search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6603237
การเปิดหน้าเว็บ:9453052
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  กพย.จี้กรมทรัพย์สินฯ คงระบบคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร
  18 กันยายน 2554
 
 


วันที่: 18 กันยายน 2554
ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000118843


กพย.

กพย. เผยงานวิจัยชี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาต้นแบบมักใช้ยื่นโนติสและฟ้องร้องบริษัทยาชื่อสามัญ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหวังสกัดยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด แนะคงระบบคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรให้มีเวลามากพอให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้องได้

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย) กล่าวว่า กพย. เผยแพร่งานวิจัยซึ่งเป็นเอกสารจุดประเด็นเพื่ออภิปรายและเสนอมาตรการการทำการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant opposition) และการดำเนินการเพื่อเพิกถอนสิทธิบัตร (Patent revocation) : ถอดบทเรียนบริษัทยาในประเทศไทย พบว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยาต้นแบบมักใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยการยื่นโนติสและฟ้องร้อง บริษัทยาชื่อสามัญว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหวังสกัดยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด ทั้งนี้ บริษัทยาต้นแบบเลือกใช้การฟ้องร้องเอาผิดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การละเมิดสิทธิบัตร, เครื่องหมายการค้า หรือแม้แต่ละเมิดลิขสิทธิ์ในเอกสารกำกับยาทั้งๆที่ไม่ใช่วรรณกรรมตามกฎหมายไทย นอกจากนี้ ในระหว่างคดีอยู่ในศาลยังใช้กลวิธีการส่งจดหมายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ให้ระงับการสั่งซื้อยาชื่อสามัญที่เป็นคดีความ ทั้งๆที่คดียังไม่สิ้นสุด หากบริษัทยาชื่อสามัญเล็กๆที่ไม่มีฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายสิทธิบัตรที่แข็งแกร่งมากพอ ก็อาจจะถอดใจ ไม่สู้คดี ถอนยาจากตลาด ซึ่งทำให้บริษัทยาต้นแบบผูกขาดและเรียกราคายาได้แพงขึ้นเพราะขายเพียงเจ้าเดียว แม้ว่าในความเป็นจริง ในที่สุดศาลอาจจะชี้ว่า บริษัทยาชื่อสามัญนั้นอาจจะไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเลยก็ได้

“ดังนั้น ระบบสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่มีคุณภาพและเสถียรมากพอ, คู่มือการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรที่มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการขอสิทธิบัตรที่ไม่เหมาะสมหรือ Evergreening Patent เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง, และ พัฒนาระบบการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรให้มีระยะเวลามากพอสำหรับผู้มีส่วน เกี่ยวข้องต่างๆจะได้ช่วยตรวจสอบให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้เงินทุนที่เหนือกว่าใช้ช่องทางกฎหมาย รังแกบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศ” ผศ.ดร.นิยดากล่าว

ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากเอกสารงานวิจัยชี้ให้เห็นชัดว่า มีความพยายามในการทำให้ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะสิทธิบัตร ของไทยอ่อนแอลง ซึ่งนี่จะกระทบกับสาธารณะโดยรวมอย่างไม่มีความสมดุลย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรแก้ไขปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อบริษัทยาชื่อสามัญของประเทศไทย และจำเป็นต้องเท่าทันต่อแรงกดดัน กลวิธีต่างๆ ของบริษัทยาต้นแบบ ซึ่งถูกหนุนหลังโดยประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ไม่โอนอ่อนไปตามอิทธิพลหรือการเจรจาที่จะตัดตอนการเติบโตของอุตสาหกรรมของ ประเทศดังที่เคยเป็นมาแล้ว เมื่อยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ก่อนล่วงหน้าถึง 8 ปีเต็ม ซึ่งทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสมหาศาล เมื่อเทียบกับอินเดียที่แก้ไขในอีก 13 ปีต่มา

นางอัฉรา เอกแสงศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า อยากให้ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้ามาช่วยเหลือบริษัทยาเล็กๆที่อาจถูกขู่ หรือช่วยตรวจสอบและคัดค้านคำขอสิทธิบัตรที่ไม่เหมาะสม เช่นที่มีการรวมตัวของนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในอินเดียมาทำงานด้านนี้ ที่ผ่านมา การวิจัยและพัฒนาของสถาบันฯพบปัญหาเยอะมากโดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลสิทธิบัตร  “กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรปรับ ปรุงระบบสืบค้นสิทธิบัตรให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศ เพื่อความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่การบั่นทอน เช่นปัจจุบัน แม้ที่ผ่านมามีการปรับปรุงบ้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังพบปัญหาในการปฏิบัติ ระบบสืบค้นยาก ระบบไม่เสถียร มีความไม่แน่นอนสูง บางทีพบคำขอนั้น บางทีก็ไม่พบ บางคำขอก็หายไปเฉยๆ ยกตัวอย่าง เช่น เราพบคำขอไม่ต่ำกว่า 3 ฉบับที่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ในปี 2553 ซึ่ง เกิน 5 ปีนับจากวันประกาศโฆษณา อีกทั้งสถานะเดิมเคยลงว่ายื่นตรวจสอบไปแล้วเมื่อปี 2545 ซึ่งไม่ควรเป็นไปได้ หากระบบยังไม่พร้อมเช่นนี้ บริษัทยาชื่อสามัญก็จะไม่มีความมั่นใจเดินหน้าผลิตยาที่คิดว่าไม่ละเมิด สิทธิบัตรมาแข่งขันในตลาดเพื่อให้ยามีราคาถูกลง”