search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6603188
การเปิดหน้าเว็บ:9453003
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  24 ปี เส้นทางผลักดัน “พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน”
  04 เมษายน 2557
 
 


วันที่: 4 เมษายน 2557
ที่มา: Hfocus
ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/04/6846



นับเป็นเวลาเกือบ “ครึ่งศตวรรษ” หลังการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติยา 2510” ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมามีการปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ล้าหลังอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยด้านต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถดูแลและคุ้มครองประชาชนด้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงมีการรวมตัวเพื่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชนขึ้น

จากจุดเริ่มต้น พ.ร.บ.ขายยา พ.ศ. 2492 จนนำมาสู่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร จากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม เล่าว่า ระยะแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนใหญ่เป็นการออกกฎหมายเพื่อควบคุมวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เรียนและมีใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น จึงจะทำการรักษาได้ แต่ในส่วนของสินค้า โดยเฉพาะยายังไม่มีการควบคุม แต่หลังจากพบว่าการผลิตและขายยาเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากมียาที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงได้มีการออก พ.ร.บ.ขายยา พ.ศ. 2492 เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน และต่อมาได้พัฒนากฎหมายฉบับนี้จนนำไปสู่การออก พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า จาก พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จนถึงขณะนี้ หากนับเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กินเวลามายาวนานร่วมเกือบ 50 ปีแล้ว นับเป็นกฎหมายที่ตกสมัย ไม่ทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มา 4-5 ครั้ง แต่เป็นแค่การปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยยังคงหลักการเดิมไว้ ด้วยเหตุนี้เมื่อปี 2533 ทางกลุ่มนักวิชาการทำงานด้านยาและงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ โดยมุ่งไม่เพียงแต่ควบคุมการขายยา แต่ยังมุ่งคุ้มครองประชาชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็การเข้าถึงยา การได้รับยาที่มีคุณภาพ การควบคุมการผลิตและจำหน่ายยา เป็นต้น   

“การเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ทาง ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ได้ชวนนักวิชาการและคนทำงานด้านยาจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมพูดคุยกันและดูว่าจะแก้ไขกฎหมายยาตรงไหน อย่างไร โดยดูจากกฎหมายของต่างประเทศ ศึกษาข้อดีเพื่อนำมาปรับปรุง”

หลังการเริ่มศึกษาเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ทำให้การพิจารณาเพื่อปรับปรุงกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้ามาก จน 10 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม 2543 จึงได้มีการคลอดร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขที่จัดทำโดยภาคประชาชนออกมา ซึ่งในการดำเนินการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาของประชาชนได้มีการเร่งจัดทำในระยะท้าย เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี 2542 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการจัดทำร่างฉบับปรับปรุง พ.ร.บ.ยาออกมาเช่นกัน จึงต้องเร่งจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเตรียมเข้าไปพิจารณาร่วมในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็เห็นตรงกับภาคประชาชนว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ที่บังคับใช้มาอย่างยาวนานได้ล้าสมัยลงแล้ว โดยทาง อย.ได้นำเสนอเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2542

“ขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้น 3 เดือน คือ ในวันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ทาง ครม.จึงได้อนุมัติในหลักการ แต่ที่สุดการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ต้องชะงักลง แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน เนื่องจากกระทบต่อบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าการเมืองบ้านเรามีความซับซ้อน โดยเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ เป็นเหตุให้กฎหมายนี้ไม่ผ่านการพิจารณา” ภก.วรวิทย์ กล่าว และว่า แม้แต่ในช่วงของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา กลับเข้าไปใหม่ ซึ่งได้มีการอนุมัติในหลักการเช่นกัน แต่ก็ไปไม่รอดด้วยเหตุผลข้างต้นเดียวกัน

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า หลักจากที่ได้พยายามผลักดันให้เกิดการปรับปรุง พ.ร.บ.ยา มาอย่างยาวนาน และเห็นพ้องกันว่า เรื่องนี้คงรอฝ่ายราชการแก้ไขกฎหมายไม่ไหว เนื่องจากในฐานะหน่วยงานราชการมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ท้ายที่สุดทางเครือข่ายนักวิชาการด้านยา เครือข่ายผู้ป่วย และนักกฎหมาย จึงเห็นควรให้มีการจัดทำเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับภาคประชาชน” พร้อมเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชน ได้ 10,565 รายชื่อ และได้เข้ายื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 แต่ขณะนี้ผ่านพ้นมาปี 2557 แล้ว ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับภาคประชาชนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ในกรณีที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นลงนามเห็นชอบก่อน จึงจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในชั้นรัฐสภาได้ ซึ่งที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ลงนามในร่างกฎหมายนี้



ภาพเมื่อครั้งที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมด้วยตัวแทน เข้ายื่นรายชื่อผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ...... จำนวน 10,565 รายชื่อ ต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เพื่อตราเป็นกฎหมาย ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2555

“ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ยาที่เสนอโดยภาคประชาชนได้ถูกแช่แข็งโดยนายกรัฐมนตรีที่ไม่ยอมลงนาม ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายนอกจากมุ่งคุ้มครองสิทธิและดูแลประชาชนด้านยาแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่จัดทำโดยประชาชน เป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาล”

สำหรับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ยา ภาคประชาชนนั้น ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความแตกต่างจากเนื้อหาที่ อย.นำเสนอแก้ไขอยู่บ้าง เพราะในฐานะที่เป็นกฎหมายที่จัดทำโดยภาคประชาชน จึงมีความอิสระที่จะมุ่งเพื่อคุ้มครองประชาชนได้อย่างเต็มที่ เรียกว่า มีประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ต่างจากร่างกฎหมายที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐ ที่นอกจากต้องฟังฝ่ายการเมืองแล้ว ยังต้องถ่วงดุลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประโยชน์จากการออกกฎหมายด้วย อย่างเช่น บริษัทยา เป็นต้น

ทั้งนี้หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน มีเจตนา 2 ข้อ คือ การพัฒนาระบบยาโดยมุ่งคุ้มครองประชาชน และการรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต อย่างการทำข้อตกลงการค้าเสรี ที่มีความพยายามขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ที่จะกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน รวมไปถึงการขอแก้ไขการขึ้นทะเบียนยาที่ไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลทางยา ซึ่งจะกระทบต่อการเตรียมผลิตยาสามัญเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเช่นกัน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องหาทางป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้า โดยมีการกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน เรียกว่าส่งผลกระทบต่อบริษัทยาข้ามชาติโดยตรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการควบคุมคุณภาพยา การถอนและทบทวนทะเบียนยาที่เป็นปัญหา การกำหนดราคายาหรือการจัดทำโครงสร้างราคายา การควบคุมการส่งเสริมการขายยา และการควบคุมการโฆษณายา เป็นต้น

“สาระสำคัญใน พ.ร.บ.ยาฉบับประชาชนมีเยอะมาก แต่จะเน้นที่การคุ้มครองประชาชนเป็นหลัก ซึ่งปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.ยา ที่ล้าหลังนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนมาอย่างยาวนาน เพียงแต่คนในประเทศส่วนใหญ่ไม่ทราบ แต่จะเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักวิชาการด้านยา รวมถึงผู้ป่วยที่เคยประสบปัญหาการเข้าถึงยา อย่างกรณียาต้านไวรัสเอดส์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะจากราคายาต้านไวรัสในอดีต ซึ่งอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา แต่ภายหลังมีการผลิตสูตรยาจีพีโอเวียร์ขึ้นทำให้ราคายาต้านไวรัสลดลง ช่วยผู้ป่วยเอชไอวีจำนวนมากเข้าถึงยาได้” ภก.วรวิทย์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน ยังมีหลายเรื่องที่ไม่ได้ใส่ลงไป อย่างการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางยาเช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากจะยิ่งทำให้การผลักดันกฎหมายเป็นไปได้ยากมากขึ้น จึงต้องตัดออกไป

ภก.วรวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการทำงานด้านยาตั้งแต่ปี 2524 เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบยาในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการผลักดันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาระบบยาในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเข้าใจว่ายาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อคนเรา และประชาชนเองก็ควรได้รับการคุ้มครองในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อการเข้าถึงยา สำหรับในส่วนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี ยังคงต้องเดินหน้าผลักดันต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคุ้มครองประชาชนในที่สุด

-ขณะที่  ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. ชี้แจงว่า กพย. ร่วมกับเครือข่าย เช่น มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กลุ่มศึกษาปัญหายา เป็น้น ได้ยื่นร่าง พรบ.ยา ฉบับ ประชาชน แก่ผู้แทนรัฐสภา เมื่อ20 มกราคม 2555 และได้รับการยืนยันว่าได้ตรวจสอบแล้วรายชื่อถูกต้อง รอเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเพราะเป็นกฎหมายการเงิน แต่จนถึงปัจจุบัน กว่า 2 ปีแล้ว ที่ยังไม่ได้รับการแจ้งกลับอีกเลย รวมทั้งร่าง พรบ.ยา ฉบับ กระทวงสาธารณสุข ก็กลับหายไปอยางไร้ร่องรอย ว่าขณะนี้อยู่ในสถานภาพใด จึงน่าเป็นห่วงต่อสภาวการณ์ดังกล่าว เพราะงานระบบยาต้องการการพัฒนาต่อเนื่อง ความรู้ใหม่ ๆ ข้อกำหนดกติการใหม่ ๆ ที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และพัฒนาอุตสาหกรรมยา ดังนั้นคนไทยได้รับผลกระทบแน่ ๆ จากความล่าช้าของการออก พรบ.ยา ฉบับดังกล่าว