ที่แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข - นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของผู้บริหารแพทยสภาประมาณ 10 คน ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข มีข้อสรุปที่เป็นความเห็นตรงกันเพื่อเสนอแก้ไขใน 3 ประเด็น ในร่างที่เสนอโดยรัฐบาล คือ
1. ให้แก้ไขในมาตรา 6 ที่กำหนดกรณีที่ไม่ต้องจ่ายชดเชย โดยให้ตัด ( 2 ) ที่ระบุว่า ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพออก และให้คง ( 1 ) ไว้การยกเว้นการชดเชยเฉพาะกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพยาธิสภาของโรค เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ให้ได้รับการเยียวยาเร็วขึ้น ส่วน ( 3 ) ที่ระบุยกเว้นความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้วไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจะต้องมีการแก้ไขกำหนดระยะเวลาหลังการรักษาเพื่อความชัดเจน
ประเด็นที่ 2. มาตรา 5 ให้เพิ่มข้อควรวรรค 2 "เมื่อผู้เสียหายได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้สิทธิการฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรมเป็นอันระงับสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และเพื่อให้แพทย์จะได้ทำงานด้วยความสบายใจ ไม่วิตกกังวล และยังเป็นหนทางแก้ไขปัญหาแพทย์ส่งต่อ หลีกเลี่ยงการรักษาเพราะไม่อยากถูกฟ้อง
"กรณีนี้เป็นเพียงแค่การยกเว้นการฟ้องแพ่งเท่านั้น ส่วนการฟ้องอาญานั้น หากผู้เสียหายอยากฟ้องก็ให้ฟ้องไป เพราะที่ผ่านมาการฟ้องคดีอาญานั้นน้อยมาก ซึ่งการฟ้องส่วนใหญ่ก็เพื่อบีบหมอเพื่อเรียกเงินชดเชย อีกทั้งการฟ้องอาญายังเป็นเรื่องที่ยาก และอาจเสียเงินเปล่า จึงไม่ห่วง" นายกแพทยสภา กล่าว
ส่วนประเด็นที่ 3. นั้น ให้ตัดมาตรา 38 ถึงมาตรา 41 ที่เป็นกระบวนการไกล่เกลี่ยออก โดยให้ยึดตามร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นฉบับภาคประชาชน เพราะปัจจุบันแม้จะไม่มีมาตรานี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยก็มีอยู่แล้ว รวมถึงระบบการพัฒนาการบริการ ซึ่งในแต่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีระบบรับรองคุณภาพสถานพยาบาลคอยควบคุมอยู่จึงไม่จำเป็น "ความเห็นข้างต้นถือเป็นข้อสรุปร่วมกัน แต่ในการหารือก็มีการนำเสนอประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุน ควรนำคืนคลังในแต่ละปี เพราะจะเป็นการกันไม่ให้นำเงินภาษีประชาชนไปใช้อย่างอื่น"นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคณะทำงาน 78 คน ของแพทยสภาเพื่อแก้ไขปัญหา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ได้เพิ่มเติมเป็น 80 คน เนื่องจากเพิ่มแพทย์จากกรมการแพทย์และสภากาชาดไทยเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมแพทย์ทั้งหมด และจะมีการเริ่มประชุมนัดแรกในวันศุกร์ 27 สิงหาคม นี้ โดยจะนำเสนอข้อสรุปความเห็นของแพทยสภาข้างต้นให้ที่ประชุมพิจารณา และให้ถือมติตามความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อสรุปดังกล่าวแสดงว่าทางแพทยสภายอมรับแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อแพทย์ นพ.สมศักดิ์ กล่าว เราจะยอมรับหากแก้ไขตามที่เสนอ โดยเฉพาะในประเด็นการยุติกระบวนการฟ้องต่อศาลหลังรับเงินชดเชย เพราะจะทำให้แพทย์สบายใจ อีกทั้งการจ่ายเงินชดเชยนั้น หากรัฐบาลมีเงินที่จะจ่าย พร้อมจ่าย พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนก็ทำไป แต่ยืนยันว่าอัตราการร้องเรียนเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับการจ่ายเงินสมทบของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ปล่อยให้ทางเอกชนเป็นผู้นำเสนอ แพทยสภาไม่มีหน้าที่ดังกล่าว |