ที่มา: MGR Online
ขอนแก่นนำร่อง "ผู้ป่วย" รับยาที่ "ร้านยา" ลดแออัด รพ.กินยาต่อเนื่อง
รพ.ขอนแก่น ร่วมคณะเภสัชฯ มข. สปสช. จัดโครงการเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา เผย แพทย์ส่งใบสั่งยาและยาของผู้ป่วยให้ไปรับที่ร้านยา เน้นกลุ่มโรคเรื้อรังต้องรับยาต่อเนื่อง พบ 1 ปี ประชาชนพอใจ ลดแออัดไปรับยาที่ รพ. ไม่เสียเวลา ไม่ต้องลางาน ได้กินยาต่อเนื่อง รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานสาขาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า โครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย โดยร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร้านยาคุณภาพ/ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน โรงพยาบาล (รพ.) ศูนย์ขอนแก่นและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันจัดทำระบบเติมยาระหว่าง รพ.ศูนย์ขอนแก่น ศูนย์การแพทย์ และร้านยาคุณภาพ/ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน 20 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาระบบบริการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยใน รพ.ลงได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนางานบริการร้านยาให้มีบทบาทต่อระบบสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากร้านยานับเป็นบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด กระจายตามชุมชน หากสามารถดึงเข้ามีส่วนร่วมจะช่วยเติมเต็มระบบสุขภาพของประเทศได้ ผศ.ดร.สุณี กล่าวว่า รูปแบบระบบการเติมยาจะเน้นเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะโรคคงที่แล้ว เหลือแต่เพียงการกินยาต่อเนื่องเท่านั้น โดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยา เบื้องต้นการส่งต่อผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาจะมี 2 ส่วน คือ รพ.ศูนย์ขอนแก่นส่งต่อร้านยาโดยตรง และศูนย์แพทย์เป็นผู้ส่งต่อผู้ป่วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคหอบหืดในเด็ก โรคเบาหวานและความดัน ที่ต้องได้รับยาควบคุมอาการต่อเนื่อง โดยใบสั่งยาและยาผู้ป่วยจะถูกส่งมายังร้านยาเพื่อรอเบิกจ่ายให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ป่วยจะได้รับเอกสารที่บอกจุดตั้งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการและชื่อเภสัชกรพร้อมเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อรับยาในครั้งต่อไป ทั้งนี้ รูปแบบดำเนินการ หลังจากแพทย์ทำการตรวจรักษาและสั่งจ่ายยา กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะโรคคงที่แต่ต้องรับยาต่อเนื่อง 3 เดือน รพ. จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเพียง 1 เดือนก่อน และในเดือนถัดไปให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาร่วมโครงการแทน ซึ่งผลที่ได้ นอกจากเภสัชกรร้านยาจะให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมแล้ว ยังช่วยติดตามการกินต่อเนื่องยาของผู้ป่วย เพราะที่ผ่านมา ในกรณีที่ผู้ป่วยรับยารวดเดียว 3 เดือน มักพบปัญหายาเหลือ ผู้ป่วยไม่กินยา และผู้ป่วยสับสนกับการกินยา ซึ่งระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้เกิดการใช้ยาที่เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด "ภายหลังดำเนินโครงการนำร่องประมาณ 1 ปี ปรากฏว่า ประชาชนต่างพึงพอใจต่อระบบการเติมยานี้มาก เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการคงที่แต่ต้องรับยาต้องเนื่อง ณ จุดใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปรับยาที่ รพ.ทุกเดือน แต่จะไปเฉพาะตามแพทย์นัดตรวจติดตามอาการ 3 - 6 เดือนเท่านั้น ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ทำงานก็ไม่ต้องลางาน เพราะสามารถรับยาที่ร้านยาหลังเลิกงานได้ ซึ่งการจ่ายยาของเภสัชกรที่ร้านยาจะเป็นไปตามใบสั่งยาของแพทย์โดยการเบิกจ่ายจาก รพ." อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว ผศ.ดร.สุณี กล่าวว่า การดำเนินโครงการระบบเติมยายังเป็นเพียงแค่การนำร่อง ซึ่งหากทำเป็นระบบจริงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมด้านเภสัชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องย้ำว่าไม่ใช่หน่วยบริการ่วมด้านการรักษา ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมต่อระบบเพื่อเติมเต็มการดูแลผู้ป่วยได้ พร้อมกับการพัฒนาร้านยาให้มีมาตรฐานเพื่อทำงานคุณภาพไปควบคู่ เพราะปัจจุบันเรามีบุคลากรด้านสุขภาพที่อยู่นอก รพ. จำนวนมาก ซึ่งสามารถดึงเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย
|