search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517927
การเปิดหน้าเว็บ:9361136
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  "ฟาร์มหมู" ภัยเสี่ยง "ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่"
  23 มกราคม 2560
 
 


ที่มา: คม ชัด ลึก



รายงานพิเศษ
 

          ปัจจุบันมนุษย์คุ้นเคยกับ "ยาปฏิชีวนะ" (antibiotics) เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ทารกเกิดติดเชื้อท้องร่วง หรือเด็กวิ่งเล่นหกล้มเป็นบาดแผล จนกระทั่งเป็นวัยรุ่นติดเชื้อซิฟิลิส เมื่อไปหาหมอจะได้ยินคำสั่งให้ "กินยาฆ่าเชื้อ" หรือยามีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตเชื้อจุลชีพ หรือเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ฯลฯ

          แต่หลายคนแทบไม่รู้ว่า ยาปฏิชีวนะที่พวกเราคุ้นเคยนั้น เพิ่งค้นพบได้เพียง 90 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เชื้อแบคทีเรียตัวนำพา "กาฬโรค" เคยทำให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไปถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในยุโรปหรือประมาณ 25 ล้านคน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และอีก 300–400 ปีต่อมา ทำให้คนจีนเสียชีวิตไปอีกกว่า 10 ล้านคน จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนหลายล้านคนยังต้องมาสังเวยชีวิตให้แก่ "สงคราม" สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบาดแผลที่ติดเชื้อโรค โดยเฉพาะทหารโดนสะเก็ดระเบิดส่วนมากเสียชีวิตจากบาดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย 

          ยิ่งไปกว่านั้น โรคธรรมดาทั่วไปที่สามารถรักษาได้ในวันนี้ เช่น บาดทะยัก หัด ซิฟิลิส อหิวาต์ ไทฟอยด์ เคยคร่าชีวิตมนุษย์ในอดีตไปจำนวนมาก จนกระทั่งมีการค้นพบ "ยาปฏิชีวนะ" ทำให้อัตราการตายจากโรคเหล่านี้ลดน้อยลงจนแทบไม่มีใครเสียชีวิต นอกจากคนที่มี "เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ"

          การค้นพบยาปฏิชีวนะถือเป็นหนึ่งในเรื่องมหัศจรรย์ของวงการวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการค้นพบด้วยความบังเอิญ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง แพทย์ชาวสกอตแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยารู้สึกเศร้าใจกับผู้คนจำนวนมากล้มตายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังบาดแผลติดเชื้อโรค ก่อนแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต หรือที่เรียกกันว่าติดเชื้อในกระแสเลือด

          หมอเฟลมมิงพยายามทดลอง "เพาะเชื้อแบคทีเรีย" เพื่อค้นหาวิธีหยุดยั้งเชื้อโรคเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะกำลังเพาะเชื้อแบคทีเรียในจานทดลอง ตัวเขากำลังป่วยเป็นไข้หวัด แล้วเผลอทำ "ไอจาม" ออกมาโดยปิดปากและจมูกไม่ทัน เชื้อกระเด็นลงจานเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เวลาผ่านไป 10 วัน เขาสังเกตว่าแบคทีเรียในจานเพาะเชื้อส่วนที่ถูกน้ำมูกหยดลงไปนั้น "ไม่มีการเจริญเติบโต"

          ความบังเอิญที่เกิดขึ้นทำให้หมอเฟลมมิงค้นพบว่า สารที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียนั้น ก็คือสารคัดหลั่งในร่างกายมนุษย์นั่นเอง ความบังเอิญครั้งแรกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เขายังคิดไม่ออกว่าจะผลิตยาฆ่าเชื้อได้อย่างไร จนกระทั่งความบังเอิญครั้งที่สองเกิดขึ้นช่วงปี 1928 ผู้ช่วยวิจัยลืมเก็บจานทดลองเพาะเชื้อแบคทีเรีย "สแตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส" (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อโรคที่เป็นบ่อเกิดของ "แผล ฝี หนอง" 

          จานทดลองนี้แทนที่จะอยู่ห้องเพาะเชื้อ แต่กลับถูกลืมวางไว้ใกล้อ่างล้างมือริมหน้าต่าง ตอนที่หมอเฟลมมิงมาเห็นนั้น เขาโกรธมาก เพราะจานเต็มไปด้วย "เชื้อรา" ขณะที่เขาเอื้อมมือไปจับโยนทิ้งลงถังขยะนั้น ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า เชื้อราคือตัวการทำให้แบคทีเรียตาย เมื่อทดลองต่อไปจึงรู้ว่า "เชื้อรา" เหล่านี้เป็นสายพันธุ์เพนิซิลเลียม หรือ "ราเขียว" ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียบางชนิด นั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้นพบการผลิต "ยาเพนิซิลลิน" (Penicillin)

          ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลินสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ร้อยละ 50 เปรียบเทียบกับทหารติดเชื้อที่บาดแผลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงโรคปอดบวมและโรคระบาดอีกหลายชนิด ยาเพนนิซิลินนำมาใช้รักษาโรคได้อีกหลายชนิด ได้แก่ ทอนซิลอักเสบ คออักเสบ ปอดบวม คอตีบ ซิฟิลิส ฯลฯ

          หากอธิบายโดยง่าย ยาปฏิชีวนะ หรือบางครั้งเรียกว่า ยาต้านจุลชีพ หมายถึง ยาที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิต เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อ ถูกแบ่งกลุ่มย่อยตามคุณสมบัติของยา เช่น ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา หรืออาจแบ่งตามคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อโรคแต่ละชนิด หรือแบ่งตามโครงสร้างสารเคมี อย่างไรก็ตาม การคิดค้นยาปฏิชีวนะทำได้ยากและต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ในวงการแพทย์แทบจะไม่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะตัวใหม่

          ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทั่วโลกกำลังหวาดกลัวคือ "การดื้อยาปฏิชีวนะ" หมายถึง เชื้อโรคที่ยาปฏิชีวนะเคยใช้รักษาได้ผล ค่อยๆ พัฒนาตนเองทำให้แข็งแรงทนทานมีคุณสมบัติดื้อยาตัวเดิม ต้องเปลี่ยนยากลุ่มใหม่ หรือยาฤทธิ์แรงกว่าเดิม ราคาแพงกว่าเดิม เช่น คนป่วยเป็น "ฝี" หากติดเชื้อไม่ดื้อยา เมื่อไปคลินิกหมอสั่งยาคล็อกซาซิลลินให้กิน ค่าใช้จ่ายประมาณ 150-200 บาท แต่หากผู้ป่วยมีเชื้อดื้อยาตัวดังกล่าวอาจต้องไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาตัวอื่น ทำให้ค่ารักษาอาจแพงเป็น 4-5 หมื่นบาท

          วงการแพทย์รู้ดีว่ามนุษย์กำลังก้าวเดินเข้าสู่สถานการณ์น่ากลัวยิ่งนัก เนื่องจากมีการค้นพบสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียที่แข็งแรง สามารถต่อต้านหรือดื้อยาปฏิชีวนะหลายตัว โรคติดเชื้อหลายชนิดซึ่งเคยรักษาได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นโรคที่รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ต้องใช้ยากลุ่มใหม่ราคาแพงขึ้นทุกวัน

          "ดร.พลายแก้ว ไชยเบญจวงศ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.นเรศวร อธิบายว่า การคิดค้นยาปฏิชีวนะเป็นเรื่องยาก จนถึงปัจจุบันแม้มีเทคโนโลยีทันสมัย อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ไฮเทคมากมาย แต่ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ยังดัดแปลงมาจาก "เพนิซิลลิน" ที่ผ่านมาทั้งคนและสัตว์ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดื้อยาปฏิชีวนะ วิวัฒนาการของแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาชนิดไปช่วงเวลาหนึ่งแล้วแบคทีเรียพัฒนาตัวเอง หรืออาจเกิดจากการใช้ยาผิดวิธีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น เชื้อแบคทีเรีย "สแตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "เอส ออเรียส" (S. aureus) ที่ทำให้เกิดแผล ฝี หนอง ยุคเริ่มแรกเพนนิซิลินสามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สักพักก็เชื้อเริ่มดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนกลุ่มยา "เมธิซิลิน" (Methicillin) ที่เป็นยาเพนิซิลลินกึ่งสังเคราะห์ทนกรดและทนต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค แต่ในเวลาไม่นานเชื้อ เอส ออเรียส ก็ต้านทานยาตัวนี้อีก กลายเป็นเชื้อ "เอ็มอาร์เอสเอ" MRSA (Methicillin-resistantS. aureus) หากมีคุณแม่คนใดติดเชื้อหรือเป็นแผลตอนคลอดถ้าเผอิญโดนเชื้อตัวนี้เข้าไปจะรักษายากมาก ที่ผ่านมา "เชื้อเอ็มอาร์เอสเอ" มักแพร่กระจายอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใช้ยาหลายชนิดในจำนวนมาก เชื้อโรคในโรงพยาบาลจึงมักดื้อยาหลายขนาน แต่ปัจจุบันเชื้อตัวนี้สามารถพบได้ทั่วไปในชุมชน 

          "ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คืออุบัติการณ์การเกิดดื้อยาของสายพันธุ์แบคทีเรีย "กลุ่ม อี โคไล" ที่กลายพันธุ์เป็นยีนดื้อยา และดื้อยาโคลิสติน (colistin) ที่เป็นยาด่านสุดท้ายในการรักษาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล เมื่อไม่กี่ปีมานี้ทีมวิจัยพบกลไกต่อต้านยาโคลิสติน เกิดจาก ยีน เอ็มซีอาร์-วัน (MCR-1) พบอยู่บนพลาสมิดเชื้ออี โคไล (E. coliSHP45) ที่แยกได้จากเนื้อหมู และยีนตัวนี้สามารถส่งผ่านไปยังสายพันธุ์ใกล้เคียงได้ง่าย โดยกระบวนการที่เรียกว่า horizontal gene transfer หากการถ่ายทอดยีนเอ็มซีอาร์วันไปยังแบคทีเรียดื้อยาที่ก่อโรคร้ายแรงตัวอื่นๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอาจไม่มียาปฏิชีวนะชนิดไหนเหลือให้ใช้รักษาแล้ว"

          ดร.พลายแก้ว กล่าวต่อว่า การใช้ยาโคลิสตินผสมในอาหารหมูหรืออาหารสัตว์ หรือใช้แพร่หลายในฟาร์มหมู เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของตัวการแพร่ระบาดเชื้อดื้อยา ควรมีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์ทุกประเภท อนุญาตให้ใช้ยาโคลิสตินเมื่อจำเป็นจริงเท่านั้น เพราะนี่คือหนทางเดียวที่จะลดอุบัติการณ์และการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ลงได้

          ขณะนี้ฟาร์มหมูทั่วโลกถูกจับตามองว่าอาจเป็นแหล่งแพร่ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากนักวิทยาศาสตร์จากจีนยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถึงการค้นพบ ยีนดื้อยาในคนและฟาร์มปศุสัตว์

          เมื่อปลายปี 2558 วารสารแลนเซต อินเฟกเชียส ดิสีสเซส (Lancet Infectious Diseases) ตีพิมพ์ผลงานทีมวิจัยชาวจีนที่ค้นพบ "ยีนเอ็มซีอาร์-วัน" ยีนตัวนี้พบอยู่ในพลาสมิดหรือสารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่สามารถดื้อ "ยาโคลิสติน" และมีความสามารถในการถ่ายโอนยีนไปให้แบคทีเรียต่างชนิดได้ด้วย งานวิจัยนี้เก็บตัวอย่างช่วงปี 2554-2557 จากเชื้อแบคทีเรียของหมูในโรงฆ่าสัตว์และจากเนื้อหมูและเนื้อไก่ในตลาด 30 แห่ง รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตอีก 27 แห่ง ในเมืองกว่างโจว และยังพบเชื้อเอ็มซีอาร์-วันจากผู้ป่วยในโรงพยาบาล 2 แห่ง ในพื้นที่เดียวกันด้วย จึงมีการเรียกร้องให้จำกัดการใช้ยาโคลิสตินในฟาร์มหมูของจีน

          หลังจากทีมวิจัยจีนเผยแพร่การค้นพบยีนดื้อยา "เอ็มซีอาร์-วัน" ได้ไม่นาน เมื่อเดือนเมษายน 2559 วงการแพทย์อเมริกาต้องตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อพบ "คนไข้" ติดเชื้อโรคปริศนาชนิดแปลกใหม่ไม่มียาตัวไหนรักษาได้ ในรัฐเพนซิลเวเนีย คนไข้ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ จากแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) หมอพยายามรักษาด้วยยาหลายชนิด อาการไม่ดีขึ้น จนต้องสั่ง "ยาโคลิสติน" ซึ่งถือเป็นยาหวงห้ามของโรงพยาบาล เนื่องจากมีฤทธิ์แรงที่สุด ผลปรากฏว่ายาโคลิสตินยังไม่สามารถทำให้คนไข้หญิงรายนี้อาการดีขึ้น 

          ทีมแพทย์จึงส่งเชื้อไปตรวจอย่างละเอียด ทำให้รู้ว่าเป็นยีนเอ็มซีอาร์-วัน และไม่เคยมีรายงานการพบในคนไข้ของอเมริกามาก่อน คณะแพทย์จึงสั่งยาผสมผสานหลายกลุ่มให้แทน คนไข้หญิงรายนี้จึงรอดจากการเสียชีวิตไปได้

          ยาโคลิสติน ถือเป็น "ยาหวงห้าม" ของอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป เนื่องจากเป็นยาด่านสุดท้ายในการรักษาเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรง

          ขณะที่ ทีมข่าว " คม ชัด ลึก" สำรวจพบว่าในฟาร์มหมูของไทยมีการใช้ยาโคลิสตินชนิดฉีดทั้งถูกกฎหมายและยาเถื่อน หรือยาโคลิสตินไม่มีทะเบียนอย่างแพร่หลาย และที่น่าเป็นห่วงคือ การใช้ยาผงโคลิสตินผสมกับอาหารให้หมูกินทุกวัน โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันหมูท้องร่วง

          "กลุ่มเครือข่ายต่อต้านการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง" เชื่อว่า การใช้ยาปฏิชีวนะผิดวิธีในฟาร์มปศุสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของตัวการแพร่ระบาดเชื้อดื้อยาในประเทศไทย และเรียกร้องให้ทุกโรงพยาบาลตรวจสอบเจาะลึกและเปิดเผยข้อเท็จจริง "สาเหตุผู้ป่วยเสียชีวิต" จากเชื้อดื้อยา ว่าเป็นยาชนิดใด มีจำนวนมากน้อยเพียงไร เป็นคนกลุ่มอาชีพใด ฯลฯ

          เพราะที่ผ่านมาหากคนไข้ดื้อยาแล้วรักษาไม่หาย เมื่อเสียชีวิตแพทย์มักแจ้งญาติสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ติดเชื้อในกระแสเลือด" !?!

          ข้อมูลศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ระบุว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาของไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 3.8 หมื่นคนต่อปี หรือประมาณวันละ 100 คน !

          หากเปรียบเทียบกับสถิติระดับนานาชาติของเว็บไซต์ amr-review.org พบว่า ในแต่ละปีมีคนไข้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกปีละ 7 แสนคนถ้ายังไม่มีการจัดระเบียบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า หรือภายในปี ค.ศ.2050 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจพุ่งไปถึงชั่วโมงละ 1,000 คน หรือปีละ 10 ล้านคน เอาชนะตัวเลขผู้ป่วยมะเร็ง ที่เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน !?!