search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515817
การเปิดหน้าเว็บ:9358874
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  จี้ไทยออกกม.มาตรฐานขนส่งยา เจอปัญหาบริษัทรับจ้างฝากรถทัวร์/กพย.กระตุกอย.สังคายนาองค์กร
  30 มิถุนายน 2557
 
 


ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557



          สาธารณสุข * เภสัชกรจี้ไทยออกกฎหมายมาตรฐานขนส่งยา เจอปัญหาบริษัทขนส่งนำส่งยาแบบไร้มาตร ฐานฝากมากับรถทัวร์ หวั่นกระทบประสิทธิภาพตัวยา ชี้ไทยตามหลังแม้แต่ลาวที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว ด้าน กพย.กระตุก อย.ทบทวน พ.ร.บ.ยา หลังใช้มาตั้งแต่ปี 2510 พร้อมสังคายนาตัวเองใหม่หลังพบระบบติดตามหลังการอนุญาตผลิตอ่อนยวบ

          ภก.เทวฤทธิ์ ประเพชร เภสัชกรชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน รพ.อุ้มผาง จ.ตาก เปิดเผยว่า ปกติบริษัทยาจะไปตกลงว่าจ้างบริษัทขนส่งเอกชนให้ขนส่งยามาให้กับทาง รพ.อุ้มผาง ซึ่งในทางปฏิบัติ บริษัทผู้ขนส่งจะต้องดำเนินการจัดส่งยาเอง และมีมาตรฐาน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าทางบริษัทรับขนส่งยาได้ฝากยามากับรถประจำทาง ซึ่งตนไม่มั่นใจในเรื่องของการจัดเก็บระหว่างทาง แต่เท่าที่เห็นคือมีทั้งการเก็บไว้บนหลังคารถ หรือใต้ท้องรถ ซึ่งถือว่าผิดมาตรฐานของการขนส่งยา โดยเฉพาะยาบางประเภทที่ต้องมีการจำกัดความชื้นและอุณหภูมิ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของตัวยา เพราะฉะนั้น แม้ตัวยาหรือบรรจุภัณฑ์จะไม่ปรากฏความเสียหาย และยังไม่ปรากฏว่าผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยาก็ตาม แต่ด้วยการขนส่งที่ผิดมาตรฐานก็ทำให้มีความกังวลในเรื่องของมาตรฐานยาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่ รพ.อุ้มผางไม่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจประสิทธิภาพยามากขนาดนั้น

          ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว ยาหนึ่งตัวต้องมีการควบคุมมาตรฐานเป็นพิเศษ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต โรงงานผลิต การจัดเก็บ และการขนส่งต้องได้มาตรฐาน เพราะมีผลต่อประสิทธิภาพของยา แต่ในส่วนของการขนส่งนั้น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมากำหนดชัดเจน จึงเป็นความเสี่ยงทำให้ประสิทธิภาพของยาด้อยลงไป ในขณะที่ต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมไปถึงลาว ต่างก็มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการขนส่งยาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากประเทศไทยจะพิจารณาออกกฎหมายมาควบคุมได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ดีกว่าที่ต้องมานั่งตามปัญหาทีหลัง

          "ที่ผ่านมาเราได้สะท้อนปัญหาไปยังบริษัทยาและบริษัทขนส่งแล้ว บางบริษัทก็แก้ไขปัญหาให้ บางบริษัทก็เพิกเฉย หรือแก้ไขแล้วกลับมาเป็นอีก ซึ่งทางบริษัทยาหรือบริษัทขนส่งอาจจะไม่ทราบว่าผู้ปฏิบัติงานของตนทำงานอย่างนี้ ดังนั้นเราจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยบันทึกลักษณะของการส่งยาในแต่ละครั้งว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาหรือดำเนินการอย่างอื่นต่อไป" ภก.เทวฤทธิ์กล่าว

          ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เรื่องระบบของการจัดหาและขนส่งยาของประเทศไทยถือว่ายังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะยากลุ่มเสี่ยง เช่น วัคซีน หรือยาที่ต้องกำหนดอุณหภูมิ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พยายามออกคู่มือหลักเกณฑ์ดูแลเรื่องนี้มาตลอด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถบังคับให้ทำตามได้ ดังนั้นจึงอยากให้ อย.ได้ทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ยาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2510 ใหม่ กำหนดมาตรฐานการขนส่งยาแต่ละประเภท และมีระบบการติดตามอย่างใกล้ชิดน่าจะดีกว่า เพราะเท่าที่ผ่านมา หลายตัวมีปัญหาเรื่องความชื้น ความร้อน และในโอกาสเดียวกันก็จะได้มีการทบทวนตำรับยา และอีกหลายเรื่องที่พัฒนาไปไกลมาก แต่กฎหมายเดิมล้าหลังจึงตามไม่ทัน

          ผู้จัดการ กพย.กล่าวต่อว่า การที่ไม่มีกฎหมาย บังคับเรื่องมาตรฐานการขนส่งนั้น นอกจากจะส่งผลต่อความมั่นใจในประสิทธิภาพของยาแล้ว ยังพบปัญหาลักลอบนำยาบางประเภทที่ต้องมีการควบคุมเป็นพิเศษออกนอกระบบการรายงานผล เช่น สเตียรอยด์ ที่กฎหมายบังคับว่าต้องส่งรายงานการนำเข้า การผลิต แต่กฎหมายการควบคุมการขนส่ง การจ่ายยา การเคลื่อนย้ายต้องควบคุมพิเศษ แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องรายงานนี้อย่างจริงจัง ทำให้เกิดการเล็ดลอดนำออกไปผสมในยาชุด ยาโบราณทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด และเครื่องดื่มสมุนไพรบางชนิด ซึ่งตรวจสอบยาก เพราะขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร และสามารถเข้าไปตามหมู่บ้านได้ง่ายมากด้วยรถเร่ ส่งผลให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตไปแล้ว แต่ที่ไม่มีรายงาน เพราะการเสียชีวิตไม่ได้รายงานว่าเป็นการเสียชีวิตจากสเตียรอยด์โดยตรง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

          "อย.ต้องชัดเจนในเรื่องนี้ อย่าทำเป็นแค่คู่มือออกมาเท่านั้น เพราะไม่มีการควบคุมบังคับใช้ อย.ต้องกล้าฟันธง กล้าบังคับบริษัทในเรื่องของการขนส่ง ถ้ารื้อทั้งระบบได้ก็เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ยา ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2510 เก่ามาก หลายๆ เรื่องตามไม่ทัน และก็ควรต้องยกเครื่อง อย.ใหม่ด้วย เพราะการทำงานทุกวันนี้เน้นที่การขึ้นทะเบียน แต่ระบบการติดตามผล ติดตามมาตรฐานหลังอนุญาตไปแล้วนั้นหลวมมาก เหมือนกับว่าสั่งแต่บริษัทยาว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยดูตัวเองเลยว่าต้องทำอะไร".