search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6628243
การเปิดหน้าเว็บ:9479338
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  แก้ พรบ. สิทธิบัตร ดูเหมือนดี แต่บั่นทอนการเข้าถึงยา ทำซีแอลยากขึ้น
  07 ธันวาคม 2563 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 



จากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมฯ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563 องค์กรภาคประชาสังคม 12 องค์กรได้ส่งจดหมายถึงกรมฯ แสดงความคิดเห็น ข้อกังวล และข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 นั้น

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ครั้งนี้ เพราะเนื้อหาจะทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ ทำให้ไม่สามารถพัฒนายาที่หมดอายุสิทธิบัตรได้ เนื่องจากยาเหล่านั้นจะถูกคำขอสิทธิบัตรอีกหลายฉบับลากอายุความคุ้มครองผูกขาดออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางยาและการเข้าถึงยาของประชาชน และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภาพรวม ทั้งนี้ ผู้จัดการ กพย.ตั้งข้อสังเกตว่า สาระที่แก้ไขหลายเรื่องเป็นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปสฺพลัส) ที่เคยถูกเสนอมาในการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ 

“ประเทศไทยทำตามความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลกแล้ว การแก้ไขกฎหมายที่อ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามทริปส์จึงฟังไม่ขึ้น แต่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความให้เกินจนกระทั่งทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ จึงขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทบทวน”

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรครั้งนี้ ดูเหมือนจะดีที่เพิ่มให้ประเทศไทยสามารถประกาศซีแอล (CL – การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) เพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นที่ผลิตยาเองไม่ได้และประกาศซีแอลเพื่อนำเข้า แต่เมื่อดูในกฎหมายที่แก้ไขกลับน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะกรมฯ ไม่ได้คำนึงผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา

“สิ่งที่กรมฯ แก้ไขเป็นการสร้างภาพ ไม่ได้จริงใจที่จะแก้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง แต่ทำให้การใช้มาตรการซีแอลยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของคนไทยมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันกระทรวง ทบวง และกรมสามารถประกาศใช้ซีแอลได้เอง แต่ในร่างฉบับแก้ไข กลับต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน และยังอนุญาตให้เจ้าของสิทธิบัตรที่ไม่พอใจกับการประกาศใช้มาตรการซีแอลฟ้องร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านการประกาศใช้ หรือให้ยกเลิกมาตรการถ้าความจำเป็นหมดไปได้ รวมถึงการกำหนดค่าชดเชยจากการใช้ซีแอลก็แก้ไขให้ผู้ประกาศใช้ต้องจ่ายโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เจ้าของสิทธิบัตรจะสูญเสีย แทนที่จะคำนึงถึงเศรษฐานะของประเทศผู้ประกาศใช้ เพราะยาถูกผูกขาดและราคาแพง” นายอภิวัฒน์กล่าว

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอว็อทช์   กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฉบับนี้มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิบัตรและให้ความสะดวกในการขอรับสิทธิบัตร โดยหวังว่าจะดึงดูดให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้นักประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในเชิงลบต่อประชาชนและผู้บริโภคอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชน

“ดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามของการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองในมาตรา 9(4) ของร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่รับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่าการบำบัดรักษาโรคสามารถจดสิทธิบัตรได้ ในกฎหมายปัจจุบันชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่อนุญาตให้จด ซึ่งดิฉันเห็นด้วยกับที่ภาคประชาสังคมเสนอว่าให้ยึดนิยามตามกฎหมายปัจจุบันและเพิ่มเรื่อง ห้ามการป้องกันและรักษาโรคด้วยยาในคนและสัตว์จดสิทธิบัตรเข้าไปด้วย” รองประธาน FTA Watch กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในครั้งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อระบบสาธารณสุข บางประเทศประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้สามารถนำมาตรการซีแอลมาใช้ได้สะดวกมากขึ้น หรือประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกได้ยื่นข้อเสนอให้สภาความตกลงทริปส์พิจารณาระงับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ เพื่อไม่ให้ผูกขาดผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 แต่ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับนี้ ซึ่งร่างขึ้นภายหลังการระบาด กลับสะท้อนให้เห็นว่าขาดมุมมองในเรื่องภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต โดยที่ข้อจำกัดของกฎหมายอาจทำให้วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า แม้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรจะมีระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น แต่ในรายละเอียดกลับลิดรอนสิทธิของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและคัดค้านลง โดยให้อำนาจกับอธิบดีเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรได้ ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันเปิดกว้างว่าเป็น “ผู้ใด” ก็ได้ นอกจากนี้ ยังจำกัดประเภทของเอกสารที่ยื่นเป็นข้อมูลขอให้กรมฯ พิจารณาประกอบเพี่อยกคำขอฯ ที่เห็นว่าขาดคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิบัตรอีกด้วย

“การรับฟังฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ภาคประชาสังคมได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร  ซึ่งครั้งแรกเป็นการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี 2557 โดยการแก้ไขกฎหมายใดก็ตามต้องเปิดให้มีการรับฟังฯ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แต่การรับฟังความคิดเห็นอีก 3 ครั้งหลังการรัฐประหารทำผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น และมีระยะเวลาเสนอความคิดเห็นจำกัดเพียง 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และถือว่าเป็นกระบวนการที่รวบรัดและลดทอนการมีส่วนของประชาชน” นายเฉลิมศักดิ์กล่าวและให้ความคิดเห็นอีกว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ที่แก้ไขและเปิดรับฟังฯ แต่ละครั้ง จะสังเกตได้ว่า ความคิดเห็น ข้อกังวล และข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคม ที่เสนอไปทุกครั้ง แทบจะไม่ได้รับการพิจารณาและนำไปใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ. เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ถ้าร่างฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อประชาชนในเรื่องการเข้าถึงยา หน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขในการใช้มาตรการคุ้มครองด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศ และตัวแทนของทั้ง 12 องค์กรจะขอเข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอหารือและชี้แจง

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงชื่อในจดหมายแสดงความคิดเห็น ได้แก่ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.), มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.), มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.), กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.), กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
เอกสารร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขที่กรมฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563 สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรม https://bit.ly/3qwDuQS ส่วนเอกสารความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขโดยภาคประชาสังคม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/3gjis3A