search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6603178
การเปิดหน้าเว็บ:9452993
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ยาและเวชภัณฑ์
  31 ธันวาคม 2555
 
 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555 หน้า: 5(ขวา), 6
ลิงค์: www.thaipost.net/x-cite/311212/67381



   ปัญหายาเกินกระทบต่อผู้บริโภคชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์ยาหวั่น...เล็งจี้ปลูกฝังจริยธรรม งดสร้างโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับยาที่เกินจริง!!!

    "ปัญหาการใช้ยาเกิน" นับเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยเลยก็ว่าได้ เพราะในแต่ละปีนั้นเราจะพบว่าคนไทยมีอัตราการใช้ยาเกิน โดยเฉลี่ยหากคิดเป็นจำนวนเงินอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ และการส่งเสริมการขาย ที่เป็นสิ่งกระตุ้นและเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้านยาและเวชภัณฑ์ จ่ายยาเกินความจำเป็นให้กับผู้ป่วย

    หรือแม้ค่านิยมของการพึ่งพายาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค มากกว่าการเน้นดูแลสุขภาพของตนเอง ประกอบกับการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าการใช้ยาเกินนั้นเป็นการทำให้ประเทศชาติสิ้นเปลืองงบประมาณ และทำให้เสียสุขภาพ ในอดีตเราอาจพบว่าผู้ที่บริโภคยาเกินนั้นมักเป็นกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน หรือกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการรับประทานยาที่ถูกต้อง

    แต่ปัจจุบันนั้น กลุ่มข้าราชการที่ได้รับสิทธิสวัสดิการราชการ ที่เรียกกันว่า “free for service” หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เบิกอะไรก็ไปเคลมเงินคืนมาจากภาษีของรัฐ จึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเกินมากที่สุดในปัจจุบัน

    หนึ่งในข้อมูลดีๆ จากเภสัชกรผู้ที่ทำงานคลุกคลีด้านยาและเวชภัณฑ์มายาวนาน อย่าง ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนพัฒนากลไกลเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ที่เผยให้ทราบถึงสถานการณ์การใช้ยาที่เกินความจำเป็นของคนไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในการใช้ยาให้ถูกต้อง และช่วยบรรเทาอาการป่วยมากกว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ

    ซึ่งหากจำแนกสถานการณ์ของการใช้ยาในบ้านเราออกเป็น 3 กลุ่มนั้น ผศ.ภญ.นิยดาให้ข้อมูลว่า กลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มของผู้ที่ใช้ยาเกินนับเป็นปัญหา ที่มาแรงแซงหน้ากลุ่มอื่นๆ ก็ว่าได้ ส่วนกลุ่มที่ตามมาเป็นอันดับสอง ได้แก่ กลุ่มของผู้ที่ใช้ไม่เป็นและไม่ถูกต้อง ซึ่งนับเป็นหาใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
 
    “โดยหลักๆ แล้วสถานการณ์ยาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มของคนที่เข้าไม่ถึงยา โดยเฉพาะยาที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้อจำกัดจากหลักประกันสุขภาพ หรืออาจจะด้วยการตกสำรวจ เช่น กลุ่มคนชายขอบ หรือคนที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือกลุ่มของคนต่างด้าวที่มาทำงานในเมืองไทย

    2.กลุ่มของคนที่ใช้เกินความจำเป็น ความหมายในที่นี้คือของไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ได้มา โดยการไปแสวงหามาเอง หรือได้รับมาด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ

    3.คือการใช้ไม่เป็นและไม่เหมาะสม ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ เช่น ยากินไปทาภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นกับยากิน แต่ไปฉีด เช่น วิตามินซีที่ทำให้ผิวขาวใช้แบบผิดๆ ซึ่งกลุ่มนี้โตขึ้นเรื่อยๆ

    ที่กล่าวมาทั้ง 3 กลุ่มนั้น กลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มของผู้ที่ใช้ยาเกิน น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รองลงมาเป็นกลุ่มที่ 3 อย่างการใช้ไม่เป็นและไม่ถูกต้องก็ยังมีให้เห็นกันอยู่

    ทั้งสองปัญหานี้ถูกพบทั้งในระดับชุมชนและระดับในโรงพยาบาล ประกอบกับมีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้ระบุว่า ในกลุ่มราชการนั้นใช้ยาเกินมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ยาลดไขมันและยาลดโรคความดัน” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

    สาเหตุที่ทำให้กลุ่มของราชการเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเกินมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ระบบสวัสดิการของข้าราชการก็มีส่วนกระตุ้นเช่นกัน “ระบบบริการบางอย่างก็นำไปสู่เรื่องของการใช้เกิน เช่น สวัสดิการราชการที่สามารถเบิกเงินคืนได้ภาครัฐ หรือพูดง่ายๆ ว่าข้าราชการสามารถนำบิลค่ารักษาพยาบาลไปเบิกคืนกันภาครัฐได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันก็มีระเบียบอยู่

    แต่เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน จึงทำให้การเบิกยาดังกล่าวไปไม่เป็นความจริง เช่น ระเบียบมีอยู่ว่าให้ใช้บัญชีตามยาหลักฯ แต่ยกเว้นว่าถ้าแพทย์เห็นสมควร ก็อนุมัติได้ว่าจำเป็นต้องยาดังกล่าว และจากการวิจัยพบว่า แพทย์สั่งจ่ายยาไม่ถูกต้อง หรือเกินความจำเป็น คิดเป็นร้อยละ 60-80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะยาลดไขมันอย่างเดียว เช่น ยังไม่ถึงเวลาจ่าย แต่จ่ายให้ ทำให้ต้องใช้ยาในกลุ่มที่ใช้มีราคาแพง

    การใช้ยาแพงส่วนหนึ่งมาจากชื่อสามัญทางยา หรือยาที่เป็นแบรนด์ชื่อดัง หรือมียี่ห้อ ซึ่งแพทย์บางคนก็เชื่อฝังใจว่าต้องใช้ยาที่เป็นแบรนด์นอก จึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่าต้องใช้ยานอก เพราะถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุด แต่ระบบประกันสุขภาพหรือบัตรทองนั้น เมื่อเขาประกันเรื่องนี้แล้ว เขาก็จะบอกว่าให้ยาชื่อสามัญที่ใช้อยู่ในประเทศ หรือยาที่ได้ถูกระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตรงนี้จึงลดปัญหาการใช้ยาแพง และลดการใช้ยาเกินความจำเป็นได้”

    นอกจากนี้ โฆษณาชวนเชื่อเรื่องของการใช้ยา หรือแรงกระตุ้นจากโฆษณา รวมถึงการจูงใจจากบุคลากรด้วยค่าตอบแทน ให้กับหน่วยงานหรือตัวบุคคล ก็เป็นสิ่งกระตุ้นการใช้ยาเกินได้เช่นกัน “คำว่าบุคลากรนั้นจะแบ่งเป็นภาครัฐและประชาชน เช่น ถ้าเป็น รพ.เอกชน เมื่อจ่ายเงินเยอะ คุณก็ได้กำไรเยอะจากการจ่ายยานั้นๆ หรือแม้ รพ.รัฐที่เบิกจ่ายเงินจากหลักประกันสุขภาพ

    แต่ไปสั่งแต่ยาแพงก็มีโอกาสที่หน่วยงานจะได้กำไร อีกส่วนหนึ่งผู้ที่สั่งได้กำไรด้วย เช่น ถ้าทำยอดขายได้เท่านี้ เดี๋ยวจะมีสิ่งตอบแทนทั้งส่วนตัวและหน่วยงาน หรืออาจให้โดยการพาไปดูงานบ้าง ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เมื่อเราลองมาพิจารณาแล้ว จึงทำให้รู้ว่าเราควรเข้าไปจัดการเรื่องของโฆษณาและการขายยาด้วย”

    ที่สำคัญการพยายามสร้างโรคใหม่ๆ ขึ้นมา ก็มีส่วนทำให้คนตื่นตัวในการใช้ยา เช่น ยาไวอะกร้า ที่สร้างความตื่นตระหนกให้ชายไทยรู้สึกว่านี่เป็นโรคหรืออาการผิดปกติ หรือแม้แต่ค่านิยมเรื่องของผู้หญิงสวย ก็ทำให้ยาลดความอ้วนถูกนำไปใช้กันเกร่อ

    จนทำให้คนไทยลืมไปว่าการลดความอ้วนที่ดีนั้นต้องมาจากการลดอาหารมากกว่าการพึ่งยาลดน้ำหนัก ซึ่งการจ่ายในลักษณะดังกล่าวของแพทย์ แพทย์จะมีความเป็นอิสระสูง และถ้าไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต คุณหมอก็จะบอกว่าจำเป็นต้องใช้ ประกอบกับแพทยสภาเองไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากมองเป็นเรื่องอำนาจการตัดสินใจจากแพทย์เจ้าของไข้”

    ส่วนกลุ่มโรคที่พบว่านำไปสู่การใช้ยาเกินในกลุ่มของข้าราชการนั้น พบได้ในโรคเรื้อรังที่คนไทยมักเป็นกันเยอะ เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมถึงโรคติดเชื้อทั่วไป “สำหรับโรคเบาหวานนั้น เชื่อกันว่าบริษัทยาได้เข้ามีส่วนในการใช้ยาเกิน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทยาเราเคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขค่าเฉลี่ยสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ที่ 120 แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงแค่ตัวเลข 100
    สะท้อนให้เห็นว่าโรคเบาหวานนั้นจำเป็นต้องใช้ยาเร็วขึ้น ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการป้องกันแต่เนิ่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์หลายคนกลับมองว่าเป็นการใช้ยาเร็วขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เบาหวาน แม้แต่ความดันก็เปลี่ยนตัวเลขลงมาเช่นกัน หรือแม้แต่โรคหวัด หรืออาการท้องเสียธรรมดา ก็มีผลทำให้ประชาชนใช้ยาเกินเช่นกัน

    โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ อย่างยาแอนตี้ไบโอติก เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมรับประทานป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค จึงทำให้สารเคมีตกค้างในร่างกายโดยไม่จำเป็น นั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าปัจจุบันไม่เฉพาะแค่โรคเรื้อรังที่ทำให้คนไทยบริโภคยาเกิน แต่โรคทั่วไปก็มีผลเช่นกัน”

    อันตรายจากการใช้ยาเกินนั้นมีตั้งแต่การดื้อยา หรือในรายที่รับประทานยาหลายตัวรวมกันมากจนเกินไปจนออกฤทธิ์ต้านกัน จนส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพ โดยเฉพาะตับและไต รวมถึงเสียงบประมาณของประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 6 หมื่นล้านบาท แทนที่จะนำไปใช้ในการจัดการกับปัญหาของผู้ที่เข้าไม่ถึงยา
    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เสียทั้งสุขภาพและงบประมาณชาติ ในแง่มุมนี้ ผศ.ภญ.นิยดาให้ข้อมูลว่า “ถ้าใช้โดยไม่จำเป็นก็จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่ไม่เพียงส่งผลต่อตนเองเท่านั้น แต่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ และทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาขึ้น เช่น หากผู้ป่วยกินยาพร้อมๆ กัน 2-3 ตัว แทนที่จะออกฤทธิ์ช่วยกัน แต่มันกลับไปต้านกันแล้วทำให้เกิดพิษขึ้นมาสะสมในร่างกาย หรือแม้แต่การใช้ยาหลายๆ ตัวร่วมกัน ก็อาจเกิดยาออกฤทธิ์ตีกัน หรือทำให้แรงขึ้น จึงส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะอาจทำให้ใจวายและล้มเหลวได้ ซึ่งโดยหลักแล้วเขาจะไม่ให้กินยาหลายตัวในเวลาเดียวกัน

    นอกจากนี้ ในรายที่รับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดเข้าไปเยอะๆ จะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคตับและไตได้ เพราะจะสังเกตได้ว่าคนป่วยโรคตับอักเสบเยอะจากสาเหตุดังกล่าว และในส่วนของตัวเลข 6 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นปัญหาของประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ร่ำรวยมากมาย แต่ถ้าเราสามารถกระจายเงินไปสู่ผู้ที่ด้อยโอกาสในบ้านเราให้เข้าถึงยาได้ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า”

    ส่วนแนวโน้มของการของการใช้ยาเกินนั้น ผู้จัดการแผนพัฒนากลไกลการเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบกลไกลของการโฆษณา ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาให้มีคุณภาพ รวมถึงการฝึกคุณธรรมและจริยธรรมให้กับแพทย์และเภสัชกรในการจ่ายยาให้ถูกต้องนั้น ก็นับเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังการใช้ยาเกินให้กับผู้บริโภคชาวไทยได้

    “ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตยานั้นต้องมีการกระตุ้นผู้บริโภคยา ด้วยการโฆษณาให้คนรู้สึกว่าการใช้ยาเป็นสิ่งที่จำเป็น แม้ว่าจะสามารถทำได้ แต่ก็ควรทำให้ดีหน่อย ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ดูเหมือนว่าในปัจจุบันโฆษณาชวนเชื่อยังแรงอยู่ ส่วนเรื่องของจริยธรรมนั้นหดหายไปเรื่อย แม้แต่ในวงการแพทย์

    ดังนั้นอาจารย์คิดว่าต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง แม้เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว แต่ละเลยไม่ได้ ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา โดยการลดค่านิยมหรือทัศนคติที่ว่า ผู้ที่เรียนแพทย์และเภสัชกรนั้นมีรายได้ดีคนทั่วไป เพราะจะทำให้เราคนแห่มาเรียนแพทย์มากขึ้น โดยปราศจากคุณธรรม จริยธรรม หรือแนวคิดในการรักษาผู้ป่วยอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันฝั่งสภาวิชาชีพแพทย์เองก็ต้องตรวจขันสมาชิกของตนเองด้วย

    ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบการเฝ้าระวังและติดตามการใช้ยาในชุมชน เพราะปัญหาการยาไม่ถูกต้องที่นำมาสู่การใช้ยาเกินนั้นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เช่น กระตุ้นให้ประชาชนอบรมแล้วกลับไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง หรือการที่พยาบาลและเภสัชกรลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อไปดูการใช้ยาที่บ้าน และที่สำคัญต้องสร้างภูมคุ้มกันให้กับภาคประชาชน ไม่ให้ถูกมอมเมาด้วยโฆษณายา ซึ่งมักจะแฝงมาในโฆษณาอาหารเสริม ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก

    รวมถึงต้องมีระบบติดตามและเฝ้าระวังใน รพ. เช่น ในต่างประเทศเขามีภาพกล้องวงจรปิด ดูว่าแพทย์คนนี้สั่งยาซ้ำตัวเดิมหรือไม่ และต้องมีจอมอนิเตอร์ที่รายงานตัวเลขของยาที่จ่ายว่าสมดุลกับปริมาณมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นการเตือนไม่ให้ผู้ป่วยได้รับเกินความจำเป็น เช่น ยาไขมันต้องใช้กับคนที่มีไขมันสูงเท่านี้ เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาได้ตรงกับสภาพอาการจริง เพราะในปัจจุบันพบว่าเมื่อผู้ป่วยมีไขมันเพิ่มขึ้นนิดหน่อยก็จ่ายยาแล้ว

    หรือแม้แต่การนำมาตรการการใช้การเงินการคลังเป็นตัวควบคุม การใช้ยาเกินในระบบข้าราชการ เช่นเดียวกับที่ระบบประกันสุขภาพทำ ก็น่าจะช่วยเป็นแนวทางที่ควรพิจารณา ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าบ้านเราสามารถปรับปรุงระบบดังกล่าวที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และร่วมมือกับทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ก็เชื่อว่ามันน่าจะช่วยลดการใช้ยาเกินลง และเซฟงบประมาณของชาติได้ทางหนึ่งค่ะ”.