอ ดังเช่น กรณีข่าวทุจริตจัดซื้อยา 1,400 ล้านบาท กรณีข่าวทุจริตสวัสดิการรักษาพยาลข้าราชการ กรณีข่าวเกี่ยวกับการรั่วไหลของยาซูโดอีเฟดรีน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้การศึกษาความเสี่ยงของการจัดการระบบยาของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทีมวิจัยจึงกำหนดเป้าหมายที่เกิดจากข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ด้านคือ 1) การมียาที่มีคุณภาพดีเพียงพอและครอบคลุมต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน 2) มีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่า 3) ทำให้ระบบจัดการยาของรัฐปลอดจากการทุจริตภายใต้กรอบการศึกษาเรื่องธรรมาภิบาล
       
       “จากการวิจัยพบว่า ความเสี่ยงที่สำคัญๆ ในระบบบริหารจัดการยาในประเทศมี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1) ความเสี่ยงในกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา 2) ความเสี่ยงในกระบวนการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และ 3) ความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อยาเข้าสู่สถานพยาบาล ซึ่งความเสี่ยงแต่ละส่วนมีรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการมีส่วนได้ส่วนเสียของคณะกรรมการยาและผู้เชี่ยวชาญ ความเสี่ยงจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญการอ่านตำรับยา ความเสี่ยงที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ความเสี่ยงที่เกิดจากการขาดการระบุความรับผิดชอบของคณะกรรมการในกรณีที่เกิดความผิดพลาด ความเสี่ยงที่เกิดจากมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินยาเข้าสู่สถานพยาบาลแต่ละแห่งยังมีความแตกต่างกันเนื่องจากขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก ความเสี่ยงจากการได้มาซึ่งราคากลางยาจนทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในการตัดราคา ฯลฯ ศ.นพ.สมเกียรติกล่าว
       
       อย่างไรก็ตาม การสร้างธรรมาภิบาลของการจัดการระบบยาไม่สามารถแก้ไขแค่เรื่องใดเรื่องเดียว หากแต่ต้องมองให้เห็นกระบวนการทั้งหมด เพราะแต่ละกระบวนการมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน แม้ว่าที่ผ่านมาจุดบอดที่พบบ่อยมักเป็นขั้นตอนการจัดซื้อยาของสถานพยาบาล แต่ความจริงแล้วในขั้นตอนอื่นก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เช่น ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุญาตให้สามารถนำเข้าหรือผลิตยาเพื่อขายในประเทศ ซึ่งขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตำรับยาเปรียบเสมือน “กล่องดำ” ที่มีความเสี่ยงต่อธรรมาภิบาลค่อนข้างสูง เพราะเป็นขั้นตอนที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือถูกจับตามองจากสาธารณะมากนัก ดังนั้นทุกขั้นตอนของการจัดการระบบยาของประเทศจึงต้องมีการแก้ไขและพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นจากงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่สะท้อนข้อมูลจากความเป็นจริงในระดับปฏิบัติ ซึ่ง สวรส.จะเร่งนำเสนอข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการระบบยาของประเทศในภาพรวมต่อไป