search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517542
การเปิดหน้าเว็บ:9360719
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เอ็นจีโอห่วง "กรมทรัพย์สินฯ" จ้างคนนอกตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา หวั่นผูกขาดยา 20 ปี
  16 สิงหาคม 2559
 
 





        เอ็นจีโอห่วงกรมทรัพย์สินทางปัญญาจ้างบุคคลภายนอกตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา แทนเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตร หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อผูกขาดยาที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรถึง 20 ปี
       
       นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาอาจมีกฎระเบียบใหม่ออกมาเร็วๆนี้ เพื่ออนุญาตให้จัดจ้างบริษัทเอกชน หรือคนภายนอกตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรแทนสำนักสิทธิบัตร ซึ่งจุดนี้ทำให้มีความกังวลและน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบทำให้สิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง ถูกผูกขาดอยู่ในตลาดของยานาน 20 ปี โดยที่ไม่สมควร รวมถึงอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับฯ สิทธิบัตรแทนเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตร เพราะบริษัทหรือบุคคลส่วนใหญ่ที่พอจะมีความรู้เรื่องสิทธิบัตรยาอยู่บ้าง มักเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการร่างและยื่นคำขอให้กับบริษัทยาต่าง ๆ จึงสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
       
       "การตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยาเป็นเรื่องซับซ้อนและต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งให้เรื่องการสืบค้นสิทธิบัตรในต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบ ขอบข่ายการขอรับการคุ้มครอง รวมถึงความรู้เฉพาะทางในเชิงเภสัชศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปสามารถจะทำได้โดยง่าย ดังที่เคยมีปรากฏการณ์ในอดีต และพบว่า มีคำขอรับสิทธิบัตรยาและสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศไทย เห็นได้ชัดจากงานวิจัยเรื่อง "คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening หรือไม่มีวันหมดอายุในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น" พบว่า ช่วงปี 2531 - 2548 มีจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรยาที่ไม่เข้าเกณฑ์สมควรได้รับสิทธิบัตรสูงถึงร้อยละ 84 และมีจำนวนสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรสูงถึงร้อยละ 74 จากจำนวนตัวอย่างคำขอฯ และสิทธิบัตรยากว่า 2,000 ฉบับ" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
       
       นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ และนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้เคยเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร ที่จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 และแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการจัดจ้างบริษัท หรือบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยาแทนเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตร และเรียกร้องให้ตัวแทนภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่เป็นกลางเป็นสมาชิกร่วมอยู่ในคณะกรรมการยกร่างแก้ไข แต่ถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้มีจดหมายถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เพื่อสอบถามความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
       
       "ถ้ายิ่งทำให้ระบบตรวจสอบคำขอฯ ที่ไม่เข้มแข็งอยู่แล้ว ยิ่งหย่อนยานลง โดยยอมให้จัดจ้างบุคคลที่สามที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขาดศักยภาพมาทำหน้าที่ตรวจสอบแทน ผมกังวลว่าจะยิ่งทำให้ขาดความรอบคอบในการตรวจสอบ หรือเอื้อประโยชน์ และทำให้เกิดการผูกขาดนาน 20 ปี โดยไม่จำเป็น กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรจะทำงานในด้านการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น และทำให้ระบบสิทธิบัตรยามีความเข้มแข็งเพื่อป้องกันคำขอและสิทธิบัตรยาที่ไม่ควรได้รับการผูกขาดโดยไม่เป็นธรรม" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว