search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6603140
การเปิดหน้าเว็บ:9452955
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ทีวีดิจิตอล ดาวเทียม เคเบิ้ล กับปัญหาโฆษณาเกินจริง
  18 เมษายน 2557
 
 


วันที่: 18 เมษายน 2557
ที่มา: Hfocus
ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/04/6955



ทีวีดิจิตอล เปิดตัวไปไม่นาน เกิดคำถามว่า ปัญหาจากการโฆษณาผ่านสื่อดาวเทียม ทีวีเคเบิ้ลที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ผุดขึ้นมากมายก็ก่อปัญหาอยู่แล้ว และเมื่อเกิดทีวีดิจิตอล จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นหรือไม่

เรื่องนี้  ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา   และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  ให้ข้อมูลว่า จริงๆแล้วไม่กังวลกับสื่อทีวีช่องหลัก หรือทีวีดิจิตอลที่มีการควบคุมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เป็นอย่างดี แต่ที่กังวลคือ ทีวีดาวเทียมที่หลายครั้งควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณยา หรือโอ้อวดอาหารดี รักษาโรค แก้ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งพวกนี้ควบคุมยากมาก  เนื่องจากยอมรับว่า อย.ขาดแคลนบุคลากรในการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะอย.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา หรือกพย. ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่ทำงานด้านยาของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานคอยเฝ้าระวังให้อีกทางหนึ่ง

ที่ผ่านมา อย.ได้ทำการเฝ้าระวังและตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยา ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางสื่อทีวีดาวเทียม และเคเบิ้ลต่างๆ มาโดยตลอด โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมาพบการโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จำนวน  583  ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารถึง 478 ราย ขณะที่ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบันพบการโฆษณาผิดกฎหมายสูงถึง 369 ราย เป็นผลิตภัณฑ์อาหารถึง 292 ราย จากปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีจำนวนสูงขึ้น

ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า  ในปี 2557 อย. จะมีการหารือร่วมกับชมรมนักจัดรายการต่างๆ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งรูปแบบดาวเทียม เคเบิ้ล  เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น และหารือร่วมกันในการป้องกัน และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเผยแพร่โฆษณาลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การอวดอ้างสรรพคุณของยาสเตียรอยด์ เป็นต้น โดยจะย้ำให้เห็นถึงโทษ เช่น หากโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง จะมีโทษจำคุก 3 ปี และปรับอีก 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับใบอนุญาตจาก อย.จะมีโทษปรับอีก 5,000 บาท ส่วนกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจะมีโทษปรับประมาณ 100,000 บาท

“แม้จะมีโทษจับปรับ แต่ก็ยังพบเห็นการโฆษณาผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะโทษปรับยังน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับการโฆษณาที่มีผู้หลงเชื่อไปซื้อมาใช้  ล่าสุด อย.อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมาย โดยจะเพิ่มโทษให้สูงขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ” ภก.ประพนธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม  ในประเด็นความร่วมมือเพื่อป้องกันการโฆษณาผ่านสื่อทีวีดาวเทียม และเคเบิ้ล ยังมีความร่วมมือในการควบคุมการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุด้วย เห็นได้จากความร่วมมือที่ อย. ได้ลงนามร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ในการ ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ โดยแบ่งเป็น 1 อำเภอ 1 ความถี่ โดยมีการประชุมจัดทำกระบวนงาน รูปแบบการตรวจสอบให้เหมือนกันทั่วประเทศ และจัดทำคู่มือแจกให้ทุกจังหวัด แล้ว  
โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเน้นไปที่ขอความร่วมมือกับผู้จัดรายการวิทยุ ให้ทราบถึงปัญหา และผลกระทบจากการโฆษณาลักษณะนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่  เนื่องจากมองว่า  องค์กรวิชาชีพสื่อ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ผู้ดำเนินการกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง เฝ้าระวัง ให้มีการโฆษณาที่เหมาะสม และสื่อวิทยุกระจายเสียงต้องตรวจสอบโฆษณา โดยต้องไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง  ไม่อ้างสรรพคุณหรือส่อให้เกิดความเข้าใจว่า เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องไม่เกี่ยวกับการบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค ไม่มีลักษณะการให้มีบุคคล กลุ่มคนมาชักจูงโน้มน้าว ชวนเชื่อ เป็นต้น

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)  กล่าวว่า  ในส่วนของการโฆษณาผ่านทีวีดิจิตอลนั้น ไม่กังวล เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเริ่มแรก ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องปฏิบัติตามระเบียบอยู่แล้ว และกสทช.ก็คุมเข้มอยู่ แต่ที่ต้องกังลน่าจะเป็นทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้ให้งบประมาณสนับสนุน กพย.ในการป้องกันปัญหา โดยเน้นไปที่ประชาชน คือ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน อย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้

โดยกพย. ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคในการเฝ้าระวังปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง 4 จังหวัด คือ พะเยา ขอนแก่น สระบุรี และ สงขลา หลังจากนั้น ยังขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ อีก 11 แห่งคือ  ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน (อำเภอเวียงสา)   ภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดระยอง   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ

ทั้งนี้ การดำเนินเป็นการเฝ้าระวังร่วมกันระหว่างชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงการให้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งหากพบการโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณก็สามารถร้องไปยังหน่วยงานรัฐได้ทันที เรียกว่าเป็นการป้องกันก่อนเกิดปัญหานั่นเอง เนื่องจากหากไม่ป้องกัน และหลงเชื่อคำโฆษณาเหล่านี้จะส่งผลกระทบ เช่น หากหลงเชื่อกินยารักษาสารพัดโรค อาจทำให้อาการยิ่งทรุด แทนที่จะรักษาหายกลับทำให้เสี่ยงเสียชีวิต บางรายถึงขั้นเสียชีวิตเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ปัญหาการโฆษณา ข้อมูลจากกพย.ระบุว่า  ในปี พ.ศ.2553 วิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศไทยมีมากกว่า 7,700 แห่ง และ คาดการณ์ว่ามีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือนหรือประมาณเป็น ร้อยละ 60 ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่เข้าถึงสื่อเคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม ทั้งนี้ประมาณการว่ามีเม็ดเงินโฆษณาผ่านเคเบิ้ลทีวีและดาวเทียมราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี  

จากการสำรวจดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2556 พบว่า มีคดีเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 156 คดี มูลค่าที่ปรับ มูลค่าที่ปรับรวม 2,136,400 บาท แบ่งเป็น 1. ผลิตภัณฑ์ยา มีการกระทำผิดโฆษณายา 14 คดี พบปัญหาการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาอันเป็นเท็จ โฆษณาในโรคที่ต้องห้ามโฆษณา การโฆษณาขายยาแถมพก มูลค่าการปรับทั้งสิ้น 620,000 บาท  2. ผลิตภัณฑ์อาหาร มีการโฆษณาคุณประโยชน์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต 120 คดี รวมค่าปรับ 566,900 บาท มีฉลากอวดอ้างรักษาโรค 2 คดี รวมค่าปรับ 12,000 บาท 3. ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มีการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 14 คดี มูลค่าการปรับ 337,500 บาท  4.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน 8 คดี รวมค่าปรับ 600,000 บาท

ปัญหาเหล่านี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การจะให้หน่วยงานรัฐควบคุมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญประชาชนต้องรับรู้และรู้ทันการโฆษณาเหล่านี้ด้วย