|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6619978 การเปิดหน้าเว็บ:9470505 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
เภสัชฯใต้ล่าชื่อค้าน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ |
|
|
|
15 กันยายน 2557
|
|
|
|
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000105965
กลุ่มเภสัชกรใต้เร่งล่ารายชื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เปิด 6 ข้อทักท้วง ทั้งโฆษณายากว้างขวาง เปิดช่องทุกวิชาชีพจ่ายยา ผสมยา หวั่นเกิดผลกระทบประชาชน อาจได้รับอันตรายจากการใช้ยา เตรียมยื่น สนช. กฤษฎีกา และ สธ. วันนี้ (15 ก.ย.) ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์ ประธานกลุ่มเภสัชกร สำนักงานสาธารณสุข 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ดำเนินการรวบรวมรายชื่อเภสัชกรและประชาชนทั่วไป เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาเภสัชกรรม เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้ทบทวนและแก้ไขปรับปรุง ซึ่งกลุ่มมีความเห็นแย้ง 6 ข้อ คือ 1. การแบ่งประเภทยาเป็นยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ (ทุกวิชาชีพ) และยาสามัญประจำบ้าน ไม่เป็นไปตามหลักสากลและเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่แบ่งยาเป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย และ ยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง จึงขอให้แบ่งประเภทยาตามหลักสากล
ภญ.วิไลวรรณ กล่าวว่า 2. การนำยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมาผสม โดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องขออนุญาต เป็นสิ่งห้ามกระทำ เพราะอาจทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับรู้ข้อมูลยาอย่างเหมาะสม ขอให้ตัดข้อยกเว้นนี้ออก 3. การแบ่งบรรจุยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับแล้วโดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องขออนุญาต เป็นสิ่งห้ามกระทำ ขอให้ตัดออก 4. การยกเว้นให้เกิดการขายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วหรือการขายยาที่แบ่งบรรจุ โดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นการทำลายระบบประกันความปลอดภัยของผู้ใช้ยา การขายและจ่ายยาต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะด้านหลายประการที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เภสัชกรได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นระหว่างการเรียน ก็ขอให้ยกเลิก ภญ.วิไลวรรณ กล่าวว่า 5. การควบคุมการโฆษณา ไม่ได้วางหลักเช่น พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 คือ ห้ามโฆษณาสรรพคุณยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ทำให้สามารถโฆษณายาได้อย่างกว้างขวาง อาจเกิดโอกาสเสี่ยงต่อผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลยาที่มีความโน้มเอียงทางการค้า เกิดการเรียกหายาโดยไม่เข้าใจ ใช้ยาไม่ถูกต้อง ควรกำหนดให้โฆษณายาได้เฉพาะประเภทยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เองเท่านั้น และ 6. ความไม่เป็นธรรมของบทลงโทษผู้กระทำความผิด ผู้รับอนุญาตมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต อาจทำให้ทุกวิชาชีพเลี่ยงการขออนุญาต จึงต้องไม่มีการยกเว้นการขออนุญาต หาก พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้โดยที่ไม่มีการทบทวนและแก้ไขปรับปรุงในประเด็นดังกล่าว จะส่งผลอย่างยิ่งต่อประชาชน โดยเฉพาะหากผู้ขายหรือจ่ายยามีองค์ความรู้ไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยา เช่น แพ้ยาจนเสียชีวิต ได้รับพิษจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือยาบางตัวใช้ร่วมกันไม่ได้จะทำให้เพิ่มฤทธิ์ เช่น ยาวาร์ฟารินที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ไม่ควรใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอล เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เป็นต้น ยาไม่ใช่อาหาร คนที่กินยาเป็นคนป่วย ต้องให้ได้รับยาที่ถูกวิธี ถูกขนาด ถูกโรคและเกิดความปลอดภัยจากการรับยา ภญ.วิไลวรรณ กล่าว
|
|
|
|
|
|