search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515711
การเปิดหน้าเว็บ:9358767
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  จี้ลดยาพาราฯ เหมาะกับสรีระ ร่างกายคนไทย
  05 พฤษภาคม 2557
 
 


วันที่: 5 พฤษภาคม 2557
ที่มา: ไทยโพสต์
ลิงค์: www.thaipost.net/news/050514/89963



“อาจารย์ด้านเภสัชวิทยา” จี้ อย.พิจารณาลดสัดส่วนยาพาราฯ ที่เหมาะกับสรีระคนไทย หลัง อย.สหรัฐปรับลดเหลือ 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด ขณะที่ของไทยยังกิน 2 เม็ด ขนาดเม็ดละ 500 มก. ด้าน อย.ไม่ฟันธงจะปรับหรือไม่ ขอเวลาศึกษา ชี้ที่ผ่านมายังไม่พบสัญญาณอันตรายต่อคนไทย
    
นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเดือนไปยังแพทย์และเภสัชกรที่ไม่ให้จ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มก./เม็ดแก่ประชาชน เพราะยาเหล่านี้ทาง อย.สหรัฐได้จัดเป็นยาที่ไม่ปลอดภัย โดยอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อตับ ถ้าเภสัชกรได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้จ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มก./เม็ด ให้ติดต่อแพทย์ผู้สั่งยาและเสนอแนะยาผสมที่มีพาราเซตามอลในปริมาณต่ำกว่า 325 มก./เม็ดแก่ประชาชนแทน อีกทั้งยังพยายามส่งเสริมให้ประชาชนของเขารับประทานยาพาราฯ ไม่เกินครั้งละ 650 มก. หากยาสูตรใดมีพาราเซตามอลในปริมาณ 500 มก. จะเขียนกำกับไว้ในฉลากยาว่าเป็นความแรงชนิดพิเศษ
    
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่า ยาพาราฯ ที่วางขายในท้องตลาดจะมีปริมาณยาขนาด 500 มก./เม็ด รับประทานครั้งละ 2 เม็ดต่อครั้งในผู้ใหญ่ บางครั้งมีการกินยาพาราฯ ร่วมกับยาตัวอื่นที่มีส่วนผสมของพาราฯ เข้าไปด้วย เช่น ยาแก้หวัด ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาด ทั้งๆ สรีระของคนไทยเล็กกว่าคนอเมริกันมาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังพบว่าคนไทยกินยาพาราฯ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อย. จะต้องตระหนักและมีมาตรฐานเข้ามาดูแล ส่วนตัวคิดว่าทาง อย.ทราบเรื่องนี้มาตลอด แต่ยังไม่เห็นขยับจะดำเนินการอะไร จึงเรียกร้องให้พิจารณายาทุกชนิดที่มีส่วนผสมยาพาราฯ ต้องบังคับให้มีการติดฉลากกำกับอย่างชัดเจน และไม่ให้รับประทานซ้ำกับยาพาราฯ แบบเดี่ยวๆ
    
“คนไทยใช้ยาเยอะ ตัวเล็ก กินเหล้า กินยาผสมโดยไม่รู้ว่ามีตัวยาพาราฯ อยู่ด้วย ตรงนี้ต้องมีการแก้ไข เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะมองเรื่องของประโยชน์จากยาเป็นหลัก ส่วนอันตรายจากยาคิดเป็นเรื่องรอง ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเป็นอันตราย เราต้องหยุดไว้ก่อนเลย ในกรณีของยาพาราเซตามอลใช้ให้ปลอดภัยคือใช้ให้ถูกขนาด ที่สำคัญคือจำเป็นต้องใช้ยาหรือเปล่า” นพ.พิสนธิ์กล่าว
    
ด้าน นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการ อย.กำลังพิจารณาข้อมูลการใช้ยาพาราฯ ในต่างประเทศและในประเทศมาประกอบกัน ว่าจะปรับสัดส่วนยาที่วางขายในประเทศหรือไม่ ที่ผ่านมา อย.มีระบบการเฝ้าระวังการใช้ยาพาราฯ อยู่แล้ว ซึ่งสัดส่วนตัวยาขนาด 500 มก./เม็ดนั้นยังไม่พบสัญญาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องดูหลายๆ ด้าน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการตอนนี้คือให้ความรู้กับประชาชนให้ตระหนักในเรื่องของการใช้ยาดังกล่าวมากขึ้น