|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6628052 การเปิดหน้าเว็บ:9479146 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
เตือนล้างมือก่อนออก รพ.เหตุเชื้อดื้อยาแรง |
|
|
|
06 มกราคม 2557
|
|
|
|
วันที่: 6 มกราคม 2557 ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000001398
แล็บศิริราชยันเชื้อแบคทีเรียแกรมลบดื้อยาเพิ่มขึ้น ชี้หากติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลจะยิ่งรักษายาก เหตุเป็นสถานที่ใช้ยาฆ่าเชื้อมาก แบคทีเรียจึงยิ่งแข็งแกร่ง ระบุพบบ่อยจากการใส่เครื่องช่วยหายใจ ติดเชื้อในกระแสเลือด และมักทำให้เกิดปอดบวม เตือน ปชช.หลังเยี่ยมผู้ป่วยให้ล้างมือก่อนออกจากโรงพยาบาล ก่อนนำเชื้อกลับไปแพร่กระจายที่บ้าน รศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยายังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทยยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ และเมื่อเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นและแพงมากขึ้น ซึ่งเชื้อก็จะพัฒนาตัวมันเองให้สู้กับยาได้ คือยิ่งใช้ยาแรงเชื้อก็ยิ่งดื้อยามากขึ้น เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของภาควิชาจุลชีววิทยาก็พบว่า เชื้อแบคทีเรียมีการดื้อยามากขึ้น โดยเชื้อแบคทีเรียที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทแกรมบวก และประเภทแกรมลบนั้น เชื้อแบคทีเรียประเภทแกรมลบนี้เองที่ดื้อยาจนเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุข รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวอีกว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลจะมีโอกาสดื้อยาสูง เนื่องจากโรงพยาบาลจะมีการใช้ยาฆ่าเชื้อเยอะ เชื้อแบคทีเรียพวกนี้ก็จะมีกลไกในการต่อสู้กับยาฆ่าเชื้อ ดิ้นรนจนแข็งแกร่งมาก ดังนั้น ผู้มีภูมิต้านทานต่ำก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เราจึงไม่อยากให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลนานจนเกินไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เพราะหากติดเชื้อดื้อยาก็จะรักษาได้ยาก ซึ่งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบดื้อยาที่พบได้บ่อย เช่น มักจะทำให้เกิดโรคปอดบวม แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคปอดบวมจะเกิดจากเชื้อดื้อยาทั้งหมด การใส่เครื่องช่วยหายใจ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น "มาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลนั้นคือ 1.อย่าใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นหรือพร่ำเพรื่อ เพราะเชื้ออาจตายไม่หมดแล้วดื้อยาขึ้นมาได้ 2.หากคนไข้ติดเชื้อ แพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วย ที่สัมผัสผู้ป่วยจะต้องล้างมือ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และ 3.ต้องควบคุมโรคให้ได้ โดยเลือกใช้ยาให้เหมาะสม และไม่ให้อยู่โรงพยาบาลนานเกินจำเป็น สำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่มาเยี่ยมผู้ป่วย หากมีการสัมผัสผู้ป่วยขอให้ล้างมือทันทีก่อนออกจากโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่มักจะลืมให้ความสำคัญกับการล้างมือ อย่างพอสัมผัสผู้ป่วยเสร็จก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ เชื้อก็จะไปติดอยู่ที่โทรศัพท์มือถือ เมื่อกลับไปถึงบ้านเชื้อก็จะไปแพร่กระจายที่บ้านตามที่ที่เราวางโทรศัพท์มือถือไว้ เป็นต้น รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าว รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวด้วยว่า การล้างมือนั้นล้างด้วยสบู่ธรรมดาก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่หากมีประวัติเคยติดเชื้อมาก่อนก็อาจจะล้างด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ แต่หากเผลอสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายหลังจากสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้ล้างมือ ก็อาจใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ควรจะต้องมีการรณรงค์ให้มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และหากไม่สบายเป็นหวัดก็ควรจะคาดหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
|
|
|
|
|
|