search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6514119
การเปิดหน้าเว็บ:9357100
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เตือนโจ๋ไทย “คลั่งผิวขาวออรา” เสี่ยงผิวลาย เพราะพิษสารต้องห้ามในครีม
  05 มกราคม 2557
 
 


วันที่: 5 มกราคม 2557
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000001348
          
    

        เตือนวัยรุ่นอยากขาวออรา ระวังขาลาย หลังมีวัยรุ่นอายุ 16-18 ปีที่ จ.เพชรบุรี เกิดอาการแพ้ครีม ผิวหนังบาง เกิดจ้ำเลือดง่าย ผิวลายแตกงา เพราะสารต้องห้ามในครีม โลชันทาผิว พบมากในครีมกระปุกผสมเอง แบ่งขาย และบนฉลากภาษาจีนที่วางขายตามตลาดนัด ร้านเสริมสวย และขายทางอินเทอร์เน็ต

        ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วัยรุ่น นักศึกษาไทยมีค่านิยมอยากมีผิวขาวใส หรือที่เรียกว่าผิวมีออรา ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวได้รับความนิยม มีการโฆษณาชวนเชื่อ และจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต ทำให้อยากลองใช้ แม้ว่าตัวเองจะมีผิวคล้ำมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน จากการสำรวจท้องตลาดขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ครีมกระปุก หรือครีมที่ขายเป็นกิโลกรัม และแบ่งขายเป็นกระปุก หรือเป็นขวดที่ไม่มีฉลาก
       
        ภก.ประพนธ์กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับรายงานที่จังหวัดเพชรบุรี มีกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี มีอาการแพ้ ผิวหนังมีผื่นคัน และแตกเป็นลายที่บริเวณขา ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง โดยกลุ่มวัยรุ่นให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ซื้อครีมจากร้านค้าแผงลอยในตลาดนัด รองลงมาคือ ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ ร้านเสริมสวย ร้านชำทั่วไป สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต และซื้อจากเพื่อนและญาติ โดยกลุ่มวัยรุ่นใช้ครีมดังกล่าวทาผิววันละ 2-3 ครั้ง นาน 6 เดือน ถึง 2 ปี จนเกิดอาการที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี จึงได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เก็บตัวอย่างครีมทาผิวต่างๆ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายต้องห้าม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยผู้จำหน่ายเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายจะมีโทษปรับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
        น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างครีม โลชันทาผิว จำนวน 11 ตัวอย่าง ที่วางขายในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง 3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก ผลการตรวจวิเคราะห์พบสารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิดคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย
       
        น.ส.จารุวรรณ กล่าวต่อว่า สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนตเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกร่างกายที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขา หรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการเดียวกับที่พบในเด็กนักเรียนที่ใช้เครื่องสำอางที่ตรวจพบว่ามีสารชนิดนี้ปลอมปนอยู่
       
        สำหรับครีมที่มีฉลากภาษาจีนเป็นยาใช้ภายนอก ข้างกล่องจะมีตัวย่อ โอทีซี (OTC: Over The Counter drug) ปรากฏอยู่ ซึ่งหมายถึงกลุ่มยาที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อใช้ได้เองจากร้านขายยา และร้านค้าทั่วไปในประเทศจีน แต่ยาประเภทครีมที่มีตัวยาดังกล่าวในประเทศไทยจัดเป็นยาอันตราย ต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันประจำอยู่เท่านั้น
       
        น.ส.จารุวรรณ กล่าวต่อไปว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอาง จะต้องไปจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนวางขายในท้องตลาด และหากจดแจ้งแล้วผลิตภัณฑ์นั้นจะได้เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก โดยจะต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งดังกล่าวไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ก่อนตัดสินใจซื้อจากเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือจาก Oryor Smart Application หรือสอบถามได้ที่ อย. ที่โทรศัพท์ 0-2590-7441 หรือ 0-2590-7273-4