search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515336
การเปิดหน้าเว็บ:9358349
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  จดหมายถึงพระเจ้า ทุบรื้อองค์การเภสัชฯ
  01 มิถุนายน 2556
 
 


วันที่: 1 มิถุนายน 2556
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
ลิงค์: www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/348233



เรื่องสั้น “คลาสสิก” เรื่องหนึ่งจากอเมริกาใต้ชื่อ “จดหมายถึงพระเจ้า” แปลเป็นภาษาไทยเมื่อราวสามสิบปีมาแล้ว โดย “หมอแอ็คติวิสต์” คนหนึ่งคือนายแพทย์เหวง โตจิราการ

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน บอกว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่นอกแวดวงแอ็คติวิสต์ คงไม่เคยอ่าน จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง โดยจะเล่าจากความทรงจำเพราะไม่มีเวลาไปค้นหนังสือมาอ่านทบทวน

“จดหมายถึงพระเจ้า” เป็นเรื่องราวของชาวนายากจน ซึ่งเป็นตัวอย่างของชาวนายากจนทั่วๆไป คือ นอกจากยากจนแล้วยังมีลูกมาก ชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืช ราคาผลผลิตถูกกดราคาให้ตกต่ำ...ชาวนาคนนี้ชื่อ “เมอโซ”

ปีหนึ่งแล้งจัด เมอโซและลูกๆ อยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย จนผ่ายผอมเพราะอดโซ แต่เมอโซยังมีความหวัง เพราะเขายังศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ทุกวันอาทิตย์เมอโซจะไปโบสถ์เป็นประจำ

เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง เมอโซไปโบสถ์ตามปกติ หลังกลับจากโบสถ์ด้วยความสุข เพราะมีความรู้สึกเสมือนหนึ่งได้ไปพบพระผู้เป็นเจ้า เมื่อกลับถึงบ้านเมอโซจึงหาทางติดต่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า

แม้เมอโซจะอดอยากยากจนมาตั้งแต่ครั้งปู่ยาตายาย แต่เขายังพออ่านออกเขียนได้ เขาจึงเขียนจดหมายถึงพระเจ้า รำพันถึงชะตากรรมอันโหดร้ายของตัวเองและลูกๆ บอกว่าทุกคนกำลังจะอดตายอยู่แล้ว จึงขอให้พระเจ้าส่งเงินมาให้สัก 100 เปโซ เพื่อให้สามารถใช้ประทังชีวิตต่อไปได้...
หลังเขียนจดหมายเสร็จ เมอโซจ่าหน้าซอง “ถึงพระเจ้า” แล้วนำไปส่งที่ไปรษณีย์

เมื่อพนักงานไปรษณีย์พบจดหมายนี้ ก็ไม่รู้จะส่งไปที่ไหนตามกฎของไปรษณีย์เมื่อจดหมายจ่าหน้าไม่ชัดเจนส่งให้ผู้รับไม่ได้ จะต้องมีการประชุมพิจารณาว่าจะทำอย่างไร วิธีการหนึ่งที่ใช้กันเสมอคือเปิดจดหมายออกอ่าน เผื่อจะมีข้อมูลให้สามารถส่งถึงผู้รับได้...

จดหมายของเมอโซก็ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือให้เปิดออกอ่าน

นายไปรษณีย์อ่านจดหมายแล้ว นอกจากเวทนาสงสารในชะตากรรมของเมอโซแล้วยังรู้สึกได้ถึงความศรัทธาอันเปี่ยมล้นของเมอโซที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า นายไปรษณีย์ไม่ต้องการให้เมอโซสูญเสียความศรัทธานี้ จึงชักชวนให้พนักงานไปรษณีย์ร่วมกันบริจาค

ในท้องที่ยากจนเช่นนั้น ไม่ใช่แต่เมอโซเท่านั้นที่ยากจน บรรดาพนักงานไปรษณีย์ก็มีฐานะพออยู่พอกินเท่านั้น จึงรวบรวมเงินบริจาคได้ทั้งสิ้นเพียง 70 เปโซ นำใส่ซองปิดผนึก แล้วจ่าหน้าซองถึงเมอโซ

วันอาทิตย์ถัดมา เมอโซไปโบสถ์ตามปกติ ขากลับเขาแวะที่สำนักงานไปรษณีย์ ถามหาว่ามีจดหมายถึงเขาบ้างไหม นายไปรษณีย์ยื่นซองจดหมายจ่าหน้าถึงเมอโซให้ด้วยความปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจในกุศลกรรมที่ตนเองและพนักงานร่วมกันสร้างขึ้นครั้งนั้น

ทันทีที่กลับถึงบ้าน เมอโซเปิดซองจดหมายเห็นธนบัตรเก่าๆ ในซองนั้น ก็รู้สึกดีใจอย่างมาก รีบนับเงินได้ 70 เปโซพอดี โทสะของเมอโซพลุ่งพล่านขึ้น เขารีบเขียนจดหมายถึงพระเจ้าอีกฉบับ ข้อความว่า ถึงพระเจ้า ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาการุญของพระองค์ที่ส่งเงินไปให้ ด้วยเงินจำนวนนั้น เขาและลูกๆ คงจะรอดพ้นความอดตายไปได้ แต่เขานับเงินที่พระเจ้าส่งไปให้แล้ว มีเพียง 70 เปโซ ขาดไป 30 เปโซ

“ฉะนั้นโปรดส่งเงินที่เหลืออีก 30 เปโซ ไปให้ผม แต่คราวนี้ขอให้ส่งถึงผมโดยตรง อย่าส่งผ่านทางไปรษณีย์ เพราะไปรษณีย์พวกนี้มันขี้ฉ้อคดโกงทั้งนั้น”

คุณหมอวิชัยบอกว่า กรณีที่กำลังเกิดกับองค์การเภสัชกรรม ทั้งกรณีปัญหาตัวยาพาราเซตามอล กรณีการก่อสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ และโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กำลังถูกกระทำให้ตกอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกับกรณีของพนักงานไปรษณีย์กับเมอโซ

กรณียาพาราเซตามอล เป็นความพยายามในการพัฒนาการผลิตอย่างรับผิดชอบ ทั้งการปรับปรุงโรงงานเพื่อผลิตเอง และการสำรองยาไว้เพื่อมิให้ขาดแคลน โดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน แต่ต่อมามีปัญหาว่าตัวยาอาจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งน่าจะเกิดจากการปนเปื้อน (Contamination) แต่ก็ถูกบิดเบือนว่าเป็นการปลอมปน (Counterfeit) และแท้จริงแล้วยังไม่รู้ว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร

รวมทั้งยังมิได้มีการนำไปผลิตจำหน่ายแต่อย่างใด ก็กลับทำให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่สั่งสมกันมายาวนานขององค์การเภสัชกรรม

กรณีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปัญหาใหญ่เกิดจากความไม่รู้ และความไม่เข้มแข็งทางวิชาการของประเทศ และเหตุปัจจัยอันอยู่ “นอกการควบคุม” ขององค์การเภสัชกรรมแทบทั้งสิ้น

โรงงานยาเอดส์ ก็เช่นกัน แม้จะล่าช้าเพราะปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่จุดที่ควรแก่การชื่นชม คือ สามารถปรับปรุงแบบและเทคโนโลยี จนสามารถเพิ่มการผลิตจากปีละ 80 ล้านเม็ด เป็น 3,500 ล้านเม็ด โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ กลับเจอแต่การ “จับผิด”...“หาเรื่อง”

ในเรื่องจดหมายถึงพระเจ้า ไม่พูดถึงว่าบรรดาพนักงานไปรษณีย์ได้เปิดจดหมายฉบับที่สองของเมอโซออกอ่านหรือไม่ ก็ได้แต่หวังว่าพวกเขายังคงมั่นคงในความมีใจการุญต่อไป

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ย้ำว่า ผู้บริหารและพนักงานองค์การเภสัชกรรม ขออย่าได้ “หวั่นไหวในโลกธรรม” และขอให้เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม คือ ทำดีดี...ทำชั่วชั่ว

สิ่งที่พวกท่านได้กระทำเป็นกุศลกรรม คือ ความดีแน่นอน ส่วนที่พวกท่านถูกกระทำจาก “โทสจริต” และ “โมหจริต” นั้น เป็นอกุศลกรรมอย่างชัดแจ้ง

องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องยาซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นของประชาชน เป็นสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวง่าย
เมื่อองค์การเภสัชกรรมอ่อนแอลง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจที่ดีได้ ทั้งในเรื่อง 1) การป้องกันแก้ไขปัญหาขาดแคลนยา โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติ 2) การตรึงราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และโดยเฉพาะที่ต้องใช้จำนวนมาก เพื่อประหยัดเงินของ ประเทศชาติและประชาชน 3) การจัดหายากำพร้าที่บริษัทยาไม่สนใจจำหน่ายเพราะทำกำไรไม่ได้ และเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน 4) การทำซีแอลยา ในกรณีจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก และเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

ถ้าองค์การเภสัชกรรมอ่อนแอลง ก็ย่อมเป็นที่ยินดีของบริษัทยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ที่มีข่าวว่ามีการ “ลงขัน” กันเพื่อทำลายองค์การเภสัชกรรม

ประเด็นน่าสนใจไปกว่านั้นมีข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า คนใหญ่ฝ่ายการเมืองที่จ้องทุบ ทำลายองค์การเภสัชฯ กำลังจะหาทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ...องค์การเภสัชกรรมเพื่อให้เป็นบริษัทมหาชน น่าสงสัยว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ทุบหุ้น” แล้วฉวยโอกาสเข้า “ดักซื้อ” หรือไม่

พฤติกรรมอันน่าจะ “มิชอบ”...ถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทย.