|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6646322 การเปิดหน้าเว็บ:9506570 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
สิงคโปร์จี้อย.คุมไซบูทรามีนแฉผสม ยาลดอ้วน จากไทย |
|
|
|
14 พฤศจิกายน 2556
|
|
|
|
ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)
มติชน - ศูนย์ควบคุมยาสิงคโปร์ ตรวจพบผู้โดยสารนำเข้ายาลดอ้วนจากไทย มีไซบูทรามีน อันตรายสูง แจ้ง อย.คุม รพ.ทั่วประเทศหยุดใช้ คืนยาดังกล่าวทันที เหตุไม่ได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2553
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับข้อมูลจากหน่วยควบคุมกำกับด้านยา (Health Sciences Authority, HSA) ประเทศสิงคโปร์ ว่า ศุลกากรประเทศสิงคโปร์ตรวจพบผู้โดยสารหญิงนำยาเม็ดไม่ระบุชื่อ จำนวนหลายชนิด สั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเมื่อเจ้าหน้าที่นำยาไปตรวจวิเคราะห์พบว่าเป็นยาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทลของตัวยาแผนปัจจุบันหลายชนิด ได้แก่ ยาไบซาโคดิล (bisacodyl) ยาคลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) ยา ฟูลออกซีทีน (fluoxetine) ยาไทรอกซิน (thyroxine) ยาฟูโรซีไมด์ (furosemide), ยาไซบูทรามีน (sibutramine) และยาไฮโดรคลอโรธัยอาไซด์ (hydrochlorothiazide) โดยขนาดของยาไซบูทรามีน (sibutramine) เป็นขนาดที่ใกล้หรือมากกว่าขนาดยาที่ใช้ในการรักษาสูงสุดต่อวัน หรือ 15 มิลลิกรัม HSA ได้สอบสวนเพิ่มเติมพบว่ายาชุดดังกล่าวมีการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตและ online forum ในชื่อ "Slimming Pills" ยี่ห้อต่างๆ เช่น ยี่ห้อตามชื่อโรงพยาบาล เป็นต้น
นพ.บุญชัยกล่าวว่า หลังจากรับเรื่องดังกล่าว อย.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับยาไซบูทรามีน พบว่า บริษัทผู้ผลิตผู้จำหน่ายยาไซบูทรามีนรายเดียวในประเทศไทย ได้เรียกคืนยาที่มีส่วนประกอบยา ไซบูทรามีนแล้ว ยาตัวนี้ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาทุกตำรับแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 เนื่องจากข้อมูลการทดลองทางคลินิกชี้ให้เห็นว่ายาดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 16 นอกจากนี้ยังมีอาการที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวด ศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย.ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาด แล้ว ทั้งนี้ สำหรับยาแผนปัจจุบันตัวอื่นๆ ที่ตรวจพบในสูตรค็อกเทล หากใช้โดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้ เช่น การใช้ไบซาโคดิล ซึ่งเป็นยาระบายร่วมกับฟูโรซีไมด์ ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียและขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
"อย.ขอแนะนำให้สถานพยาบาลทุกแห่ง และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องระงับการสั่ง ใช้ยาและจ่ายยาชุดลดความอ้วน โดยเฉพาะ ไซบูทรามีน ขอให้ติดต่อบริษัทในการเรียกคืนยา ในส่วนของผู้ป่วยขอให้หยุดรับประทานยาทันที" นพ.บุญชัยกล่าว
|
|
|
|
|
|