search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6526963
การเปิดหน้าเว็บ:9370888
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  อย.เตือนอย่าใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ
  25 พฤษภาคม 2555
 
 


วันที่: 25 พฤษภาคม 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000064300



อย.เตือน “พาราเซตามอล” ไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกอาการปวด บอกคนไทยอย่าใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ หากใช้ไม่ถูกนอกจากไม่บรรเทาอาการ ซ้ำร้ายอาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง แนะปฏิบัติตามฉลากยา หากไม่เข้าใจให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน

นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้ยาแก้ปวดของคนไทย พบว่า มีการใช้ยาแก้ปวดกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ “พาราเซตามอล” ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เป็นยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด ในความเป็นจริงแล้ว อย.ขอเตือนว่า เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน โดยทั่วไปแบ่งยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดนิ่วในไต ปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปวดจากบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ เช่น หลังการผ่าตัด การคลอดลูก โรคมะเร็ง จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ยากลุ่มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะ ทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้งยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้

นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า ยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า ระบบเลือด จะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไต โดยทำให้ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคใช้ยารักษาอาการปวดอย่างถูกต้อง โดยใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา