search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6516185
การเปิดหน้าเว็บ:9359244
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ปรับวิธีจ่ายยา"พาราฯ"ห้ามกินเกินวันละ8เม็ด
  26 กันยายน 2557
 
 


ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557



          เครือข่ายโรงพยาบาลฯห่วงคนไข้ใช้ยาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ "พาราเซตามอล" แนะ สรพ.คุมการเบิกจ่ายในสถานพยาบาล ด้าน กพย.เสนอ อย.ทบทวนตำรับใหม่ทั้งหมด

          เมื่อวันที่ 25 กันยายน นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ ได้หารือถึงการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผล เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ในท้องตลาดมีการวางจำหน่ายยาพาราฯหลายขนาด โดยเฉพาะขนาด 650 มิลลิกรัม (มก.) ที่มีความเสี่ยงว่าผู้ป่วยอาจได้รับยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับ

          "คนไทยมีความเชื่อว่า ถ้าเจ็บป่วยและต้องรักษาด้วยยาพาราฯ ต้องกินครั้งละ 2 เม็ด แต่ตามเกณฑ์มาตรฐานระบุไว้ที่ 1,000 มก.เท่านั้น เนื่องจากยาพาราฯเป็นยาพื้นฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่ประชุมจึงมีมติให้เริ่มส่งเสริมการใช้ยาดังกล่าวอย่างสมเหตุผล เริ่มต้นที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรก โดยกำหนดให้แพทย์สั่งจ่ายยาพาราฯ แก่ผู้ป่วยหญิง จำนวน 1 เม็ด กินทุก 6 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยชายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล จากเดิมที่เขียนสั่งจ่ายยาพาราฯให้ผู้ป่วยในอัตรา 2 เม็ด กินทุก 4 ชั่วโมง" นพ.พิสนธิ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ให้เขียนกำกับบนฉลากยาด้วยว่า "ห้ามใช้ยาพาราฯเกิน 8 เม็ดต่อวัน เพราะเป็นพิษต่อตับ"

          นพ.พิสนธิ์กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้ จะเสนอต่อสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) บรรจุให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็น 1 หลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ด้วย โดยในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว และวันที่ 29 ตุลาคม จะมีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลต่างๆ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย

          วันเดียวกัน ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แถลงว่า เสนอให้ อย.ทบทวนตำรับยาแบบยกเครื่อง เนื่องจากขณะนี้มียาหลายตัวที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาซ้ำซ้อน

          และพบว่ามียาบางชนิดมีตัวยาและสูตรยาไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ปลอดภัยและไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เช่น ลูกอมแก้เจ็บคอผสมยาปฏิชีวนะ หรือยาพาราเซตามอล ที่สหรัฐอเมริกาประกาศลดขนาดเหลือ 350 มก. แต่ไทยยังมีขนาด 500 มก. ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการกินยาเกินขนาด นอกจากนี้ บางส่วนยังมีข้อมูล รูปลักษณ์ และระบุข้อบ่งใช้ที่ไม่เหมาะสมบนฉลาก การมียาฝาแฝดที่ทำให้ผู้บริโภคสับสน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจกำหนดให้ทบทวนทุก 5 ปี หรือตามที่เห็นสมควร

          ภก.วินิต อัศววิกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดให้ยาที่ขึ้นทะเบียนมีอายุ 5 ปี และต้องมีการทบทวนตำรับยาแม้จะผ่านขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม