search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515766
การเปิดหน้าเว็บ:9358823
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ยาซูโดฯ ภญ.สำลี จี้ต้องยกเครื่องระบบเวชภัณฑ์-คุณภาพยา
  24 เมษายน 2555
 
 


วันที่: 24 เมษายน 2555
ที่มา: ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ
ลิงค์: www.thaireform.in.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&id=7467:2012-04-24-07-04-19
 



เวทีเสวนาพัฒนาระบบยาฯ ย้ำหากเภสัชกรผิดจริงจะ "ประหารชีวิตออกจากวิชาชีพ" ระบุถึงเวลาปฏิรูประบบควบคุมยา-เวชภัณฑ์ อุดรูรั่วระบบ ป้องกัน "ละครการเมือง" ด้านแพทย์ยันยาแก้หวัด ไม่มีความจำเป็น

วันที่ 24 เมษายน วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม (วคบท.) ร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภค (คคส.) และชมรมเภสัชชนบท จัดประชุมวิชาการ "การพัฒนาระบบยาจากบทเรียนยาซูโดฯ" ณ โรงแรมริชมอนด์ เพื่อสรุปบทเรียนจากปัญหาการรั่วไหลของซูโดอีเฟรดรีน ที่สะท้อนปัญหาในการบริหารเวชภัณฑ์ที่เภสัชกรมีหน้าที่หลักในการดูแล ทั้งในสถานพยาบาลและร้านยา และจัดทำข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบยาในภาพรวม โดยมี ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธาน คคส. และ กพย. กล่าวเปิดการประชุม

ผศ.ภญ.สำลี กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า กรณีซูโดอีเฟดรีนถือเป็นวิกฤติหนึ่งในระบบยา และระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งประเด็นข้อกฎหมายและประเด็นข้อเท็จจริง อีกทั้งมีประเด็นอีกว่า ยาตัวนี้มีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่จะอยู่ในประเทศไทย และหากยาซูโดฯ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขาดเสียไม่ได้ และหากไม่ใช่ ยาตัวนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

"บทเรียนต่างๆ เหล่านี้ ทั้งประเด็นข้อกฎหมาย จุดอ่อนจุดแข็ง พระราชบัญญัติยา  อีกทั้งการมีบุคลากรทางสุขภาพได้บังอาจละเมิดทั้งศีลธรรมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย จนประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตยาบ้าด้วยวิธีการที่ฉ้อฉล" ผศ.ภญ.สำลี กล่าว และว่า วิชาความรู้ด้านเภสัชเคมี การตัดต่อทางเคมีเพื่อสกัดเป็นยาเสพติดทำไม่ได้ยากเลย อีกทั้งการยกระดับให้ยาซูโดฯ ให้กลับคืนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ถือเป็นยาควบคุมพิเศษนั้น ก็มีกระบวนการยื้อกันอยู่ ของฝ่ายธุรกิจ กอรปกับพระราชบัญญัติยา 2510 พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ฯ 2518 ก็ยังไม่สามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ ยิ่งในเมื่อทุกบรรทัดของกฎหมายมีช่องโหว่ คนไม่ดีจึงหาโอกาสนี้กระทำการทุจริต

ผศ.ภญ.สำลี กล่าวด้วยว่า วงการวิชาชีพนี้จะต้องนำวิกฤติมาเป็นโอกาส ยกเครื่องและพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ ระบบคุณภาพยา และหาคำตอบให้ได้ว่า ยาที่จำเป็นของประเทศนี้คืออะไร จากบทเรียนจากซูโดฯ เชื่อว่า เป็นแค่ร่องรอยหนึ่งเท่านั้น โดยอาจมียาตัวอื่นๆ ตามมาอีก

ต่อจากนั้นผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผอ.วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ สภาเภสัชกรรม ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท ร่วมแถลงข่าวถึงบทเรียนจากยาซูโดฯ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบการจัดการดูแลการกระจายยาทั้งระบบ โดยเชื่อมโยงทั้งสถานพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลเอกชนและร้านยา ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญบ่งชี้ว่าระบบยายังมีช่องโหว่ที่ต้องหาทางแก้ไขและพัฒนาระบบยา ให้กระบวนการมีความรัดกุมและโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งระบบการคัดเลือก การติดตามและกระจายยากลุ่มเสียง โดยเฉพาะยาซูโดฯ ให้ดีขึ้น

"ยาซูโดฯ เป็นเพียงการประทุยอดน้ำแข็ง เพราะยังมียากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่มีความรุนแรงในการกระจายไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กลุ่มยาสเตรียรอยด์ ที่นำไปปลอมปนในยาชุดและยาแผนโบราณ การกระจายยามีช่องโหว่ ที่เชื่อว่ายาชนิดนี้ในประเทศไทยมีการลักลอบนำเข้ามาเช่นเดียวกัน และเป็นยาที่เกี่ยวข้องและกระทบโดยตรงต่อชาวบ้าน ในขณะที่ยาซูโดฯ เกี่ยวข้องกับระดับชาติ"

ด้านรศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวว่า กรณียาซูโดฯ  เริ่มต้นจาก "ขยะ" ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ได้มาจากระบบ หมายความว่าระบบป้องกันความเสี่ยงขาดประสิทธิภาพ กลไกควบคุมระบบเอาไม่อยู่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเนื้อร้ายมีอยู่ไม่ถึง 1% แต่หากบุคคลในวิชาชีพเภสัชกรรมทำผิดจริง มีการขโมยยา หรือแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลซื้อยาเพื่อไปทำยาเสพติดจริง สภาวิชาชีพเภสัชกรรมจะ "ประหารชีวิตออกจากวิชาชีพ" ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพทันที

"ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบควบคุมยาและเวชภัณฑ์ทั้งโรงพยาบาลและกลไกระดับประเทศครั้งใหญ่ กรณีนี้ต้องนำไปศึกษาในทุกสถาบัน เพื่อไม่ให้บุคคลใช้ช่องว่างหรือรูรั่วของระบบในการทำผิด เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าเป็น "ละครทางการเมือง" หรือไม่ ใครเป็นผู้กำกับและละครเรื่องนี้จะจบอย่างไร อีกทั้ง เป็นบทเรียนให้วิชาชีพและสร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม"
ส่วนผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า มีความเข้าใจที่ผิดว่ากลุ่มยาซูโดฯ เป็นยาที่มีความจำเป็น เพราะแท้จริงแล้วยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกได้น้อยมาก ในทุกคนอาการจะดีขึ้นและหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา ประชาชนควรเข้าใจตามนี้ และเมื่อเป็นหวัดไม่จำเป็นต้องหาหมอหรือซื้อยาผสมกลุ่มนี้รับประทาน

ขณะที่ภก.ภาณุโชติ กล่าวว่า ตัวการที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวเป็นคนกลุ่มน้อยที่ทำให้วิชาชีพเภสัชกรต้องสั่นคลอน ซึ่งเภสัชกรทุกคนพร้อมที่จะขอโทษสังคมและร่วมมือ พร้อมใจตรวจสอบคนที่ทำผิดจริงให้ได้รับผิด โดยอยากให้โอกาสนี้ได้หยิบยกระบบยาที่เป็นปัญหามายาวนานให้ได้แก้ไข เพื่อความโปร่งใสและเป็นระบบที่พึงประสงค์ ทันเหตุการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดการเชื่อมโยงไปยังระบบอื่นๆ
"ชมรมเภสัชกรชนบทมีความตั้งใจที่จะเคลื่อนการรื้อระบบยาให้สำเร็จ แม้ไม่รู้แน่นอนว่าการเมืองเข้ามาในระบบด้วยหรือไม่ แต่เชื่อว่าการแก้ไขระบบให้มีความรัดกุมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสดีที่เภสัชกรจะร่วมกันลุกขึ้นจัดระบบยาร้านชำ ไม่อย่างนั้นเท่ากับว่าเป็นการทำลายวิชาชีพ"