ที่มา: คม ชัด ลึก
อย.ชงยกเลิกใช้"ยาโคลิสติน"ชนิดกินในคนเหลือแค่ฉีด ในสัตว์ยกเป็นยาควบคุมพิเศษ สั่งใช้โดยสัตวแพทย์เท่านั้นจากเดิมซื้อในร้านขายยาได้ กันเชื้อดื้อยาจนไม่มีทางรักษา
จากกรณีที่คมชัดลึกมีการตรวจสอบพบว่าฟาร์มหมูในจ.นครปฐมและจ.สุพรรณบุรี มีการใช้ยาโคลิสตินที่เป็นยาปฏิชีวนะลำดับท้ายๆที่จะใช้ในการรักษากรณีติดเชื้อแบคทีเรียผสมในอาหารให้หมูกิน จึงมีความกังวลว่าหากมีการใช้ยาชนิดนี้อย่างพร่ำเพรื่อจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการดื้อต่อยานี้และทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะไม่มียาในการรักษา เพราะเชื้อดื้อยาในลำดับท้ายๆแล้ว จะใช้ยาในลำดับต้นๆมารักษาไม่ได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า ปศุสัตว์ควรคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่จะนำมาใช้ในการผสมอาหารให้หมูกิน แต่หากสัตว์มีการติดเชื้อแบคทีเรียก็ยังจำเป็นต้องให้ยาโคลิสตินตามความจำเป็นภายใต้การแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งยาโคลิสตินไม่ได้ตกค้างในเนื้อหมูในปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้มียุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องการควบคุมและป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ โดยเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และกรมปศุสัตว์ เห็นพ้องตรงกันที่จะยกระดับยาโคลิสตินที่ใช้ในสัตว์เป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น จากที่ปัจจุบันเป็นเพียงยาอันตรายที่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร นอกจากนี้ การใช้ยาโคลิสตินในคน อย.เตรียมที่จะปรับการใช้ ด้วยการยกเลิกยาโคลิสตินแบบกินให้เหลือใช้เฉพาะแบบฉีดเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและนำไปสู่การเกดเชื้อดื้อยา โดยจะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณาในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้
"สำหรับการที่ประชาชนจะรับประทานเนื้อหมูที่อาจจะกินอาหารที่มีการผสมยาโคลิสตินนั้น การตกค้างของโคลิสตินในเนื้อหมูไม่ก่อให้เกิดพิษต่อคน แม้ยาจะมีพิษต่อตับ ไต แต่การนำยาไปผสมในอาหารให้หมูกินแล้วมีการดูดซึมเข้าเส้นเลือดและเนื้อหมูจะทำให้มีโคลิสตินตกค้างอยู่ปริมาณน้อย ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อคนที่รับประทาน แต่ที่กังวล คือ การที่เกษตรกรใช้ยาโคลิสนตินผสมอาหารให้หมูกินจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา อย่างไรก็ตาม การจะรับประทานเนื้อหมูควรปรุงให้สุกดีที่สุดเพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียตาย หยุดวงจรการถ่ายทอดยีนดื้อยาหากแบคทีเรียเป็นเชื้อดื้อยา ทั้งนี้ ยาโคลิสตินเป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียและเป็นยาลำดับท้ายๆ จึงควรสงวนไว่ใช้ในกรณีที่เจ็บเป็นเท่านั้น"ภก.ประพนธ์กล่าว
ด้านศ.ดร.วีรพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล อดีตคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้ยาโคลิสตินอย่างพร่ำเพรื่อมีความกังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ ซึ่งเมื่อเชื่อแบคทีเรียดื้อยาโคลิสตินแล้วคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยานอกจากจะทำให้ไม่มียารักษาแล้ว แบคทีเรียที่ดื้อยายังสามารถส่งต่อยีนดื้อยาไปให้แบคทีเรียในร่างกายคนดื้อยาตามไปได้ด้วย และเมื่อเชื้อดื้อยาโคลิสตินแล้วก็จะดื้อยาตัวอื่นๆได้ด้วย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมปศุสัตว์และอย.มีการทำงานร่วมกัน โดยการดูตัวอย่างการใช้ยาปฏิชีวนะในคนและสัตว์ โดยจะมีการนำตัวอย่างฟาร์มปศุสัตว์ที่มีการใช้ยาอย่างถูกต้องมาเผยแพร่ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าหากมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานจะกระตุ้นโอกาสในการแพ้ยาและทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้
|