search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515566
การเปิดหน้าเว็บ:9358620
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  "คลัง"ออกกฎเพิ่มคุมค่ายาขรก
  07 ตุลาคม 2556
 
 


วันที่: 7 ตุลาคม 2556
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ลิงค์: www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20131007/534672/คลังออกกฎเพิ่มคุมค่ายาขรก..html



คลังคุมค่ายาขรก.ต่อ ประกาศปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายค่ายาสามัญ บวกส่วนต่างกำไรเพิ่มได้ 100-300% พร้อมจำกัดกำไรจ่ายยาต้นแบบไม่เกิน 3%

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวมอบนโยบายในหัวข้อ "การประชุมเพื่อมอบนโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย" ช่วงหนึ่งระบุว่า ได้รับรายงานจาก นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า ทางกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถานพยาบาลในสังกัดหน่วยงานราชการ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข

โดยทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เตรียมที่จะปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายค่ายาในระบบสวัสดิการราชการ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการรักษาผู้ป่วยในระบบนี้ แพทย์และโรงพยาบาลส่วนใหญ่สั่งจ่ายยาต้นแบบ (ยานำเข้า) ให้กับผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนยาสามัญสั่งจ่ายน้อยมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ยาสามัญและเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ ทางกรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่

ในกรณีการสั่งจ่ายยาต้นแบบ จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรค่ายาได้ไม่เกิน 3% แต่ในกรณีที่เป็นการจ่ายยาสามัญ จะให้บวกกำไรได้มากขึ้น อาจบวกเพิ่มสูงถึง 100-300% ของต้นทุนค่ายา ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการจูงใจสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาสามัญเท่านั้น แต่ยังสามารถชดเชยโรงพยาบาลในส่วนกำไรที่สูญหายไป จากการเปลี่ยนสั่งจ่ายยาต้นแบบเป็นยาสามัญ

"ในฐานะที่เป็นรัฐบาล มองว่าหลักเกณฑ์นี้จะเป็นการดึงเม็ดเงินที่เคยสูญเสียไปกับการสั่งจ่ายยาต้นแบบกลับเข้าโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ เช่น ยาบางตัวหากเป็นยาต้นแบบ ราคาจะอยู่ที่เม็ดละ 70 บาท แต่ในกรณียาสามัญอยู่ที่เม็ดละ 5 บาท โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเบิกได้ในราคาเม็ดละ 35 บาท ซึ่งโรงพยาบาลไม่เพียงแต่ได้กำไร 30 บาท ที่เป็นกำไรมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ระบบสวัสดิการข้าราชการประหยัดค่าใช้จ่ายยาลงได้ จากเดิมที่ต้องจ่ายสูงถึง 70 บาท เหลือเพียง 35 บาท"

ทั้งนี้ เงินที่ประหยัดได้นี้ รัฐบาลคงไม่ทำการปรับลดงบประมาณลง เพราะเกรงว่าจะมีการออกมาประท้วงรัฐบาลว่าปรับลดงบ แต่จะนำไปเพิ่มเติมในส่วนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล อย่างเช่น การเบิกจ่ายค่าห้องพิเศษได้มากขึ้น หรือเบิกจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสอีกช่องทางหนึ่งของโรงพยาบาล ที่จะสามารถสร้างรายได้จากสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อีก เรียกว่าเป็นแนวทางที่สามารถยอมรับกันได้ทุกฝ่าย

สำหรับโรงพยาบาลที่ได้กำไรเพิ่มจากปรับเปลี่ยนเบิกจ่ายค่ายาของกรมบัญชีกลางใหม่นี้ จะนำไปใส่ไว้ในเงินบำรุงโรงพยาบาล และจะให้แก้ไขระเบียบการใช้เงินบำรุง โดยให้สามารถใช้สนับสนุนเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศได้ โดยจะแก้ไขเร็วๆ นี้

นอกจากนี้จะกำหนดแนวทางปฏิบัติของบริษัทยาด้วย หากนำเงินมาให้ส่วนตัวกับแพทย์หรือโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขจะขึ้นแบล็คลิสต์ไม่ให้ค้าขายกัน ยกเว้นมอบให้ส่วนกลางหรือจังหวัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาทุนกันเองว่าจะให้ใครไปอย่างไร

"แพทย์เองก็ต้องการความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงต้องเดินทางไปประชุมวิชาการต่างประเทศ และที่ผ่านมามักมีบริษัทยาให้สปอนเซอร์และพาไปดูงาน ถือเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ด้านจริยธรรมแพทย์มาก และอาจถูกตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อไปดูงานกับบริษัทยาแล้ว แพทย์ต้องไปช่วยสั่งยาของบริษัทยาดังกล่าวด้วยหรือไม่ แต่เมื่อมีงบประมาณสนับสนุนตรงนี้จะทำให้สบายใจขึ้น และที่ต้องแก้ไขระเบียบเงินบำรุง เพราะที่ผ่านมาแม้โรงพยาบาลบางแห่งจะมีเงินสนับสนุนดูงานนี้ แต่ก็ให้ไม่ได้เพราะติดระเบียบห้ามไว้"

นพ.ประดิษฐ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยจะยังคงให้สั่งจ่ายยาต้นแบบได้เหมือนเดิม แต่โรงพยาบาลจะได้กำไรลดลง แต่กรณีการสั่งจ่ายยาสามัญจะได้กำไรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โรงพยาบาลมีเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปพัฒนาระบบได้ ประเทศเองก็จะประหยัดเงิน ซึ่ง สธ.มีรายได้จากระบบสวัสดิการข้าราชการปีละ 20,000 ล้านบาท 70-80% เป็นค่ายา หรือคิดเป็นเงินราว 17,000 ล้านบาท เชื่อว่าหากลดสัดส่วนการใช้ยาต้นแบบลงได้ เฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สธ. จะประหยัดงบได้ 5,000-6,000 ล้านบาท

"ต้องย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการปรับอัตราการเบิกจ่ายค่ายาในส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มค่ายา เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า สธ.เพิ่มราคายา ซึ่งไม่ใช่ เป็นเพียงแค่การเพิ่มอัตราเบิกจ่ายในระบบกองทุนที่ให้การรักษาฟรีอยู่แล้ว ขณะที่การเบิกจ่ายในส่วนของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงเดิม"

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่การจะทำอย่างนี้ได้คุณภาพของยาจะต้องเท่ากัน เพราะการใช้ยาของแพทย์ก็อยู่ที่ความมั่นใจของแพทย์ด้วย การรักษาต้องแน่ใจว่าหาย หากให้ยาที่ไม่มีคุณภาพยิ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เพราะการรักษาไม่หาย หรืออาจเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังตามมาด้วย เพราะฉะนั้นอย่ามองที่เรื่องเงินอย่างเดียว ต้องดูที่คุณภาพด้วย

"ที่จริงการใช้ยาสามัญก็ดีที่สุด แต่ต้องควรคุมมาตรฐานยาสามัญให้ดี อย่าประมูลโดยวิธีการถูกที่สุดต้องดูที่คุณภาพด้วย อย่างนั้นไม่มีปัญหา แต่นี่ใช้วิธีการห้ามบวกกำไรเกินที่กำหนดนั้นคิดว่าคงทำไม่ได้ ตัวเลขหลอกได้ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการเอายาต้นแบบออกเพราะว่าได้กำไรน้อย เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญแต่อย่าเน้นเรื่องเงินอย่างเดียว ต้องดูคุณภาพด้วย เพราะชีวิตก็มีคุณค่าไม่ได้ถูกอย่างราคายา"นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า การจะบังคับให้ใช้ยาอย่างเดียวกันหมดนั้นไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยคนต้องมีสิทธิในการเลือกจ่าย

ส่วนที่ระบุว่าจะนำเงินที่ได้จากการประหยัดค่ายาไปเป็นเงินบำรุงให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ใช้เดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากบริษัทยาเอกชนนั้น ที่ผ่านมามีการหารือเรื่องนี้พบว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหาร การตัดสินใจการศึกษาดูงานต่างประเทศส่วนใหญ่หากเป็นประเทศดีๆ ฝ่ายบริหารมักจะไปเอง

ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจริงไม่ค่อยได้ไปไหน หรือถ้าได้ไปก็จะเป็นประเทศใกล้ๆ อย่างเช่น ลาว กัมพูชา ดังนั้นตรงนี้หากจะทำจริงต้องวางหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาว่าใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลไปเที่ยว