search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6603165
การเปิดหน้าเว็บ:9452980
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  มนุษยชาติฉิบหายทั่วทั้งโลก WHO ประกาศ "ยาปฏิชีวนะสูญเสียคุณสมบัติการรักษาแล้ว"
  06 พฤษภาคม 2557
 
 


วันที่: 6 พฤษภาคม 2557
ที่มา: Hfocus
ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/05/7111





สถานการณ์โลกต่อประเด็น "เชื้อดื้อยา" ขณะนี้อยู่ในระดับวิกฤต

หน่วยงานทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ หรือเครือข่ายภาคประชาชน นาทีนี้ไม่อาจเพิกเฉยต่อไปได้อีกแล้ว

นั่นเพราะไม่ใช่เพียงประชาชนชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ หากแต่จากนี้ไปคือความฉิบหายร่วมของมวลมนุษยชาติ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำประเด็นมาโดยตลอดว่า พบเชื้อแบคทีเรียมีการดื้อยาสูงขึ้นตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา

ประเทศไทยก็มีการพูดถึงกันมาอย่างเรื่อยๆ แต่ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบสำหรับผู้ที่สนใจเท่านั้น

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบอกไว้ว่า สถานการณ์เชื้อดื้อยาของไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในกลุ่มยาปฏิชีวนะ เนื่องจากมีการคิดค้นยาชนิดใหม่น้อยลง ซึ่งหากปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้นจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทั้งการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รักษาโรคไม่หาย จนนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะกว่า 20% ของยาทั้งหมด หรือราว 2 หมื่นล้านบาท

"เมื่อมีการใช้ยามากขึ้นยิ่งก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มยิ่งขึ้น การดื้อยามักเกิดในโรงพยาบาลประมาณ 86-88%" ภญ.นิยดา ระบุ

นั่นคือความน่ากลัวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

ทว่าในปัจจุบันสถานการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะกลับยกระดับขึ้นสูงถึงขีดสุด ถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า "โลกเข้าสู่ยุคที่ยาปฏิชีวนะได้สูญเสียคุณสมบัติในการรักษาโรคไปแล้ว"

แม้ว่าข้อมูลจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ 114 ประเทศทั่วโลกพบว่ายาปฏิชีวนะสามารถใช้รักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บ ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

จากผลการศึกษาพบว่าแบคทีเรียในโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคท้องร่วง โรคปอดบวม โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และหนองใน สามารถต้านทางยาปฏิชีวนะได้ทั้งหมด

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังพบอีกว่า ยาปฏิชีวนะไม่สามารถสู้กับเชื้อ Klebsiella pneumonia ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่ายในโรงพยาบาล

"ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้ผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ออกมาเลย เนื่องจากบริษัทยาต่างๆ ไม่มีงบประมาณในการวิจัย ที่สำคัญที่สุดคือแม้ว่าคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ออกมา ก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้น ไม่ทันต่อการพัฒนาของแบคทีเรีย" ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุ

ทางออกระยะสั้นในขณะนี้ องค์การอนามัยโลกจึงกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เก็บยาปฏิชีวนะไว้ใช้ในยามฉุกเฉินทั้งในคนและสัตว์ รวมทั้งให้รักษาความสะอาดของมือให้มากยิ่งขึ้น

"ทั่วโลกจำเป็นที่จะต้องวางแผนการใช้ยาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้เพื่อที่จะจ่ายยาปฏิชีวนะได้ในกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น เราเห็นถึงความน่ากลัวของการดื้อยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ป่วยรวมถึงในเด็กด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพัฒนาซึ่งการแพทย์ยังไม่เจริญเต็มที่ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา" ผู้เชี่ยวชาญระบุ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ คือ 1.ใช้ยาในโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น โรคหวัด ท้องเสีย 2.เลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย 3.ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและยา ทำให้รับประทานยาหลายชนิดและบ่อยหรือรับประทานไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง

เชื้อแบคทีเรียต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะดื้อยาสูง ได้แก่ 1.เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2.เชื้ออีโคไล ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบและการติดเชื้อในช่องท้อง 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์บอแมนนิอาย เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล

ข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก คือให้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังการดื้อยาปฏิชีวนะขึ้นในระดับโลก นอกเหนือจากการจัดทำมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกแล้ว

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการให้การศึกษาต่อสาธารณะให้ระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านั้นดื้อยา  ที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย แต่ไม่ค่อยมีการตระหนักถึงความสำคัญมากมายนัก อย่างเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเท่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเหลือใช้หรือร่วมกับผู้ป่วยรายอื่นๆ

สำหรับผู้ป่วยดื้อยาในประเทศไทยที่กินยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่งใน 3 โรค ได้แก่ 1.โรคเอดส์ ซึ่งต้องกินยาไปตลอดชีวิต อัตราการดื้อยาไม่เกิน 5% จากผู้ป่วยทั้งหมด 2 แสนคน 2.โรควัณโรค ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง 6-8 เดือนมี 1,500 คน ดื้อยาจากทั้งหมด 9 หมื่นคน 3.โรคมาลาเรีย พบปัญหาเชื้อดื้อยามากตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุขต้องผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องเริ่มทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้สถานากรณ์ทางการเมืองนิ่งแต่อย่างใด