search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6620003
การเปิดหน้าเว็บ:9470530
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สยองสูตรอาหารฟาร์มหมูให้กิน"โคลิสติน"ตัวแพร่ยีนดื้อยา
  23 มกราคม 2560
 
 


ที่มา: คม ชัด ลึก



ตะลึง! พบยาโคลิสตินเถื่อนในฟาร์มหมูไทย สยองสูตรอาหารหมูผสมผงโคลิสติน ชี้ตัวแพร่ "เอ็มซีอาร์-วัน" ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ แพทย์ทั่วโลกผวาไม่มียารักษา
 

          เดือนพฤษภาคม 2559 วงการแพทย์สหรัฐอเมริการายงานข้อมูลพบ "คนไข้" มียีนแบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ "เอ็มซีอาร์-วัน" (MCR-1) ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอเมริกา เป็นลักษณะยีนดื้อยาแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง แม้แต่ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย "โคลิสติน" ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดยังใช้ไม่ได้ผล ต้องใช้ยาหลายตัวผสมผสานกัน นับเป็นครั้งแรกที่พบเชื้อดื้อยาโคลิสตินในอเมริกา หลังจากนั้น มีการส่งข้อมูลไปทั่วโลกให้เฝ้าระวัง "ยีนดื้อยาโคลิสติน" จากอวัยวะหมูสู่คน

          ล่าสุด ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ได้รับข้อมูลว่า ผู้บริโภคหมูเสี่ยงต่อการติดยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ "เอ็มซีอาร์-วัน" เนื่องจากฟาร์มเลี้ยงหมูทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ยาอันตรายหลายชนิดผสมในอาหารให้หมูกินตลอดวัน เพื่อป้องกันและรักษาหมูติดโรคท้องร่วงหรือโรคอื่นๆ โดยเฉพาะ "ยาปฏิชีวนะกลุ่มโคลิสติน" ที่เป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

          จากการลงสำรวจฟาร์มหมูใน จ.นครปฐม พื้นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองหลวงฟาร์มหมูหรือแหล่งเลี้ยงหมูสำคัญของไทยนั้น พบว่ามีการใช้ยาหลายชนิดผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงหมูจริง ทั้งในคอก "ลูกหมู" และ "หมูขุน" โดยต้นทุนค่ายาหลักหมื่นถึงแสนบาทต่อเดือนแล้วแต่ขนาดของฟาร์มหมู

          ป้าเรือง (นามสมมุติ) เจ้าของฟาร์มเลี้ยงลูกหมูแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.นครปฐม ให้ข้อมูลว่า ฟาร์มของตนเน้นการเลี้ยงลูกหมูหรือเพาะลูกหมูตั้งแต่เกิดจนอายุประมาณ 2 เดือน ก่อนส่งขายต่อให้ฟาร์มที่ต้องการเอาไปเลี้ยงต่อเป็นหมูขุน เพื่อขายส่งท้องตลาด โดยเริ่มจากเลี้ยงแม่พันธุ์หมูจนออกลูก จากนั้นแยกลูกหมูไปเลี้ยงในเล้าที่สร้างขึ้นจนอายุได้ 2-3 เดือน จึงส่งต่อขายให้ฟาร์มอื่น

          "ป้าเรือง" เปิดเผยว่า เมื่อปี 2527 มีตัวแทนบริษัทขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่มาติดต่อ เพื่อให้ลองเลี้ยงลูกหมูขาย ซึ่งตนและสามีเกิดความสนใจอยากลองทำ จึงตัดสินใจนำที่ดินและบ้านไปจำนองธนาคารได้เงินมา 7 แสนบาท เพื่อลงทุนทำเล้าหมู เริ่มจากแม่พันธุ์ตัวละ 6-7 พันบาทไม่กี่ตัว เลี้ยงแล้วผลิตลูกหมูได้ถึง 50 ตัว ขายต่อได้ตัวละ 2-3 พันบาท ทำรายได้ดีพอสมควรในช่วงต้น

          จากนั้นตัวแทนบริษัทได้พาเกษตรกรมาดูงานจำนวนมาก เพราะเป็นฟาร์มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อยา วัคซีนและอาหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น แล้วทางบริษัทจะรับซื้อลูกหมูทั้งหมด หรือที่เรียกกันว่า "คอนแทรคฟาร์ม" ช่วงแรกป้าเรืองยอมรับว่าไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งราคาหมูเริ่มตกต่ำ ประกอบกับน้ำท่วมหลายครั้ง บริษัทใช้วิธีไม่ยอมมาซื้อลูกหมูปล่อยให้ฟาร์มซื้ออาหารเลี้ยงเอง จนลูกหมูตัวโตแล้วค่อยมาซื้อในราคาต่ำ ช่วงนั้นเริ่มขาดทุนเรื่อยๆ ลูกหมูก็ติดโรค มีเจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ซื้อยาฉีดและยาผสมในอาหารเพิ่ม ซึ่งตนเองก็ไม่ค่อยรู้ว่าเป็นยาอะไรบ้าง ตอนหลังขาดทุนมากตัดสินใจออกจากคอนแทรคฟาร์ม มาเลี้ยงเอง แล้วส่งลูกหมูขายให้ฟาร์มที่รู้จักกัน

          "ป้ากับคนงานก็เรียนรู้จากตอนที่เป็นคอนแทรคฟาร์ม ทั้งการดูแลเรื่องอาหารและฉีดยาเอง เริ่มจากลูกหมูคลอดออกมาต้องให้ยาฉีด 3 ชนิด ถ้ามันไม่สบายท้องร่วงหรือหายใจติดขัดก็ฉีดยาขวดที่เขาแนะนำให้ และให้วิตามินเสริม ช่วงหลังเขาบอกว่าหมูเป็นโรคแกรมลบที่กำลังระบาดหนัก หมูในเล้าตายไป 50 กว่าตัว ต้องให้ยาแก้อักเสบโคลิสตินกับอะม็อกซีซิลลินผสมกัน ก็ซื้อมาฉีดแล้วได้ผล แล้วก็ซื้อแบบเป็นผงสำหรับผสมในอาหารให้ลูกหมูกิน บางทีก็กินเป็นเดือน บางครั้งกินต่อเนื่อง 2 เดือน จนกว่าจะขายลูกหมูออกไปให้ฟาร์มอื่น" ป้าเรืองเล่า พร้อมทั้งนำขวดยาโคลิสตินสำหรับฉีดและถุงโคลิสตินสำหรับผสมในอาหารหมูให้ดูเป็นตัวอย่าง

ส่วนถุงยาสำหรับผสมอาหารนั้น มีข้อความระบุข้างถุงขนาด 10 กิโลกรัม ว่า "เมดิสติน 40%" โดยบรรทัดที่สองมีภาษาอังกฤษเขียนว่า "Colistin 40%" (โคลิสติน 40%) โดยป้าเรือง เล่าว่า ยาโคลิสตินที่ใช้ผสมอาหารนั้น มีสัดส่วนประมาณครึ่งกิโลกรัม หรือ 500 กรัมต่อครั้ง กินเป็นประจำ แต่ถ้ากรณีลูกหมูป่วยจะเพิ่มปริมาณเป็น 1 กิโลกรัมต่อครั้ง แล้วแต่อาการป่วยของลูกหมู ทั้งนี้ป้าเรืองยอมรับว่าลูกหมูจะอาศัยอยู่รวมกันคอกละประมาณสิบกว่าตัว หากมีตัวใดป่วยลูกหมูทั้งคอกจะต้องกินอาหารผสมโคลิสตินทุกตัวแม้จะไม่ได้ป่วยก็ตาม

          นอกจากนี้ยังพบขวดยาฉีดอีกหลากหลายชนิดและยี่ห้อไม่ต่ำกว่า 20 ขวด วางอยู่ในบริเวณเล้าหมู ป้าเรืองเล่าว่า ขณะนี้มีลูกหมูในเล้าประมาณ 300 กว่าตัว จำเป็นต้องฉีดยาชนิดต่างๆ ให้เกือบทุกวัน ผู้สื่อข่าวสังเกตพบถุงขยะใส่ขวดยาชนิดต่างๆ ประมาณเกือบร้อยขวดวางอยู่ด้านข้าง โดยป้าเรืองกล่าวอนุญาตให้เอาไปได้ พร้อมอธิบายว่าเป็นถุงขยะใส่ขวดยาต่างๆ ที่ใช้หมดแล้วเตรียมนำไปทิ้ง โดยถุงขยะใส่ขวดยาจะถูกนำไปทิ้งทุกเดือน 

          นอกจากฟาร์มเลี้ยงลูกหมูนครปฐมข้างต้นแล้ว ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ได้เดินทางไปสำรวจการใช้ยาโคลิสตินในฟาร์มหมู จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าเป็นจังหวัดที่มีฟาร์มหมูจำนวนมากและมีการให้อาหารหมูผสมยาโคลิสตินเช่นกัน

          ทั้งนี้ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งที่เข้าไปสำรวจในสุพรรณบุรีนั้น เป็นฟาร์มขนาดกลาง มีลูกหมูและหมูขุนประมาณ 700 ตัว สำรวจพบถุงยาและขวดยาที่ใช้กินและฉีดให้หมูส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับฟาร์มข้างต้นที่นครปฐม

          เจ้าของฟาร์มให้ข้อมูลว่า "ยาโคลิสติน" หรือยาอื่นๆ ที่ผสมในอาหารหมูจะทำตามคำแนะนำของร้านขายยาสัตว์ และหากหมูป่วยเป็นโรคทั่วไปเช่น หายใจติดขัด ไอจาม หรือเป็นไข้จะลองฉีดยาที่มีอยู่ หากไม่หายจะไปปรึกษาร้านขายยา บอกอาการอย่างละเอียดเพื่อซื้อยามาฉีดหรือผสมในอาหาร

          "ตอนหมูคลอดออกมาใหม่จะฉีดยาหลายชนิดให้ทันที ป้องกันลูกหมูป่วยตาย แล้วก็เอายาผสมกับอาหารให้หมูกิน เปลี่ยนสัดส่วนยากับอาหารเพิ่มขึ้นตามน้ำหนัก แล้วแต่ขนาดของหมูว่าควรกินเท่าไร มีเครื่องผสมอาหารเอง ลูกน้องช่วยกันผสม ไม่ได้ซื้อจากที่อื่น และส่วนใหญ่จะไม่เปิดให้คนจากฟาร์มหมูอื่นเข้ามา เพราะกลัวเอาเชื้อโรคมาติด" เจ้าของฟาร์มหมูสุพรรณบุรีเล่า

          ทั้งนี้ ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ฟาร์มหมูอีกหลายแห่ง เกี่ยวกับการใช้ยาโคลิสตินแต่ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ดังนั้นผู้สื่อข่าวจึงนำถุงขยะที่ใส่ขวดยาทิ้งของฟาร์มหมูที่นครปฐมข้างต้นให้ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบรายละเอียด ทำให้พบว่าขวดยาใช้แล้วในถุงขยะจากฟาร์มหมูข้างต้น มีจำนวนทั้งสิ้น 96 ขวด แบ่งเป็น ประเภทยาได้ 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ยาต้านแบคทีเรีย (Antibacterial) เป็นขวดยาฉีดจำนวน 65 ขวด ประเภทที่ 2 วัคซีน ชีววัตถุ ยาต้านพาราไซต์ (Vaccine and other antiparasites) จำนวน 12 ขวด ประเภทที่ 3 ยาชนิดอื่นๆ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ยาสเตียรอยด์ (steroids) จำนวน 19 ขวด

          ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า จากการพิจารณาฉลากและเอกสารกำกับบนขวดยาในถุงขยะนั้น พบยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียทั้งหมด 11 รายการ จำนวน 65 ขวด สำหรับขวดยาน่าสงสัยคือขวดยาที่ระบุว่าสำหรับใช้ในคนแต่มาพบในฟาร์มเลี้ยงหมู พบถึง 14 ขวด แบ่งเป็น 2 รายการ คือ "เพนิซิลลิน จี โซเดียม" (Penicillin G Sodium) จำนวน 7 ขวด และ "เซฟไตรอะโซน" (Ceftriaxone) จำนวน 7 ขวด มีทะเบียนยา และอีก 9 ขวด ไม่มีเลขทะเบียนยา หรือเรียกทั่วไปว่ายาเถื่อน มีข้อความระบุข้างขวดว่าห้ามซื้อขาย เป็นยาของโครงการสัตวแพทย์ฝึกหัดมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

          "ที่น่าเป็นห่วงมากคือ พบขวดยามีส่วนผสมของ "โคลิสติน" (Colistin) กับ "อะม็อกซีซิลลิน" (Amoxycilin) 5 ขวด มี 2 ขวด เป็นยาเถื่อนเขียนยี่ห้อ Polispen ไม่มีทะเบียนยา ส่วนอีก 3 ขวด มีทะเบียน ตัวยาโคลิสตินนี้วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังกลัวว่าจะกลายเป็นตัวปัญหาทำให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรุนแรง ช่วงปี 2558 มีวิจัยจากจีนพบการดื้อยาโคลิสตินในฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธ์ุได้ (horizontal gene transfer) หรือที่เรียกว่า เอ็มซีอาร์-วัน (MCR-1 gene) เป็นครั้งแรกของโลก สร้างความตื่นตกใจมากพอสมควร เมื่อศึกษาหาสารพันธุกรรมดื้อยาโคลิสตินทั้งในคนและสัตว์ทำให้พบว่ามีการส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาคน และจากคนไปสัตว์รวมทั้งสัตว์เลี้ยงด้วย การไปพบขวดยาโคลิสตินไม่มีทะเบียนในฟาร์มหมูที่นครปฐม แสดงว่ามีการลักลอบใช้ยาโคลิสตินเถื่อนในฟาร์มหมูของไทย เมื่อใช้มากโอกาสที่หมูจะดื้อยาโคลิสตินก็มีสูงขึ้นด้วย แสดงถึงปัญหาการควบคุมและการกระจายยาโคลิสตินที่ไม่ควรมีวางขายหรือหาซื้อได้ทั่วไป"

          ผศ.ภญ.นิยดา อธิบายถึงสาเหตุที่เป็นห่วงปัญหาการขวดยาโคลิสตินเถื่อนเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโคลิสตินเป็นยาต้านแบคทีเรียที่ใช้เฉพาะที่ เช่น ยาหยอดตา หยอดหู ใช้กับผิวหนัง หรือชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่ตอบสนองต่อยาโคลิสติน และมีชนิดฉีดเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และอวัยวะต่างๆ หากใช้ยาเกินขนาดจะมีผลข้างเคียงเป็นพิษต่อไตและทำลายเส้นประสาท แพทย์จะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยมีอาการดื้อยาอย่างรุนแรงและยาขนานอื่นใช้แล้วไม่ได้ผล แพทย์ถึงสั่งให้ใช้ยาโคลิสติน

          ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวเตือนว่าหากคนไข้รายใดดื้อยาโคลิสติน หมายความว่าอาจไม่มียาใช้รักษาได้ผลอีกแล้ว ยาโคลิสตินจึงเป็นยาด่านสุดท้ายที่สำคัญมากในการรักษาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาของมนุษย์ สถิติที่ผ่านมาพบคนไทยเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่าปีละ 2-3 หมื่นคน ถ้ามีการแพร่เชื้อดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมู อาจเป็นสาเหตุให้จำนวนผู้เสียชีวิตมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้ โดยเฉพาะการแพร่กระจายจากเล้าหมูออกไปปะปนสู่ดิน หรือลำน้ำสาธารณะบริเวณใกล้เคียงฟาร์มหมู