search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6516211
การเปิดหน้าเว็บ:9359270
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ครม.เห็นชอบ "ธรรมนูญระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับ 2" ย้ำสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
  16 สิงหาคม 2559
 
 


ที่มา: Hfocus.org



ครม.เห็นชอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อใช้เป็นพิมพ์เขียวกำหนดกรอบและแนวทางวางนโยบายยุทธศาสตร์ของทุกภาคส่วน เตรียมรับมือภัยคุกคามสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า ย้ำแนวคิดสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และทุกนโยบายต้องห่วงใยสุขภาพด้วย เตรียมเสนอ สนช.ทราบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) ทำหน้าที่ประธานกรรมการฯ เสนอ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ที่ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำธรรมนูญฯ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เช่น ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สามารถใช้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดภาพพึงประสงค์ของระบบสุขภาพตามเจตนารมณ์ของธรรมนูญฯ ต่อไป  

นพ.พลเดช กล่าวว่า ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้ผ่านกระบวนการจัดทำและยกร่างโดยคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภูมิภาค มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,115 คนจากทั่วประเทศ รวมถึงเวทีรับฟังความเห็นในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 และมีหน่วยงานต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะในกระบวนการยกร่างเกือบ 100 องค์กร นับเป็นการทบทวนเนื้อหาจากธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับแรกที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทบทวนใหม่อย่างน้อยทุก 5 ปี โดยในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบ และให้รายงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทราบ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

"ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้สะท้อนให้เห็นภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพที่ชัดเจนในอีก 10 ปีข้างหน้า และกำหนดแนวทางในการรับมือหรือแก้ปัญหา ภัยคุกคามสุขภาพ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โรคอุบัติใหม่ โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ การเข้าสู่สังคมผู้อายุ ผลกระทบจากความเป็นเมือง การเจรจาการเสรีระหว่างประเทศ ฯลฯ ดังนั้น ธรรมนูญฯ ฉบับใหม่จึงสำคัญมาก เปรียบเสมือน พิมพ์เขียวระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งตามมาตรา 48 กำหนดว่า ธรรมนูญฯ ที่ ครม.เห็นชอบแล้วจะผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ ขณะที่ชุมชนทั้งในเมืองและชนบท หรือกลุ่มชุมชนผู้สนใจรายประเด็น ก็สามารถใช้เป็นต้นแบบจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ หรือ ธรรมนูญสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อเป็นกติกาหรือเจตจำนงร่วมในการกำหนดระบบสุขภาพที่ต้องการของชุมชนได้ด้วย"

นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 นี้ สอดรับกับร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ของรัฐบาล โดยที่ระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นคง ในชีวิต สนับสนุนการสร้างทุนมนุษย์ ทุนปัญญา ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะก่อเกิดความมั่งคั่ง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุล มีเสถียรภาพและยั่งยืน ยึดแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องสุขภาพกาย แต่รวมถึงสุขภาพใจ สังคมและปัญญา รวมถึงมุ่งเน้นบูรณาการให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบระบบสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าตอบโจทย์นโยบาย "กลไกประชารัฐ" ของรัฐบาลด้วย

สำหรับสาระเนื้อหารายหมวดของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย ส่วนหลักการสำคัญของระบบสุขภาพ และส่วนสาระรายหมวดที่แบ่งข้อความเป็น 2 ส่วนย่อย ได้แก่ ส่วนหลักการสำคัญ และส่วนภาพพึงประสงค์ของระบบสุขภาพในหมวดนั้นๆ ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า นำเสนอในรูปแบบตารางแสดงข้อความของธรรมนูญฯ รายข้อ พร้อมแสดงคำอธิบายเจตนารมณ์ของข้อความแต่ละข้อประกอบไว้ด้วยเพื่อสื่อสารความเข้าใจกับผู้ที่จะนำธรรมนูญฯ ไปใช้

โดยเนื้อหาหลักของธรรมนูญฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน โดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และนโยบายสาธารณะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนนำแนวทาง "ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies)" ไปใช้อย่างจริงจัง

ขณะที่การบริการสาธารณสุขต้องตอบสนองต่อ ความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในการเข้าถึง คุณภาพ ความปลอดภัย ความสุข และความพึงพอใจของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ประชาชนจะมีหน่วยบริการประจำของตน ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ มีระบบเชื่อมโยงการดูแล บริการรับและส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม จึงต้องเน้นความร่วมมือและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของทุกภาคส่วน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการฯ ทุกระดับและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีสาระรายหมวดเพิ่มเติมจากธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ.2552 ได้แก่ สุขภาพจิต ที่ต้องการส่งเสริมความสามารถในการจัดการปัญหาในชีวิตและงานอย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาศักยภาพของระบบบริการสุขภาพจิตให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่าย สุขภาพทางปัญญา ที่เป็นรากฐานของสุขภาพองค์รวม นำไปสู่ภาวะรู้เท่าทัน เข้าใจแยกแยะความดีชั่ว นำไปสู่การมีจิตใจดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การอภิบาลระบบสุขภาพ เป็นการผสานการทำงานแบบเครือข่ายข้ามภาคส่วนและเป็นสหสาขาวิชา และ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาครัฐให้การสนับสนุน